โรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด สัมพันธ์กันอย่างไร? พร้อมแนะ! วิธีปรับพฤติกรรมบรรเทาโรค

รู้หรือไม่ว่า มีผู้ป่วยโรคหอบหืดถึง 75% มักป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วย และผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคหอบหืดถึง 2 เท่าเลยทีเดียว! สงสัยกันแล้วใช่ไหมล่ะว่า โรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด เกี่ยวข้องกันได้ยังไง? วันนี้ GED good life จะพาไปไขคำตอบนี้กัน และข้อควรรู้อื่น ๆ

• 8 ต้นเหตุโรคกรดไหลย้อน รู้เท่าทัน ป้องกันได้!
โรคหอบหืด รู้ทันอาการ เซฟชีวิตคุณได้!
• 6 อาหารต้องห้าม! เมื่อป่วยเป็นกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด สัมพันธ์กันอย่างไร?

โรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal reflux disease (GERD) และ โรคหอบหืด (Asthma) อาจกระตุ้นซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากความเชื่อมโยงกันระหว่างหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และทางเดินหายใจ ตลอดจนผลข้างเคียงของยารักษาโรคหอบหืดบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น และโรคกรดไหลย้อนอาจทำให้โรคหอบหืดแย่ลงได้

โรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด มีการเชื่อมโยงกันจากสาเหตุต่อไปนี้

• เส้นประสาทในหลอดอาหารส่วนล่าง เชื่อมต่อกับเส้นประสาทในปอด ซึ่งหมายความว่าอาการกรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดอาการหอบหืดได้

• อนุภาคขนาดเล็กจากกรดไหลย้อน สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจ และทำให้อาการของโรคหอบหืดรุนแรงขึ้น

• กล้ามเนื้อที่โคนหลอดอาหารสามารถผ่อนคลายได้ในระหว่างที่โรคหอบหืดกำเริบ ทำให้สิ่งที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นสู่ลำคอได้

• ยารักษาโรคหอบหืดบางชนิด เช่น ยาสูดพ่น อาจทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

ลักษณะอาการกรดไหลย้อน และโรคหอบหืด ที่อาจเชื่อมโยงกัน

• มีอาการเสียดท้อง หลังรับประทานอาหาร ก้มตัว หรือนอนราบ

• เจ็บแน่นที่หน้าอกบ่อย ๆ

• ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง

• หายใจลำบาก ซึ่งทำให้สนทนากับผู้อื่นได้ยาก

• เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน

• หายใจเร็วมาก

จะทำอย่างไรเมื่อคุณเป็นทั้งโรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด?

ถ้าโรคกรดไหลย้อน ทำให้อาการหอบหืดแย่ลง และยารักษาโรคหอบหืดทำให้โรคกรดไหลย้อนแย่ลง คงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว ปวดใจน่าดูว่าจะแก้ไขยังไงดี? คำตอบคือ ควรมุ่งเน้นรักษา หรือควบคุมอาการของโรคกรดไหลย้อนให้ได้ก่อน กรดไหลย้อนลดลง อาการหอบหืดก็จะดีขึ้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเข้าพบแพทย์จะสามารถช่วยคุณตัดสินใจได้ว่า คุณต้องการยาสำหรับรักษาอาการของโรคกรดไหลย้อนหรือไม่ แพทย์อาจแนะนำยารักษากรดไหลย้อนที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ดังนี้

1. ยาลดกรด (Antacid)

เป็นยาที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เช่น ตัวยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminum Hydroxide) เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี ออกฤทธิ์ไว ปลอดภัย ออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหาร ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย นอกจากนี้ควรเลือกตัวยาสูตรผสมที่มีส่วนผสมของ ไซเม็ททิโคน (simethicone) เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการขับลม ท้องอืด แน่นท้อง โดยยาประเภทนี้มีให้เลือกทั้ง ชนิดเม็ด และชนิดน้ำ

2. ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-BLOCKERS)

เป็นยาระดับที่ 1 เช่นเดียวกับยาลดกรด ยาชนิดนี้ช่วยทำให้กรดไม่ไหลย้อนเข้าหลอดอาหาร ใช้สำหรับบรรเทาอาการ และหรือป้องกันการแสบยอดอก (heartburn), การย่อยอาหารไม่ดีเนื่องจากมีกรดมาก (acid indigestion)

3. ยาที่ทำให้หยุดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร (Proton-pump inhibitors – PPIs)

ทำหน้าที่ยับยั้งการผลิตกรดของกระเพาะอาหาร หรือไม่มีการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงน้อย แต่มีรายงานผลข้างเคียงว่า อาจเกิดการท้องผูก คลื่นไส้ และปวดศีรษะ

แม้ว่าบางครั้งคุณจำเป็นต้องใช้ยาตามใบสั่งแพทย์เพื่อควบคุมอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ แต่ในบางกรณี (ซึ่งพบไม่บ่อย) แพทย์ของคุณจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดกรดไหลย้อน

ปรับพฤติกรรมชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน

ตามที่ได้บอกไปแล้วว่า เมื่อกรดไหลย้อนดีขึ้น โรคหอบหืดก็ดีขึ้นได้เช่นกัน ฉะนั้นใครที่เป็นกรดไหลย้อนอยู่ ให้ลองหันมาปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้

1. นอนโดยยกหัวเตียงขึ้น 6 ถึง 8 นิ้ว เพื่อให้แรงโน้มถ่วงช่วยให้กรดในกระเพาะไม่ไหลย้อนขึ้นมา

2. ไม่ควรกินอาหาร 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน ในตอนกลางคืน

3. ลดน้ำหนักส่วนเกิน ที่อาจกดดันหน้าท้องของคุณ

4. งดอาหารที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น อาหารทอด อาหารมัน อาหารหมักดอง อาหารที่มีกรดสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5. เลิกสูบบุหรี่ อันเนื่องเป็นเหตุให้เกิดได้ทั้งโรคกรดไหลย้อน และหอบหืด

6. หลีกเลี่ยงมลพิษ หรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สถานที่ที่มีฝุ่นมาก โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้หอบหืดกำเริบได้

6. เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผ่อนคลาย ไม่เครียดเกินไป

 

สุดท้ายนี้ หากคุณมีทั้งโรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด GED good life แนะนำให้พบแพทย์ และทานยารักษาโรคตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และอย่าลืม! เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคให้เป็นน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะเรื่องการเลือกกินอาหาร และการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

 

อ้างอิง : 1. medicalnewstoday 2. healthythai 3. healthline 4. verywellhealth

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close