โรคไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรรู้เรื่องหวัดกับ หมออ้อม

โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัด เป็นโรคที่ทุกคนต้องเคยเป็นกันมาบ้าง บางคนเป็นบ่อย บางคนนาน ๆ จะเป็นสักที แต่โรคนี้สามารถเป็นได้ทั้งปี ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่ถึงกับอันตรายอะไรนัก แต่ก็สร้างความรำคาญให้แก่เราไม่น้อย งั้นมาดูกันว่า โรคนี้จะมี สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา อย่างไรบ้าง…

–  ไข้สูง มีสาเหตุจากอะไร ต้องกี่องศาขึ้นไป อันตรายแค่ไหน รับมือยังไงดี?
– โรคไข้หวัด VS โรคภูมิแพ้อากาศ ต่างกันอย่างไร?
– ไขข้อสงสัย! ทำไมหน้าฝนถึงเป็นหวัดง่าย? พร้อมวิธีดูแลสุขภาพในหน้าฝนนี้

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

ทำความรู้จักกับ โรคไข้หวัด มีสาเหตุมาจากอะไร?

โรคไข้หวัด หรือ ไข้หวัดธรรมดา (Acute Rhinopharyngitis : Common Cold) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง ทำให้เกิดการอักเสบในระดับเซลล์ และการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไปยังสมองได้หลายตำแหน่ง โดยเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัด มีสายพันธุ์ย่อย ๆ มากกว่า 200 ชนิดเลยทีเดียว

เมื่อร่างกายของเราหายจากไข้หวัดแล้ว ร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้นขึ้นมา แต่เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ จึงทำให้คนเราเป็นไข้หวัดกันได้ปีละหลายครั้ง อย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดสามารถเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน แต่โดยมากแล้วจะเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่

โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นโรคหวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้งต่อปี ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน

อ่านเพิ่มเติม -> หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แบบไหนรุนแรงกว่ากัน!

ไรโนไวรัส ตัวการใหญ่ก่อไข้หวัดได้มากที่สุด!

ไรโนไวรัส Rhinovirus – เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับจมูก (Rhino แปลว่าจมูก) เป็นเชื้อไวรัสที่พบมากที่สุดในมนุษย์ และเป็นสาเหตุสำคัญของไข้หวัด ไวรัสชนิดนี้จะชอบความเย็น หรืออุณหภูมิต่ำ ประมาณ 33-35°C (91–95 °F) มักอาศัยอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก (nasal mucosa) แต่ถ้าเข้าหลอดลมแล้วอุณหภูมิสูงกว่าจะอยู่ไม่ได้ จึงมักไม่มีอาการมาก เป็นแค่หวัดธรรมดา

ไรโนไวรัส นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของอาการไข้หวัดแล้ว ยังทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในร่างกายที่คล้ายกับการติดเชื้อRSV ที่ก่อให้เกิดอาการหอบหืดในอนาคตได้

อาการของโรคไข้หวัด มีอะไรบ้าง?

ไข้หวัดจะมีระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน ความรุนแรงของอาการจะมีมากในช่วง 2-3 วันแรก ก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง อาการเริ่มต้นที่สังเกตได้ คือ รู้สึกเหนื่อยล้า หนาวผิดปกติ จาม และปวดศีรษะ ตามด้วยอาการน้ำมูกไหลและไอหลายวัน

• มีไข้ต่ำ ๆ ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นพัก ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย (ในเด็กอาจมีไข้สูงเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ก็ได้) อาการไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วัน แล้วก็จะหายไปเอง

• น้ำมูกไหล มักเป็นน้ำมูกใส ๆ ไม่ข้น (ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกเข้มข้นเหลือง หรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือไอมีเสมหะสีเหลือง หรือเขียวทุกครั้ง)

• คัดจมูก หายใจได้ไม่สะดวกเนื่องจากจมูกบวม

• ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย แม้ไข้หวัดจะดีขึ้นแล้วแต่ผู้ป่วยอาจมีอาการไออยู่ต่อไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่จะหายเป็นปกติ

• ปวดศีรษะ หรือปวดหู หากมีอาการปวดหูมาก ๆ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่หู

• มีอาการระคายเคืองที่ดวงตา หรือมีตาแดง ขี้ตา

• เสียงแหบ การเป็นหวัดอาจทำให้การทำงานของสายเสียงเปลี่ยนไป จึงเป็นสาเหตุให้เกิดเสียงแหบ

ไข้หวัด กับ ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร?

