โรคสะเก็ดเงิน เกิดจากอะไร มีโอกาสหายขาดไหม ควรรักษา ดูแลยังไงดี?

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังชนิดหนึ่ง และยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคที่แน่ชัด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะขาดความมั่นใจในการออกสังคม เพราะ โรคนี้จะทำให้เกิดตำหนิบนผิวหนัง ค่อนข้างชัดเจน จึงทำให้เสียบุคลิกภาพไปพอสมควร แล้วโรคนี้จะติดต่อได้หรือไม่ มีทางรักษาให้หายขาดหรือเปล่า? GedGoodLife มีคำตอบมาให้แล้ว มาติดตามกันเลย

โรคภูมิแพ้ดูแลด้วย "อัลเลอร์นิค" ยาแก้แพ้ชนิดเม็ด กลุ่มไม่ทำให้ง่วง

โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร ?

โรคสะเก็ดเงิน หรือ โรคเรื้อนกวาง (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดเรื้อรัง เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ คือมีการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune) การทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น และมีปัจจัยทางสภาวะแวดล้อมกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้

ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคนี้จะมีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ร่วมด้วย ร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น เชื้อโรค ได้เข้ามากระตุ้นให้เกิดโรคนี้ขึ้น

โรคนี้สามารถพบได้ทั้งเพศหญิง และเพศชายเท่า ๆ กัน พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่มีรายงานพบมากในสองกลุ่มอายุคือ 20-30 ปี และ 55-60 ปี

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยพบว่า…

  • ถ้าบิดา และมารดาเป็นโรคร้ายนี้ บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้สูงร้อยละ 65-83
  • ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค, บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 28-50
  • ถ้าทั้งบิดา และมารดาไม่เป็นโรคนี้ บุตรก็มีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไป เหลือเพียงร้อยละ 4

โรคสะเก็ดเงินติดต่อได้ไหม รักษาหายขาดได้หรือไม่?

โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ และปัจจุบันยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นช่วง ๆ ดังนั้นการวางแผนเพื่อการรักษาในระยะยาว และต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ดร.นพ. เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า “เนื่องจากโรคสะเก็ดเงิน ถือเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบในด้านการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด และคนทั่วไปอาจยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างชัดเจน จนมองว่าเป็นโรคติดต่อ และเกิดจากความสกปรก ซึ่งล้วนแต่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเพิ่มมากขึ้น”

อาการแสดงของ โรคสะเก็ดเงิน

โรคนี้เกิดขึ้นบนตำแหน่งใดของผิวหนังก็ได้ ตำแหน่งผิวหนังที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณที่มีการเสียดสี แกะเกา เช่น ศอก เข่า แขน ขา ก้นกบ คอ ศีรษะ โดยลักษณะสำคัญของผื่นโรคสะเก็ดเงิน มีดังนี้

  • เป็นปื้นหนา มีสะเก็ดสีขาวเงิน เมื่อแกะเกาให้สะเก็ดหลุดออกจะพบจุดเลือดออก
  • มีผื่นผิวหนังสีแดงนูน กระจายไปทั่วผิวหนังทั่วร่างกาย คัน และปวดมากบริเวณที่เกิดโรค
  • รอยโรคที่ทำให้เจ็บ คัน อาจดูคล้ายอาการของโรคกลาก ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
  • เล็บหนา และแตก
  • ข้อต่อบวม และปวดเมื่อย
  • อาจมีไข้ หนาวสั่น
  • การแกะเกาจะทำให้ตุ่ม หรือปื้นผิวหนังที่อักเสบอยู่ จะขยายวงกว้างออก ทำให้เกิดตุ่มผิวหนังอักเสบเกิดใหม่ตามรอยเกาได้

ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยนั้นมักมีอาการของโรคอื่นแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม เป็นต้น

ลักษณะทางคลินิก

รศ.พญ.ชนิษฎา วงษ์ประภารัตน์ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จำแนกโรคสะเก็ดเงิน เป็นชนิดต่าง ๆ ตามลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้

ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาว หรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า “โรคสะเก็ดเงิน”  พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีได้บ่อย

โรคสะเก็ดเงิน

ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน

ชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย

ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดง และมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยา หรือมีปัจจัยกระตุ้น

สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรัง และมักไม่ค่อยมีขุย

สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้

ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจมีการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือหลายข้อก็ได้

เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม เล็บร่อน เล็บหนาตัวขึ้น และเล็บผิดรูป รอยโรคที่เล็บของสะเก็ดเงินรักษาได้ค่อนข้างยาก

โรคสะเก็ดเงิน

ปัจจัยกระตุ้น ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ตัวผู้ป่วย

1. ปัจจัยภายนอก สิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น อาหาร ยา สารเคมีในที่ทำงาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงการแกะ เกา การเสียดสีที่ผิวหนังอยู่บ่อย ๆ

2. ปัจจัยภายในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โรคของอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคไต เป็นต้น การเปลี่ยนแปลง และโรคต่าง ๆ ของอวัยวะภายใน จะส่งผลกระทบโดยตรง หรือโดยอ้อมต่อผิวหนังด้วยเสมอ แม้แต่ความเครียด หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย นอนไม่หลับ ก็ทำให้โรคนี้กำเริบได้เช่นกัน

“แสงแดด” ฮีโร่ปราบโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่กลัวแสงแดด โดยแสงแดดช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี ช่วยรักษาโรคทางผิวหนังได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ผื่นผิวหนังอักเสบ ดีซ่าน และสิว

ดังนั้นวิธีง่าย ๆ สำหรับคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ก็คือ ให้ตากแดด หรือนอนอาบแดดในช่วงเช้าบ้างก็จะดี แต่อย่าอาบแดงในช่วงกลางวัน เพราะอาจได้มะเร็งผิวหนังมาแทน

โรคสะเก็ดเงิน

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคดังนี้

– สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก

– สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน หรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทาน หรือฉายแสงอาทิตย์เทียม และยาทา

ยาทาภายนอกรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ได้แก่
1.ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids)
2. น้ำมันดิน (tar)
3. แอนทราลิน (anthralin, dithranol)
4. อนุพันธ์วิตามิน ดี (calipotriol)
5. ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor (tacrolimus, pimecrolimus)

ยารับประทานรักษาโรคสะเก็ดเงิน
1. เมทโทเทรกเสท (methotrexate) เป็นยาที่ได้ผลดีกับสะเก็ดเงินเกือบทุกชนิด
2. อาซิเทรติน (acitretin)
3. ไซโคลสปอริน (cyclosporin)

การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy)
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงิน โดยจะใช้รังสีอัลตราไวโอเลต ให้ผลดีประมาณ 70 – 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย

ยาฉีดกลุ่มชีวภาพ (Biological agents)
เป็นยาใหม่ที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อยู่ในรูปยาฉีดเข้าเส้น หรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากยาในกลุ่มนี้เป็นยาใหม่ จึงต้องติดตามผลข้างเคียงระยะยาว

เมื่อโรคสะเก็ดเงินสงบลง รอยจะหายไปจนแทบมองไม่เห็น

อาการของโรคสะเก็ดเงิน จะมีอาการรุนแรงในสองสามวัน หรือหลายสัปดาห์ และจากนั้นอาการอาจชัดเจนขึ้น และหายไปจนแทบจะมองไม่เห็น จากนั้นในไม่กี่สัปดาห์อาการอาจจะแย่ลงอีก

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การปฏิบัติตนเพื่อควบคุมไม่ให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเคล็ดลับ 4 ประการ ในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน มีดังนี้

          1. เข้าใจโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินอย่างชัดเจน ด้วยการปรึกษาแพทย์ เพื่อสามารถดูแล และรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป

          2. ดูแลร่างกาย และจิตใจอย่างเคร่งครัด การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่ายกาย และจิตใจ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

          3. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การแกะเกา การปล่อยให้ผิวหนังแห้งขุย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น

          4. สังเกต และป้องกันตนเองจากภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น หากว่าเกิดอาการปวดบริเวณข้อใด ข้อหนึ่งในร่างกายจะต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัย และรักษาจากโรคข้อเสื่อมอักเสบ

 

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด ผู้ป่วยโรคนี้ต้องใช้ชีวิตด้วยความปล่อยวาง และไม่เครียดเพราะความเครียดสามารถทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้นั่นเอง ในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมาก และเรื้อรังอาจต้องปรึกษาอายุรแพทย์ร่วมด้วย

อ้างอิง : 1. ccpe.pharmacycouncil.org 2. thaihealth.or.th 3. theworldmedicalcenter.com 4. si.mahidol.ac.th 1 / 2 5. inderm.go.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close