รวมวิธีขับถ่ายดี แก้ท้องผูก ระบบขับถ่ายดี สุขภาพก็ดีตาม!

อาการท้องผูก ถ่ายยาก อาจจะเป็นอาการที่ดูไม่น่าใหญ่โตเท่าไหร่ แต่ก็เป็นปัญหาที่สร้างความทรมานให้กับร่างกายได้ไม่น้อย เพราะการถ่ายไม่ออกเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลเสียด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย ฉะนั้นเราควรจัดการกับปัญหานี้ตั้งแต่ช่วงที่เพิ่งแสดงอาการ จะได้ไม่ลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต และในวันนี้เราก็ได้ รวมวิธีขับถ่ายดี แก้ท้องผูก กลับมามีอารมณ์สดใส สุขภาพก็ดีตาม ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยว่ามีวิธีอย่างไรบ้าง

อาการแบบไหนถึงเรียกว่า ท้องผูก ?

หลายคนสับสนว่า อาการท้องผูก (Constipation) เป็นอย่างไร ต้องมีอาการยังไงบ้าง มาดูสรุป 6 ข้อ ได้ใจความกัน

  1. มีการถ่ายอุจจาระแข็ง หรือเป็นลำเล็กลง
  2. จำนวนความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
    *แต่ถ้าถ่ายคล่อง ถ่ายง่าย ไม่ต้องเบ่งนานอุจจาระนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้ 2-3 วันจะถ่ายสักครั้ง ก็ไม่ถือว่าผิดปกติ
  3. รู้สึกว่าขับถ่ายได้ยาก ต้องนั่งนานกว่าปกติ ถ่ายไม่สุด ถ่ายได้น้อย เหมือนมีอะไรมาอุดกั้นอยู่
  4. ต้องมีตัวช่วยอย่าง น้ำฉีด หรือมือช่วยล้วง ถึงจะถ่ายได้
  5. มีอาการเจ็บที่ทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระ
  6. มีอาการเรอ ท้องอืด

รวมวิธีขับถ่ายดี

อาการท้องผูก ขับถ่ายยาก ส่งผลเสียยังไงบ้าง?

หลายคนคิดว่า อาการท้องผูก เป็นเพียงอาการปกติ ที่ปล่อยผ่านไปเดี๋ยวก็จะหายเอง แต่ในความจริงแล้ว การปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรังนั้น อาจส่งผลเสียหลายอย่าง เช่น

  1. การเกิดริดสีดวงทวาร
  2. มี กลิ่นปาก และกลิ่นตัว
  3. เสี่ยงกับโรคผนังลำไส้อักเสบ
  4. สารพิษสะสมในร่างกาย
  5. เชื้อโรคแพร่กระจาย ร่างกายอ่อนเพลียง่าย
  6. เกิดแผลที่ทวารหนัก หรือลำไส้ตรง

รวมวิธีขับถ่ายดี แก้ท้องผูก

1. เข้าห้องน้ำแต่เช้า

วิธีขับถ่ายดี ข้อแรกนี้ขอแนะนำให้ลองฝึกลุกมาเข้าห้องน้ำ เพื่อขับถ่ายตั้งแต่เช้าช่วงเวลาประมาณ 05.00-07.00 น. หรือยังอยู่ในโซนช่วงเช้าก็ยังโอเคนะ เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด หากใครไม่ชินกับการเข้าห้องน้ำช่วงเช้า ลองฝึกด้วยการเบ่งตามอาการปวดท้องเป็นช่วง ๆ ถ้าไม่ปวดก็ไม่ต้องเบ่ง เพื่อฝึกให้ร่างกายเคยชิน

2. เพิ่มใยอาหาร

การกินใยอาหารหรือไฟเบอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการท้องผูกได้ เพราะไฟเบอร์จะช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติ เราจึงควรได้รับใยอาหารในประมาณ 20-35 กรัมต่อวัน ซึ่งไฟเบอร์จะพบได้มากในอาหารประเภทผัก ผลไม้สด หรือธัญพืช เป็นต้น

ในการเริ่มกินหากใครยังไม่ชิน ในช่วงแรกค่อย ๆ เพิ่มทีละนิด และแต่ละมื้อควรมีผักผลไม้ที่มีสีสันแตกต่างกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วน เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวลง และง่ายต่อการขับถ่าย นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันสูงในช่วงที่มีอาการท้องผูก เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