เชื่อว่าหลายคนสับสันระหว่าง อาการของไข้หวัดทั่วไป (Common cold) กับ ไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu) มีอาการแตกต่างกันอย่างไรบ้าง มาดูวิธีสังเกตกัน

1. สาเหตุ

ไข้หวัด – เกิดจากเชื้อไวรัสหลายสายพันธุ์ (ไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดได้มากที่สุด คือ ไรโนไวรัส)

ไข้หวัดใหญ่ – เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา

2. อาการไข้

ไข้หวัด – เป็นไข้ต่ำ ๆ

ไข้หวัดใหญ่ – ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส 2-4 วัน (อาจมีอาการหนาวสั่น)

3. อาการไอ จาม เจ็บคอ

ไข้หวัด – จาม เจ็บคอบ่อย มีอาการไอแห้ง ๆ หรืออาจมีเสมหะสีขาวไม่มากนัก

ไข้หวัดใหญ่ – ไอบ่อย ไอรุนแรง จาม เจ็บคอ คออักเสบได้

4. อาการปวดหัว

ไข้หวัด – อาจปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย

ไข้หวัดใหญ่ – ปวดหัวมาก และปวดตามตัว

5. อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

ไข้หวัด – อาจคลื่นไส้ ท้องเสียได้บ้าง

ไข้หวัดใหญ่ – คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง

6. วิธีรักษา

ไข้หวัด – กินยาลดไข้ นอนพักผ่อนมาก ๆ หายได้ใน 2-4 วัน

ไข้หวัดใหญ่ –กินยาฆ่าเชื้อไวรัส / ยาลดไข้ หายได้ใน 1-2 สัปดาห์

โรคไข้หวัด

ใครมักเสี่ยงเป็นไข้หวัดได้บ่อย?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ มักเป็นไข้หวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่

เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี – มีความเสี่ยงป่วยด้วยไข้หวัดสูง เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกสุขลักษณะ

ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ – ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเรื้อรัง หรือมีภาวะสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่ายกว่าปกติ

ผู้ที่สูบบุหรี่ – มีแนวโน้มจะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่าย และหากเป็นก็จะอาการรุนแรงกว่าปกติอีกด้วย

อยู่ในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน – สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดได้ง่าย

ผู้ที่ต้องเผชิญกับหน้าฝนบ่อย ๆ – เนื่องจากเชื้อไวรัสแพร่กระจายในหน้าฝนได้ดี ฉะนั้นเมื่อมีลมพายุ หรือฝนตก เชื้อไวรัสจะถูกพัดพามาเกาะตามร่างกายเรา แล้วเราไปจับหน้า จับศีรษะ จับจมูก แคะจมูก เชื้อก็จะเข้าไปในโพรงจมูก ทำให้เป็นหวัดได้ง่ายขึ้น

โรคไข้หวัด ติดต่อสู่กันทางไหนบ้าง?

เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อได้ดังนี้

1. การหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือจามรด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เมตร

2. ติดต่อโดยการสัมผัส เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย สิ่งของ เครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้มน้ำ จาน ชาม โทรศัพท์ เป็นต้น หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เช่น ลูกบิดประตู, โต๊ะเก้าอี้ เชื้อหวัดก็จะติดมือของคนนั้น และเมื่อเผลอใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัด

  • ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • ไซนัสอักเสบ
  • หูชั้นกลางอักเสบ
  • หลอดลมอักเสบ
  • ปอดอักเสบ
  • สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ บางรายเสียงแหบเนื่องจาก กล่องเสียงอักเสบ

โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก หรือขาดอาหาร เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อเป็นหวัดควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ อย่าหักโหมงานเยอะ สำหรับพนักงานออฟฟิศ หรือพนักงานเงินเดือน อาจใช้สิทธิ์ลาป่วย เพื่อนอนพักผ่อนให้เต็มที่สัก 1 วัน แล้วจึงไปทำงานในวันถัดไป พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น

เมื่อเป็นหวัด จะหายในกี่วัน?

