“มะเร็งเต้านม” เรื่องสำคัญสุดๆ! ที่ผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจ

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) หนึ่งในโรคร้ายที่พบมากในผู้หญิง โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก คือ ผู้หญิงช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป แต่ถึงแม้ว่าอายุจะยังไม่อยู่ในช่วงวัยที่มีความเสี่ยง ผู้หญิงทุกคนก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องของมะเร็งร้ายนี้ไป และวันนี้เราจึงได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ที่ผู้หญิงควรเอาใจใส่มาฝากกัน

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมคืออะไร?

เป็นโรคมะเร็งที่พัฒนาจากเนื้อเยื่อเต้านม อาจมีอาการแสดง ได้แก่ มีก้อนในเต้านม มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของเต้านม ผิวหนังมีรอยบุ๋ม มีสารน้ำไหลจากหัวนม หรือมีปื้นผิวหนังมีเกล็ดแดง ในผู้ที่มีการแพร่ของโรคไปไกล อาจมีปวดกระดูก ปุ่มน้ำเหลืองโต หายใจลำบาก

มะเร็งเต้านมทั่วโลกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิง โดยคิดเป็น 25% ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ในปี 2555 โรคนี้มีผู้ป่วย 1.68 ล้านคน และผู้เสียชีวิต 522,000 คน พบมากกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว และพบในหญิงมากกว่าชาย 100 เท่า

ใครบ้างเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?

ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ และผู้ชายเองก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าปกติ ได้แก่ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือเคยมีประวัติได้รับการผ่าตัดเต้านม และมีชิ้นเนื้อผิดปกติ ผู้ที่มีเต้านมใหญ่ หรือมีเต้านมที่เต่งตึงกว่าอายุ

ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนานเกิน 10 ปีขึ้นไป หรือใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อย ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปี ผู้มีการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนนานเกิน 5 ปี ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่อย่างหนัก เป็นต้น

การป้องกันและลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม

ด้วยความที่โรคมะเร็งร้ายเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง การรู้จักวิธีป้องกัน และลดความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ และง่ายกว่าการรักษาโรคเป็นอย่างมาก โดยสามารถเริ่มต้นได้จาก
• เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และปลอดภัย เช่น การทานผักและผลไม้ที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
• ลดการทานอาหารประเภท เนื้อแดง อาหารมัน หรือเกลือ
• ออกกำลังกายเป็นประจำ
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
• หมั่นคลำตรวจเช็ค และสังเกตเต้านมของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
• ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเต้านมเมื่อถึงวัย

1275-มะเร็งเต้านม2

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจมะเร็งเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พบว่าร้อยละ 80 ของเนื้องอกที่เต้านมผู้หญิงนั้นถูกตรวจพบครั้งแรกด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำทุกเดือนตั้งแต่วัยสาวถึงวัยสูงอายุ เวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการตรวจ คือ หลังหมดระดูแล้ว 3-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงทำให้ตรวจได้ง่ายสำหรับผู้หญิงที่หมดระดู หรือได้รับการตัดมดลูก จะเป็นการดีถ้าได้ทำการตรวจเต้านมตนเองทุกวันที่หนึ่งของทุกเดือน

วิธีการตรวจ 3 ท่า

ทุกท่าจะต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวา สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนังรอยบุ๋ม รอยนูนของเต้านมหรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ ของเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยมีท่า ดังนี้

1. ยืนหน้ากระจก

  • ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย
  • ยกแขนทั้ง 2 ข้างเหนือศีรษะ
  • ท้าวเอว เกร็งอกเพื่อให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น
  • โค้งตัวมาข้างหน้าใช้มือทั้ง 2 ข้างท้าวเอว

2. นอนราบ

  • นอนให้สบาย ตรวจเต้านมขวาให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา
  • ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะทำให้คลำง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกมีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
  • ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย

3. ขณะอาบน้ำ

  • สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน
  • สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำเต้านมด้านบน

บางครั้งการคลำเจอก้อนเนื้อที่บริเวณเต้านมด้วยตัวเอง อาจไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็น มะเร็งเต้านม เสมอไป ฉะนั้นอย่าเพิ่งวิตกจนเกินเหตุ ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างตรงจุดจะปลอดภัยที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วน 1. มะเร็งเต้านมคืออะไร? 2. ท่าการตรวจเต้านมด้วยตนเอง จาก :
https://th.wikipedia.org/wiki/มะเร็งเต้านม 

ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close