3. ดื่มน้ำเยอะ ๆ

จริงอยู่ว่าร่างกายจะขับน้ำออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ แต่น้ำบางส่วนก็จะถูกขับผ่านทางอุจจาระเช่นกัน และเพื่อเป็นการลดปัญหาท้องผูก จึงควรดื่มน้ำสะอาดควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีกากใยดูดซับน้ำได้ดี ช่วยให้อุจจาระนุ่ม เบ่งง่าย รวมไปถึงยังช่วยลดการอุดตันของลำไส้ และป้องกันอาการท้องอืด จากการกินใยอาหารมากเกินไปด้วย

ฉะนั้นเราจึงควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตร หรือประมาณ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงการได้รับน้ำจากเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกไปมากกว่าเดิม

4. นวดลำไส้

อีกหนึ่งวิธีช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้นอย่างเช่น การนวดลำไส้ตั้งแต่ตอนกลางคืน โดยเริ่มจากการเอามือนวดที่ท้องส่วนล่างซ้าย คลำจนพบลำของกากอาหารแล้วก็ลงไปเบา ๆ เป็นระยะ สักประมาณ 5 นาที พอตื่นมาก็ดื่มน้ำอุ่นสักแก้ว ทิ้งเวลาไว้สักพักอาการปวดอยากเข้าห้องน้ำจะมา หรือจะนวดที่เดิมอีกสักรอบ ด้วยการค่อย ๆ นวดเบา ๆ ดันลงด้านล่าง สักพักอาการอยากถ่ายจะตามมา แต่หากไปลองนั่งแล้วยังถ่ายไม่ออก ให้ลุกขึ้นเดินก่อนนะ อย่านั่งแช่ไว้เดี๋ยวอาการริดสีจะถามหา

5. กระตุ้นการทำงานของลำไส้ด้วยโปรไบโอติกส์

โปรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้ของคนเรา และไม่ก่อโรคให้ร่างกาย และยังพบอยู่ในอาหารบางประเภท โดยเฉพาะโยเกิร์ต นมเปรี้ยว ซึ่งมีการศึกษาพบว่า แบคทีเรียเหล่านี้ช่วยสร้างความสมดุลของสภาวะในระบบการย่อยอาหาร และช่วยปรับการทำงานของลำไส้ให้เป็นปกติได้ด้วย

6. ยาระบาย ตัวช่วยสุดท้าย

หลังจากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการกินอาหารแล้ว อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น อีกหนึ่ง วิธีช่วยขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูกได้ นั่นก็คือ การกินยาระบาย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ยาถ่าย ซึ่งยาชนิดนี้จะมีกลไกในระบบทางเดินอาหาร และระดับความรุนแรงของฤทธิ์ยาที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนการใช้ยาระบาย ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ให้แน่ใจเพื่อความปลอดภัยของเราเอง

7. ออกกำลังกาย

สำหรับคนที่อยากให้สุขภาพการขับถ่ายดีๆ ลองออกกำลังกายด้วยการซิทอัพอย่างน้อยวันละ 40 ครั้ง หรือวิ่งเหยาะ ๆ วันละครึ่งชั่วโมง  และนั่งยอง ๆ ให้หน้าขากดเข้าหน้าท้อง เพราะท่านี้เป็นท่าธรรมชาติ ที่เหมาะกับการขับถ่าย เพราะแรงกดจากหน้าขาจะกดลงมาพอดีกับตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ แต่หากไม่มีเวลาออกกำลังกายจริงๆ แค่ลองลุกมาเดินไป-มาก็ช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อ และระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติมากขึ้น

8. การผ่าตัด

การผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออกเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาท้องผูกเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ทั้งหมดแล้วไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาระบายหรือการฝึกเบ่งแต่ลำไส้ใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวช้าอย่างรุนแรง

หากคุณอายุมากกว่า 45 ปี หรือมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากท้องผูก เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด น้ำหนักลด ท้องผูกช่วงสั้น ๆ จากที่เคยถ่ายได้ทุกวัน อุจจาระก้อนเล็กลงเรื่อย ๆ คลำเจอก้อนในช่องท้อง หรือมีภาวะซีด แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อให้แน่ใจว่าอาการท้องผูกนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ เช่น ลำไส้อักเสบ ติ่งเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น

เมื่อมีอาการท้องผูกอย่าละเลย หรือนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้นะ ส่วนการรักษาโรคท้องผูกอย่างถูกวิธีต้องใส่ใจที่ต้นเหตุ และอาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริง บางรายอาจใช้เวลาระยะสั้น ๆ ก็หาย บางรายก็ใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะหาย แต่ก็ต้องอดทนแล้วจะผ่านโรคนี้ไปได้แน่นอน!

อ้างอิง :

1. med.mahidol.ac.th 2. pobpad.com 3. bumrungrad.com


ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close