ไข้หวัดไม่ใช่อาการรุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 2-4 วัน และไม่มีวิธีรักษาได้โดยตรง (อย่างไข้หวัดใหญ่ สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาต้านไวรัส หรือ ฉีดวัคซีนป้องกันได้) แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ไม่ดีขึ้นใน 2-4 วัน ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้

วิธีรักษา และการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นไข้หวัด

1. ทานยาลดไข้ บรรเทาหวัดเมื่อเป็นหวัดควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอล หรือถ้ามีไข้ และอาการแพ้ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล สามารถเลือกใช้ ยาแก้หวัดสูตรผสม ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการหวัดและภูมิแพ้ได้ในเม็ดเดียว และค่อนข้างปลอดภัย หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา

อ่านเพิ่มเติม -> ยาลดไข้ บรรเทาหวัดสูตรผสม มีสรรพคุณ และวิธีใช้อย่างไร?

2. ทานยาแก้ไอ หากมีอาการไอ – ให้ทานยาแก้ไอ ถ้าไอมีเสมหะ ให้ทานยาแก้ไอละลายเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้เสมหะนิ่มลง และขับออกได้ง่ายขึ้น และควรจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาวบ่อย ๆ ระหว่างวัน จะช่วยให้หายไอได้ไวขึ้น ในเด็กเล็กควรให้ยาแก้ไอสำหรับเด็ก

3. นอนพักผ่อนให้มาก ๆ – การนอนหลับพักผ่อนให้มาก ๆ ในช่วงที่เป็นหวัด จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการไข้ ได้ไวขึ้นมากเลยทีเดียว

4. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดาเช็ดตัว 10-15 นาที – ไม่ควรใช้น้ำเย็นเช็ดตัว ให้เช็ดตัวจากปลายมือ ปลายเท้า เข้าสู่ลำตัวเพื่อระบายความร้อน พักผ้าไว้บริเวณศีรษะ ซอกคอ ซอกรักแร้ และขาหนีบ

5. กินอาหารอ่อน ๆ – ระหว่างที่เป็นหวัด ควรเลือกรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้ เป็นต้น

6. ไม่เครียด ไม่หักโหมงานหนัก – ไม่ควรเครียด หรือ หักโหมงานในระหว่างที่เป็นหวัด เพราะจะทำให้อาการแย่ลงได้

เป็นหวัด ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ นอกจากไม่ทำให้หาย ยังก่ออันตรายอีกด้วย!

หลายคนเมื่อเป็นหวัด ก็จะกินยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ด้วยความคิดว่ามันแรงดี กินแล้วอาการจะหาย หรืออาจจะได้รับความรู้ผิด ๆ มาจากที่อื่น ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อเป็นหวัด ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ

เพราะ ยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ไม่สามารถแก้ปวด หรือลดไข้ได้ เป็นยาใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

ฉะนั้นเมื่อเป็นหวัด แนะนำให้กินเพียง ยาแก้หวัด ก็เพียงพอแล้ว

การป้องกัน โรคไข้หวัด

1. ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินซี เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้หวัดได้

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอทุกวัน เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเพิ่มภูมิต้านทานโรค

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรง

3. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในหน้าฝน และหน้าหนาว

4. ไม่คลุกคลี หรือใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นไข้หวัด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคไข้หวัด

5. หมั่นล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่ และไม่นำมือสกปรกสัมผัส แหย่ หรือแคะจมูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางโพรงจมูก

6. ไม่ปล่อยให้ยุงกัด เพราะอาจทำให้เป็นไข้เลือดออก และไข้อื่น ๆ ได้

7. ไม่ควรเดินตากฝนเป็นระยะเวลานาน เมื่อตากฝน กลับถึงบ้านแล้วควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เพื่อชำระเชื้อโรคที่ติดมาจากข้างนอกโดยไว

8.  ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องไปในที่แออัด หรือที่ที่มีผู้คนมาก เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ทางเดินหายใจ

ไข้หวัด เป็นโรคที่เป็นได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาว ฉะนั้นอย่าได้ประมาท ควรปฎิบัติตนป้องกันโรคไข้หวัดให้ดีตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เราก็จะมีชีวิต และสุขภาพที่ดี ห่างไกลหวัดได้อย่างแน่นอน!

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

อ้างอิง : 1. bangkokhospital.com 2. wongkarnpat 3. supamitrhospital.com 4. doctor.or.th 5. pidst.net 6. rama.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close