6 อาการปวดท้อง ที่ต้องรีบพบแพทย์ พร้อมชี้! สาเหตุ และวิธีป้องกัน

อาการปวดท้อง

อาการปวดท้อง เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ต้องเคยเผชิญกันมาบ้างแล้ว เพราะสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่หากคุณมีอาการปวดท้องบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ๆ หาย ๆ ปวดมาก หรือปวดน้อย ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจต้องเข้าพบแพทย์ เช็กอาการกันหน่อยว่าปวดเพราะอะไร ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจสายเกินแก้! ตามมาดูกันเลยว่า 6 อาการปวดท้อง ที่ควรรีบพบแพทย์ จะมีอะไรบ้าง?

6 อาการปวดท้อง ที่ควรรีบพบแพทย์

1. ปวดท้องนานเกิน 6 ชั่วโมง และมีไข้ร่วมด้วย! (มีไข้เรื้อรัง 37.5 – 38 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา)

2. ปวดท้องจนกินไม่ได้ นอนก็ไม่หลับ!

3. ปวดท้องร่วมกับอาเจียนหนัก มากกว่า 3-4 ครั้ง (อาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้)

4. ปวดท้องมากขึ้นเมื่อขยับตัว

5. ปวดร่วมกับเลือดออกมาจากช่องคลอด

6. ปวดบริเวณท้องน้อยฝั่งขวา (เป็นตำแหน่ง ไส้ติ่ง ท่อไต และปีกมดลูก)

6.1 หากปวดเกร็งเป็นระยะ ๆ แล้วร้าวมาที่ต้นขา หมายถึงกรวยไตผิดปกติ
6.2 ปวดเสียดตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมาก เป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบ
6.3 ปวดร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีตกขาว เป็นอาการปีกมดลูกอักเสบ
6.4 คลำแล้วเจอก้อนเนื้อ เบื้องต้นอาจเป็นก้อนไส้ติ่ง หรือรังไข่ผิดปกติ

ถ้าคุณมีอาการปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ เกิน 4 สัปดาห์ หรือรับประทาน ยาลดกรด ด้วยตัวเองแล้ว 1 – 2 สัปดาห์ แต่ไม่ดีขึ้น ยังปวดท้องอยู่ หรือมีอาการอื่นเพิ่มเติม ควรมาพบแพทย์ แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องร่วมกับสัญญาณเตือน 6 ข้อด้านบน ต้องรีบพบแพทย์ทันที

อาการปวดท้อง

อาการปวดท้อง บอกอะไรเราได้บ้าง?

นพ. สิริวัฒน์ อนันตพันธุ์พงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้ว อาการปวดท้องสามารถแบ่งตามบริเวณที่ปวดได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. ปวดท้องส่วนบน เป็นการปวดบริเวณเหนือสะดือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน

2. ปวดท้องส่วนล่าง เป็นการปวดบริเวณต่ำกว่าสะดือซึ่งจะเกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไส้ติ่ง ไต มดลูก และปีกมดลูก เป็นต้น

“เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องเราต้องถามก่อนว่าปวดตรงไหน หรือเริ่มปวดจากตรงไหนก่อนเพื่อจะบอกได้ว่าเกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนใด จากนั้นแพทย์จะต้องวินิจฉัยอย่างรวดเร็วว่าเป็นการปวดจากสาเหตุใดเพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที” นพ. สิริวัฒน์ กล่าว

สาเหตุของการปวดท้องเกิดได้จาก 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

1. ปวดท้องจากโรคทางศัลยกรรม เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้รั่ว ลำไส้อุดตัน เยื่อบุช่องท้อง หรือเยื่อบุลำไส้อักเสบเฉียบพลัน มะเร็งลำไส้ หรืออาจเกิดจากนิ่ว ซึ่งโรคเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยศัลยกรรมผ่าตัดหรือศัลยกรรมส่องกล้องเท่านั้น

2. ปวดท้องจากโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคกระเพาะอาหาร ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร ท้องผูกเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับตับ โรคติดเชื้อในระบบลำไส้ เป็นต้น

วิธีป้องกันอาการปวดท้อง

ภายในช่องท้องของคนเรานั้น มีอวัยวะภายในต่าง ๆ มากมาย จึงจำเป็นต้องใส่ใจ ดูแลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

1. ลดการรับประทานอาหารรสจัด อาหารมัน อาหารทอด เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม

3. คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่อ้วนไป ไม่ผอมไป

4. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ

5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส

6. ทานยาบรรเทาอาการปวดท้อง

7. ตรวจสุขภาพประจำปี และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์

 

อ้างอิง : 1. nakornthon / 2. bumrungrad / 3. chularat3

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close