“ธรรมโอสถ” เข้าใจโลก ปล่อยวางโรค

ความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเรื่องที่ไม่พึ่งปรารถนาของทุกคน และถึงแม้ปัจจุบันจะมียารักษาโรคมากมาย หรือจะเป็นยาแผนโบราณ ยาสมุนไพรก็ตามที… แต่ก็ไม่อาจมียาใด ๆ ที่รักษาจิตใจของเราให้ปล่อยวางจากโรคต่าง ๆ ได้อยู่ดี… ฉะนั้นแล้ว การรักษาโรคใดก็ตาม ต้องมีการใช้ธรรมะ เข้ามารักษาใจให้รู้จักปล่อยวางโรคต่าง ๆ ด้วย ที่เรามักจะเรียกกันว่า ธรรมโอสถ นั่นเอง

ธรรมโอสถ เข้าใจโลก ปล่อยวางโรค

ธรรมโอสถ เปรียบเหมือนเกราะคุ้มครองจิตใจ ป้องกันไม่ให้ความทุกข์ต่าง ๆ เข้ามาเบียดเบียนโรคทางจิตใจ หรือทำให้เราได้รู้จักปล่อยวางโรคทางกายได้อีกด้วย โดยพระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่คำสอนต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์โลกได้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิต นั่นก็คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเรียกอีกอย่างว่า “อริยสัจ4”

เมื่อบุคคลใดก็ตาม ได้พิจารณาร่างกาย และทุกข์ต่าง ๆ ที่เคยประสบพบเจอมาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว ก็จะปล่อยวาง มีสติ มีปัญญา ขึ้นมา และอาการเจ็บป่วยทางร่างกายก็จะลดน้อยลงได้ด้วย

โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากใจเรา

• โรคราคะ โรคที่ทำให้จิตใจ โน้มเอียงไปในความกำหนัด รักใคร่ ไม่ว่าจะมองเห็นผ่านทางตา หรือได้ยินผ่านทางหู เมื่อเห็นเป็นของน่ารักใคร่ น่าพอใจ ก็จะทำให้เกิดความปีติยินดีไปทั้งนั้น ยาที่ควรใช้เพื่อรักษาโรคราคะ คือ อสุภะกรรมฐาน ให้มองเห็นสิ่งสวยงามต่าง ๆ เป็นเพียงของปฏิกูล เน่าเสีย หรือเป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์

• โรคโลภะ เมื่อมีความอยากได้ไม่รู้จักพอ จึงต้องสอนให้รักษาด้วย การให้ทาน เสียสละของรักเพื่อสละความโลภ เช่น เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แก่บุคคลผู้ยากไร้ หรือตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และบุญกุศลจากการให้ทานต่าง ๆ นี้ ย่อมส่งผลให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง จากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นหาย ได้อีกด้วย

• โรคโทสะ คิดแต่จะทำลาย หมายแต่โทษแต่ผู้อื่น โดยมิได้นึกถึงความเลวที่เรามีบ้าง จึงถือเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก เพราะเป็นการทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ให้แก้ด้วยหลัก พรหมวิหาร 4 “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” หรือลองวางอารมณ์ตั้งแต่ตื่นนอนว่า วันนี้เราจะไม่โกรธใคร ถึงแม้เขาจะทำให้เราต้องโกรธก็ตามที พยายามทำให้ได้ทุกวัน หรือตามเวลาที่เรากำหนดไว้ แล้วอารมณ์โกรธก็จะค่อย ๆ น้อยลงไป เปลี่ยนเป็นความเมตตาแทน

• โรคโมหะ ความคิดผิด เห็นผิด เป็นเหตุให้กระทำผิด พูดผิดจากความจริง เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต้องรักษาด้วย การหมั่นเจริญสติ หรือ หมั่นรู้ลมหายใจ เข้า-ออก ให้จิตมีกำลัง – มีสติทรงตัว และให้หมั่นใคร่ครวญ ยับยั้งชั่งใจ มองถึงเหตุ และผลด้วยปัญญา

อยากมีสุขภาพดี ต้องรักษาศีลข้อหนึ่งให้ได้!

“ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ”
ศีลข้อที่ 1 คือ การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ศีลข้อนี้มีผลต่อสุขภาพโดยตรง ผู้ใดพึงรักษาศีลข้อนี้ได้บริสุทธิ์ โดยไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่สนับสนุนให้ผู้อื่นฆ่า และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นฆ่า ย่อมมีสุขภาพที่แข็งแรง และย่อมเป็นที่รักของผู้อื่น รวมถึงเทวดาอีกด้วย

โทษของการทำลายศีลข้อที่1 จะทำให้เป็นผู้มีอายุสั้น มีสุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยอยู่เสมอนั่นเอง

ข้อควรรู้…
อ้างอิงบทความของ ดร.จุฑามาศ วารีแสงทิพย์  – https://bit.ly/2IZm2gG

ดร.จุฑามาศ วารีแสงทิพย์  เคยศึกษาวิจัยพบว่า ธรรมปฏิบัติด้วยวิธีการทำสมาธิโดยวิธีอานาปานสติภาวนา ซึ่งเป็นหลักการสอนที่สำคัญในพุทธศาสนา ทำให้ภาวะความซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและทำให้คุณภาพชีวิตในมิติทางด้านร่างกายของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอัตราการหายใจในกลุ่มที่สวดมนต์ร่วมกับทำอานาปานสติสมาธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

โดยดูจากผลทางสถิติ คือก่อนเดิน และหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๓๐ นาที ๔๕ นาที และ ๖๐ นาที มีค่าชีพจร (P) เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, ก่อนเดิน และหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๔๕ นาที มีค่า Pulse pressure เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และก่อนเดินและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๖๐ นาทีนั้น มีทั้งค่า ชีพจร (P) และ Systolic Blood Pressure เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าจะให้ผลดีที่สุดควรปฏิบัติทั้งระบบ คือการเดินจงกรม และนั่งสมาธิอย่างต่อเนื่องกันทั้ง ๓ เวลาดังกล่าว และสามารถนำผลการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมาย…

ธรรมโอสถ จึงเรียกได้ว่าเป็นยาวิเศษ ที่ช่วยให้ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย เข้าใจถึงทุกขเวทนา เข้าใจความเป็นธรรมดาของโลก สุดท้ายปล่อยวาง จิตใจก็สบาย ร่างกายก็ดีขึ้นตามลำดับเช่นกัน ฉะนั้น Ged Good Life จึงขอสนับสนุนให้ทุกคนมีธรรมะประจำใจ และอวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมจิตใจที่เบิกบาน ^^

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close