TOP 10 โรคมะเร็งพบบ่อยในหญิงไทย จัดอันดับโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

โรคมะเร็งพบบ่อยในหญิงไทย

“มะเร็ง” คำสั้น ๆ ที่แสนน่ากลัว! เพราะโรคมะเร็ง ถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทย และคนทั้งโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน และยังมีอัตราการเกิดโรคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี บทความนี้ GED good life จะกล่าวถึง TOP 10 โรคมะเร็งพบบ่อยในหญิงไทย จัดอันดับโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พร้อมชี้ปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกันมะเร็งที่ผู้หญิงไทยต้องรู้ไว้

TOP 10 โรคมะเร็งพบบ่อยในหญิงไทย จัดอันดับโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประจำปี 2563

  1. มะเร็งเต้านม (Breast cancer) – 39.8%
  2. มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง (Colorectal Cancer) – 12.2%
  3. มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) – 11.1%
  4. มะเร็งปอด (Trachea Bronchus and Lung cancer) – 6.9%
  5. มะเร็งตับและท่อน้าดี (Liver and Bile duct Cancer) – 5.3%
  6. มะเร็งมดลูก (Uterine Cancer) – 5.1%
  7. มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) – 3.5%
  8. มะเร็งช่องปาก (Oral Cavity cancer) – 2.4%
  9. มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer / gastric cancer) – 2.1%
  10. มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer) – 1.9%

1. มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก เหมือนมะเร็งทั่วไป ข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามีสตรีไทยทั่วประเทศ ราว 8,000 คน ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ในแต่ละปี โดยเริ่มพบตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และพบได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงอายุ 70 ปี

ปัจจัยเสี่ยง : การมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป, มีประวัติทางพันธุกรรม, มีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) มากเกินไป

วิธีป้องกัน : ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน

2. มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยง : มีความผิดปกติเกิดขึ้นในโครโมโซมของเซลล์เยื่อบุลำไส้ มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นมะเร็ง ท้องผูกเป็นเวลานาน

3. มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูกซึ่งอยู่บริเวณช่วงล่างของมดลูก และเชื่อมต่อกับช่องคลอด ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เรามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกประมาณ 6,000-8,000 คน และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 8-10 คน

ปัจจัยเสี่ยง : มะเร็งปากมดลูก 80% เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อ ฮิวแมนแพ็บปิลโลม่า (Human papilloma virus – HPV) รองลงมาคือการสูบบุหรี่ และภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง

วิธีป้องกัน : ผู้หญิงทุกคนจึงควรฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันไว้ก่อน สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 9-10 ขวบ

4. มะเร็งปอด

มะเร็งปอดเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของปอดที่ผิดปกติ มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ จนเกิดเป็นก้อนเนื้อร้าย ซึ่งสามารถลุกลามและกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ได้

ปัจจัยเสี่ยง : สูบบุหรี่เป็นประจำ, ดมควันบุหรี่, สูดดมฝุ่น PM2.5, ทำงานในที่ที่มีฝุ่นควันมาก

วิธีป้องกัน : ให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวไป และหมั่นออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างปอดให้แข็งแรง

5. มะเร็งตับ และท่อน้ำดี

สถานการณ์ของมะเร็งตับ และท่อน้ำดีในประเทศไทย พบมีอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยเสียชีวิตหลักหมื่นรายต่อปีเลยทีเดียว โรคมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ โรคมะเร็งของเซลล์ตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณท่อน้ำดีนอกตับ

ปัจจัยเสี่ยง : ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป, มีประวัติติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ, มีประวัติการกินปลาน้ำจืดสุก ๆ ดิบ ๆ

วิธีป้องกัน : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน และการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ

6. มะเร็งมดลูก

มะเร็งมดลูกเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก พบได้เป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะเพศสตรี รองจากมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งรังไข่ อาการสำคัญของโรคมะเร็งมดลูกคือมีประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน

ปัจจัยเสี่ยง : อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 51-60 ปี มีน้ำหนักตัวเกิน และอ้วน กินอาหารไขมันสูงต่อเนื่องเป็นประจำ เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม และ/หรือโรคมะเร็งรังไข่ เป็นต้น

วิธีป้องกัน : ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน ดูแลสุขภาพไม่ให้เสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

7. มะเร็งรังไข่

เกิดจากการที่เซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วที่รังไข่ สาเหตุของโรคยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัด คาดว่าน่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลที่รังไข่บ่อย ๆ ประกอบกับการที่รังไข่ได้รับตัวกระตุ้น หรือสารก่อมะเร็งไปพร้อม ๆ กัน

ปัจจัยเสี่ยง : อายุที่มากขึ้น, กรรมพันธุ์, ช่วงวัยเริ่มที่มีประจำเดือน หรือหมดประจำเดือน, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

วิธีป้องกัน : ยังไม่มีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงที่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ ควรทำการปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติม

8. มะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของโรคมะเร็งในกลุ่มโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ พบได้ 3-5% ของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย เป็นโรคมะเร็งพบบ่อย 1 ใน 10 ของทั้งหญิงและชายไทย

ปัจจัยเสี่ยง :  90% ของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มสุรา จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และดื่มสุรา 15 เท่า, แสงแดดทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณริมฝีปาก, การละเลยต่อสุขภาพในช่องปาก

วิธีป้องกัน : หยุดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจเช็กสุขภาพช่องปากเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง

9. มะเร็งกระเพาะอาหาร

คือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการกลายพันธุ์ และแบ่งตัวผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกบริเวณของกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง จุกท้องบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด อาเจียนเป็นเลือด มีอาการน้ำหนักลดลงอย่างมาก

ปัจจัยเสี่ยง : การติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori), ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร, สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รูปร่างอ้วน หรือน้ำหนักเกิน

วิธีป้องกัน : ไม่มีวิธีการป้องกันอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่มักแนะนำ การตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป และกำจัดปัจจัยเสี่ยง เช่น เลี่ยงอาหารเค็ม อาหารปิ้งย่าง ที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และทำให้เกิดมะเร็งได้

10. มะเร็งต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อาการผิดปกติของเซลล์ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในต่อมไทรอยด์ สามารถกลายเป็นก้อนมะเร็งบริเวณลำคอได้ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะมาพบแพทย์ด้วยอาการก้อนที่คอ โดยที่ก้อนนั้นมักจะเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ตามจังหวะการกลืน การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด

ปัจจัยเสี่ยง : ผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-65 ปี, ผู้ที่มีกรรมพันธุ์โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์, ผู้ที่ได้รับไอโอดีนน้อยเกินไป

วิธีป้องกัน : กินอาหารที่มีไอโอดีนสูง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสี ตรวจร่างกายเป็นประจำ

 

อ้างอิง : 1. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถิติหน้าที่3และ4 2. มะเร็งเต้านม vibhavadi 3. มะเร็งลำไส้ใหญ่ รพ.สงขลานครินทร์ 4. เรื่องมะเร็งปากมดลูก chularat3 5. มะเร็งมดลูก bumrungrad 6. มะเร็งรังไข่ medparkhospital 7. มะเร็งช่องปาก fudathailand 8. มะเร็งกระเพาะอาหาร medparkhospital / ramachannel 9. มะเร็งต่อมไทรอยด์ ม.มหิดล / petcharavejhospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close