“กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน” เป็นเรื่องดี หรือ เสี่ยงเป็นโรค กันแน่นะ!?

กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

เคยสงสัยกันบ้างไหม ทำไมบางคนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน กินเยอะแต่ยังผอม อะไรแบบนี้? พวกเขามีระบบเผาผลาญที่เป็นเลิศกว่าใคร ๆ หรือแท้จริงแล้วกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่กันแน่นะ?? วันนี้ Ged Good Life จะพาไปไขข้อสงสัยนี้กัน โดยเฉพาะใครที่กินจุ กินเยอะ กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ต้องไม่พลาดบทความนี้

ทำไมบางคน กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ร่างกายคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน และภายในร่างกายเราเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ปัจจัยทางพันธุกรรม โภชนาการ และพฤติกรรมต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทต่อน้ำหนักของเราทั้งนั้น แตกต่างกันไปตามแต่บุคคล

และนี่คือ 4 พฤติกรรมที่อาจทำให้คุณเป็นคนกินกินเยอะแต่ไม่อ้วนได้

1. กินเฉพาะเมื่อร่างกายรู้สึกหิว

หลายคนที่มีน้ำหนักมาก มักจะกินเพราะอาหารอร่อย หรือเรียกว่ากินตามใจปาก แต่ในขณะที่คนบางคนที่ดูเหมือนจะกินเยอะ แต่เขาเลือกกินเฉพาะเมื่อร่างกายรู้สึกหิวเท่านั้น จึงกินเยอะในมื้อนั้น แต่พอผ่านมื้อนั้นไป ร่างกายไม่หิวแล้ว เขาก็ไม่กิน หรือกินน้อยมากนั่นเอง

2. อาชีพ และรูปแบบการใช้ชีวิต ที่ต้องใช้พลังงานเยอะอยู่เสมอ

แน่นอนว่าแต่ละอาชีพ ย่อมต้องมีการเคลื่อนไหวของร่างกายอยู่เสมอ จะหนักหรือเบาก็ขึ้นอยู่กับอาชีพนั้น ๆ เช่น อาชีพกรรมกร ที่ต้องแบกหามของหนักอยู่ตลอดเวลา หรืออาชีพนักกีฬา ที่ต้องวิ่งเป็นระยะหลายกิโลเมตรในแต่ละวัน เป็นต้น บุคคลที่ทำอาชีพเหล่านี้ย่อมเผาผลาญแคลอรีได้เยอะกว่าบุคคลที่นั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน จึงมีโอกาสที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนได้

3. มีนิสัยการกินเพื่อสุขภาพ

รู้หรือไม่ว่า… วิธีที่คุณกินยังเป็นตัวกำหนดปริมาณที่คุณกินอีกด้วย เช่น หากคุณกินอาหารช้าลง และเคี้ยวมากขึ้น ก็จะทำให้สมองของคุณจะมีเวลามากขึ้นในการส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าคุณอิ่มแล้วนั่นเอง และยังรวมถึงอาหารที่เน้นกินเพื่อสุขภาพ เช่น กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ อย่างผักชนิดต่าง ๆ เนื้อสัตว์ไร้หนัง ไม่กินอาหารที่เต็มไปด้วยแป้ง และน้ำตาล เป็นต้น วิถีการเลือกกินแบบนี้ก็มีส่วนทำให้เราไม่อ้วนได้

4. เกิดมาพร้อมกับ “ยีนส์คนผอม”

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน PLOS Genetics ชี้ชัดว่าชนิดของยีนส์มีผลต่อการรักษาหุ่น โดยผลการวิจัยจากดีเอ็นเอตัวอย่างกว่า 10,000 ราย รวมถึงสำรวจไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนอย่างใกล้ชิด ผลปรากฎว่าคนที่เป็นโรคอ้วนมักจะมียีนส์ที่เชื่อมโยงกับการทำให้อ้วน ขณะที่คนผอมจะมียีนส์ชนิดนี้น้อย แล้วยังมียีนส์ที่ส่งเสริมให้ผอมอีกด้วย

กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

แพทย์ชี้! กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ไม่ใช่เรื่องดี แต่อาจเสี่ยงเป็นโรคได้

