มะเร็งกระเพาะอาหาร – สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

มะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) เป็นโรคร้ายที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากไม่มีอาการเฉพาะโรค แต่กลับมีอาการไม่ต่างอะไรกับโรคกระเพาะอาหารทั่วไป ทำให้หลายครั้งกว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว วันนี้เราจึงนำภัยร้ายเงียบนี้มาให้คุณได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น

มะเร็งกระเพาะอาหาร คืออะไร?

มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้น อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะ เมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ได้


มะเร็งกระเพาะอาหาร มีสาเหตุมาจากอะไร?

กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่ก็พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร (Helicobacter pylori)
  • การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา
  • การรับประทานอาหารหมักดอง
  • อาการอักเสบ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

รู้หรือไม่!?

  • มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดทั่วโลก
  • สำหรับประเทศไทย มีผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ปีละ 2,853 คน
  • ผู้ป่วยเพศชายติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเพศชายทั้งประเทศ
  • ส่วนเพศหญิงแม้จะไม่ติด 10 อันดับแรก แต่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากเช่นกัน

มะเร็งกระเพาะอาหาร


อาการของ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า…

มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการแสดงออกชัดเจน และอาจมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ เช่น

  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ
  • อาการท้องอืด จุกแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร
  • กลืนอาหารลำบาก
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน

ข้อควรระวัง! ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามอาจอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ หรืออาจมีเลือดปนในอุจจาระ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากพบอาหารผิดปกติเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์


การตรวจหามะเร็งกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากมีอาการเหมือนกับโรคกระเพาะอาหารทั่วไป วิธีวินิจฉัยที่ให้ผลได้ชัดเจนคือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร และตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติจากกระเพาะอาหาร ไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อหาเนื้อเยื่อมะเร็ง

วิธีรักษา และระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โดยหลัก ๆ แล้ว การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่สำคัญจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ การผ่าตัดและหลังการผ่าตัด โดยแพทย์จะตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็ง และต่อมน้ำเหลือง เพื่อให้ทราบระยะของโรคที่แน่นอนก่อนทำการรักษาส่วนวิธีการรักษานั้นมีอยู่ 3 วิธี คือ ผ่าตัด ใช้ยาเคมีบำบัด และฉายรังสีรักษา

ซึ่งเราสามารถแบ่งระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารออกได้เป็น 4 ระยะ แต่ละระยะก็จะมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน ดังนี้

ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามเฉพาะในชั้นเยื่อบุกระเพาะอาหาร รักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

ระยะที่ 2 : ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามลงลึก อาจลึกถึงชั้นเยื่อหุ้มผนังกระเพาะอาหาร รักษาด้วยการผ่าตัด ผ่าตัดร่วมกับใช้ยาเคมีบำบัด หรือผ่าตัดร่วมกับใช้ยาเคมีบำบัดและฉายรังสีรักษา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

ระยะที่ 3 : มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง รักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับใช้ยาเคมีบำบัด และฉายรังสีรักษา

ระยะที่ 4 : มะเร็งแพร่กระจายเข้าเยื่อหุ้มช่องท้อง มีน้ำมะเร็งในช่องท้อง หรือลุกลามเข้าอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องที่อยู่ติดกับกระเพาะอาหาร หรือกระจายเข้ากระแสเลือดไปยังตับ ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ เนื่องจากระยะที่ 4 นี้เป็นระยะที่ไม่มีโอกาสรักษาหาย การรักษาจึงขึ้นอยู่กับอาการและสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก

มะเร็งกระเพาะอาหาร

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

• ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด
เนื่องจากบ่อยครั้งต้องตัดกระเพาะอาหารของผู้ป่วยออกไปบางส่วนหรือทั้งหมด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนปกติ ต้องรับประทานเฉพาะอาหารอ่อน ย่อยงาย รสจืด และรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องผูกได้ง่าย

• ผลข้างเคียงระหว่างให้ยาเคมีบำบัด
มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก หรือท้องเสียได้ง่าย เจ็บเวลากลืนอาหารหรือปวดท้อง เนื่องจากตัวยาเคมีบำบัดทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารอักเสบ อ่อนเพลีย และติดเชื้อโรคได้ง่าย เลือดออกได้ง่าย

• ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
เบื่ออาหาร ปวดท้อง หรือกลืนแล้วเจ็บ ในตำแหน่งที่ฉายรังสี ซึ่งเกิดการอักเสบจากการฉายรังสีของเยื่อบุภายในกระเพาะอาหารที่เหลืออยู่ ท้องเสียง่าย อ่อนเพลีย และติดเชื้อได้ง่าย


ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร สิ่งที่พอทำได้คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ได้แก่

  • รับประทานผัก และผลไม้ ให้มากขึ้น
  • รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • และเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ก็ควรรีบรักษาให้หาย อย่านิ่งนอนใจเป็นอันขาด

แล้วอย่าลืมออกกำลังกายอยู่เสมอ พร้อมกับนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เลี่ยงน้ำแข็ง และน้ำเย็น จะช่วยให้สุขภาพองค์รวมดีขึ้น และมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงตลอดไป…

อ้างอิง :
1. www.chularatcancercenter.com
2. www.facebook.com/กรมการแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close