อาหารไม่ย่อย อืด จุก แน่นท้อง ปัญหาที่ต้องใส่ใจ แก้ไขให้ถูกจุด!

อาหารไม่ย่อย

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คน ต้องเคยผ่านอาการอึดอัดท้อง… อาหารไม่ย่อย… ท้องอืด…แน่นเฟ้อ… กันมาบ้าง ถึงแม้จะเป็นอาการที่เหมือนไม่ร้ายแรง แต่ถ้าเป็นบ่อย ๆ แล้วไม่ดูแลอย่างถูกต้อง ก็อาจส่งผลร้าย ให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้! มาดูว่าอาการ อาหารไม่ย่อย อืด จุก แน่นท้อง จะมีผลเสียอย่างไร และแก้ไขยังไงได้บ้าง

อาหารไม่ย่อย มีอาการอย่างไร?

อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia – ดีสเปปเซีย) หมายถึง อาการปวด มวน แน่น แสบ รู้สึกไม่สบายบริเวณช่องท้องส่วนบน (upper abdomen) ซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติในกระเพาะอาหาร โดยต้องมีอาการมาไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ เรอ หรือแสบร้อนกลางอก ร่วมด้วยได้

อาการอาหารไม่ย่อย สามารถพบได้เกือบทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่จะพบได้มากกว่าในเด็ก ส่วนโอกาสการเกิดอาการมีใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

สาเหตุที่พบได้บ่อยของ อาหารไม่ย่อย

  • รับประทานอาหารเร็วเกินไป เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้อาหารย่อยได้ยากขึ้น
  • นอนราบหลังรับประทานอาหารอิ่มทันที
  • รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาอยู่บ่อยครั้ง
  • รับประทานกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำส้ม อาหารรสจัดเป็นประจำ
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
  • เครียด วิตกกังวล อยู่บ่อย ๆ ส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ
  • ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคกรดไหลย้อน ท้องผูก ลำไส้อุดตัน และโรคอื่น ๆ
  • รับประทานยาบางชนิด ที่กระทบต่อระบบย่อยอาหาร เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ
  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางชนิด

ถ้าปล่อยให้เรื้อรัง อาจมีอาการแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อย ๆ คือ

  • ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
  • มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ
  • บางรายอาจเกิดแผลกินลึกเป็นรู หรือเรียกว่าแผลกระเพาะอาหารทะลุ

อาหารไม่ย่อย มักมีอาการอะไรบ้าง?

ความรุนแรงของอาการอาหารไม่ย่อยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น จะมีอาการรุนแรงมากเมื่อเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุม และรักษาอาการได้ เช่น

  • ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง หรือไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอก หรือใต้ลิ้นปี่
  • จุกเสียด แน่นท้อง
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง
  • เรอบ่อย เรอเปรี้ยว แสบท้องเวลาหิว
  • แสบท้องเวลาหิว หิวก่อนเวลา
  • ปวดท้องในตอนกลางคืน
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียนเล็กน้อย

ผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้เพียงอย่างเดียว หรือหลายอย่างร่วมกัน แต่หากมีอาการอาหารไม่ย่อยมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป หรือร่วมกับอาการเหล่านี้ เช่น อาเจียนอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนออกมาเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักลดไม่มีสาเหตุ กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น ควรรีบมาพบแพทย์


อยากหายท้องอืด… ต้องปรับพฤติกรรม!

อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้อง ควรป้องกันที่สาเหตุ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการรับประทาน การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต สามารถช่วยให้อาการอาหารไม่ย่อยบรรเทาลงได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย เช่น รสเผ็ดจัด ไขมันสูง เป็นต้น
  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร
  • ควรเคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังการรับประทานอาหาร
  • รับประทานก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดบางชนิด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และนาพรอกเซนโซเดียม
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ (แต่ไม่ควรออกกำลังกายทันที หลังมื้ออาหาร)
  • ควบคุมความเครียด และความวิตกกังวล
  • งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน

อาหารไม่ย่อย


รุนแรงแค่ไหน ควรไปพบแพทย์?

ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์ และทำการรักษา ได้แก่

  1. มีอาการอาหารไม่ย่อยมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่อายุเกิน 45-50 ปี
  2. ในคนที่มีอาการท้องอืดร่วมกับมีน้ำหนักลด
  3. มีอาการซีด ถ่ายอุจจาระดำ
  4. มีอาเจียนติดต่อกัน หรือกลืนอาหารไม่ได้
  5. ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีก้อนในท้อง
  6. ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้องมาก

อ้างอิง : 1. สมาคมอายุรศาสตร์ผู้ป่วยนอก 2. โรงพยาบาลศิครินทร์ 3. medthai 4. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close