พญ.นพวรรณ กิติวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อ ได้ระบุว่าการกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน หรือ กินเยอะแต่ผอม อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เป็นโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.  มีพยาธิแย่งอาหารในร่างกาย

สำหรับใครที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน อาจเคยโดนทักว่า “กินเท่าไรก็ไม่อ้วน พยาธิเยอะแน่ ๆ” เนื่องจากพยาธิจะคอยแย่งอาหารที่เรากินเข้าไปด้วย แต่ในกรณีนี้ ร่างกายจะต้องมีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องเสียเรื้อรังจนน้ำหนักลด เป็นต้น หลายคนที่มีภาวะผอมเกินกว่าเกณฑ์ไปซื้อยาถ่ายพยาธิมากินเอง แต่ก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น นั่นก็เพราะร่างกายไม่ได้มีพยาธิ หรือมีน้อยมากนั่นเอง

2. ภูมิต้านทานต่ำ

ร่างกายเรานั้น จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยต้านทาน กำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย หากเรามีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ จนกระทบกับน้ำหนักตัว เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกายเลย ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัส โลหิตจาง ขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น ฉะนั้นหากคุณเป็นคนที่ผอมต่ำกว่าเกณฑ์ ลองเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ก็อาจจะช่วยให้กลับมามีน้ำมีนวล ไม่ผอมจนเกินไปได้

3. เบาหวาน

แม้ว่าเราจะไม่ได้อ้วน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้มาจากปัญหาด้านอินซูลินในร่างกายที่มีน้อยกว่ามาตรฐาน เป็นผลให้น้ำตาลในร่างกายมีปริมาณมาก จนก่อเกิดโรคเบาหวานในที่สุด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีร่างกายเริ่มซูบผอม และไม่มีแรง เมื่อมีน้ำตาลในเลือดมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

4. ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์นั้นมีทั้งชนิดอ้วน และชนิดผอม ไทรอยด์ชนิดผอมนั้นเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง จึงมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ และมักมีอาการเหล่านี้ ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น เหนื่อยง่าย ประจำเดือนน้อยลง เป็นต้น หากคุณกำลังมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้าพบแพทย์

5. วัณโรค

วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่อันตราย แต่สามารถรักษาให้หายได้ เกิดจากได้รับเชื้อจากละอองเสมหะของคนที่เป็นโรค อาการของโรควัณโรคมีมากมาย เช่น ไข้เรื้อรัง, ผอมลง, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, ไอ, เสมหะ, หอบเหนื่อย, เจ็บหน้าอก เป็นต้น หากใครที่มีอาการผอมซูบมาก ผมร่วง สิวขึ้น อาจสงสัยได้ว่าเป็นวัณโรคปอด ควรเข้าพบแพทย์

6. มะเร็ง

โรคนี้แค่ได้ยินก็กลัว! แน่นอนว่าเป็นอีกโรคที่ทำให้ผู้ป่วยผอมลงได้อย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้จะกินอาหารมากแล้วก็ตามที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ เป็นต้น สาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ความเครียด หรือผลข้างเคียงจากการรักษา

7. โรคเอดส์

โรคเอดส์ คือ กลุ่มอาการของความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ หรือเอชไอวี ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง สำหรับคนที่ป่วยโรคเอดส์ระยะที่สาม (ระยะสุดท้าย) จะมีน้ำหนักลดลง ผอมลง แบบแห้งทั้งตัว เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกได้เลยทีเดียว

อาหารที่ควรกิน-ไม่ควรกิน สำหรับคนผอมที่อยากมีน้ำหนักที่เหมาะสม

อาหารที่ควรกิน

  • อาหารเพิ่มโปรตีน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น นม ไข่ ถั่ว ธัญพืชขัดสีน้อย
  • เพิ่มการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรเบอรี่

อาหารที่ไม่ควรกิน

  • อาหารรสจัดต่าง ๆ เช่น อาหารหวานจัด มันจัด เค็มจัด
  • อาหารที่มีไขมันสูงต่าง ๆ เช่น อาหารทอดต่าง ๆ เพราะจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงได้

 

อ้างอิง : 1. Bumrungrad International Hospital 2. petcharavejhospital 3. vibhavadi

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close