กินเยอะ แต่ผอม! สัญญาณเตือน “โรค เบาหวาน”

โรค เบาหวาน

โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคที่ใครได้ยินแล้วก็ต้องรู้จัก แต่รู้หรือไม่ว่า ไม่ใช่แค่คนอ้วนเท่านั้น ที่เป็นโรคเบาหวานได้ คนที่รูปร่างผอมเพรียวเอง ก็มีสิทธิ์เป็นโรคเบาหวานได้เหมือนกัน! เพราะเมื่อผอมแล้ว ความระมัดระวังเรื่องระดับน้ำตาลในเลือด ก็จะลดลง จนอาจทำให้เป็น โรค เบาหวาน โดยไม่รู้ตัวได้

โรค เบาหวาน คืออะไร?

โรค เบาหวาน คือ ความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนผลิตออกมาไม่เพียงพอ หรือใช้ไม่ได้ตามปกติ เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงนาน ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทำให้หลอดเลือดเสียหาย จนทำลายอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต สมอง หัวใจ

ระดับของน้ำตาลในกระแสเลือด โดยปกติจะอยู่ที่ 70-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ไตจะกรองน้ำตาลออกมา ทำให้สามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้

โดยโรคเบาหวานนั้น โดยทั่วไปแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
• เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
• เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน อาการจะแสดงแบบค่อยเป็นค่อยไป

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นเบาหวาน

อาการที่บ่งชี้ว่า คุณกำลังเป็นโรคเบาหวาน มีได้หลายอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อยครั้ง ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อย กินจุ แต่น้ำหนักลด ผอมลง อ่อนเพลีย เป็นแผลหรือฝีง่าย แต่หายยาก คันตามผิวหนังและอวัยวะสืบพันธุ์ ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า ความรู้สึกทางเพศลดลง หากบิดามารดาเป็น เบาหวาน มาก่อน ลูกก็จะมีโอกาสเป็นเบาหวาน เพิ่มมากขึ้นถึง 6-10 เท่า

อาการของโรคเบาหวาน

ในระยะแรก โรคเบาหวานจะไม่แสดงอาการผิดปกติ โดยอาจตรวจพบโรคเบาหวาน เมื่อตรวจพบภาวะแทรกซ้อน อาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิด จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ
• หิวน้ำมาก หิวน้ำบ่อย
• ปากแห้ง
ปัสสาวะบ่อย
• หิวบ่อย กินจุ
• น้ำหนักลด หรือเพิ่มอย่างผิดปกติ
• สายตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด
• เหนื่อยง่าย
• มีอาการชา โดยเฉพาะมือ และขา
• บาดแผลหายยาก

การตรวจหาเบาหวาน

ในการตรวจหาเบาหวานนั้น แพทย์จะสอบถามอาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย และบุคคลในครอบครัว และการตรวจร่างกาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องอาศัยการตรวจเลือด เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก โดยวิธีวิเคราะห์ระดับน้ำตาลในเลือด สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
• การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เวลาใดก็ได้
• การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
• การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี
• การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลิน ต่อระดับน้ำตาลในเลือด

ภาวะแทรกซ้อนของโรค

เบาหวาน เป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ หากไม่มีการควบคุมเรื่องการกินอาหาร และการดูแลรักษาสุขภาพ อย่างถูกต้อง ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือด สูงขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเส้นเลือด ที่นำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกาย จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น
• โรคแทรกซ้อนที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต
• โรคแทรกซ้อน ชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
• โรคแทรกซ้อนที่ระบบประสาท สามารถทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนได้ นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ และการแท้งบุตรเพิ่มขึ้น

การรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลิน เข้าไปทดแทนในร่างกาย ด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่กับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในระยะเบื้องต้น สามารถรักษาได้ด้วย การกินอาหารที่เหมาะสม การออกกำลัง และควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยา หรือฉีดอินซูลินทดแทน เช่นเดียวกับโรคเบาหวานประเภทที่ 1

การป้องกันโรคเบาหวาน

สิ่งที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ ต้องหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ โดยไม่จำเป็นว่าอ้วน หรือผอม เน้นการกินอาหารที่มีประโยชน์ และมีสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นสตรีมีครรภ์ ควรเข้ารับการฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close