เช็ก! 8 อาการไซนัสอักเสบ โรคใกล้ตัวของคนเป็นหวัด และภูมิแพ้

อาการไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นโรคที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อบุบริเวณโพรงจมูก และไซนัส ทำให้มีอาการคล้ายกับหวัด และภูมิแพ้ ผู้ป่วยหลายคนคิดว่าไม่น่ามีอะไรรุนแรง จึงละเลยไม่รักษาอย่างถูกต้อง พอมาพบแพทย์อีกทีก็กลายเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังไปแล้ว! ฉะนั้นอย่าประมาท มาเช็กกันว่า อาการไซนัสอักเสบ ที่ควรรู้และระวังมีอะไรบ้าง และอย่าลืมไปพบแพทย์กันด้วยนะ จะได้ไม่เป็นไซนัสเรื้อรัง

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

เช็ก! 8 อาการไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบจะพบได้บ่อยที่สุดหลังจากการเป็นไข้หวัด จะมีอาการมากกว่า 10-14 วัน พราะฉะนั้นให้สังเกตระยะเวลาของการเป็นหวัดให้ดี ถ้าเป็นเกิน 3-4 วัน หรือรู้สึกนานเกินไป รวมถึงความรุนแรงของโรคไม่ลดลงแต่กลับมีมากขึ้น และมีไข้ตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ใน 3 วันแรกที่เป็นหวัด ควรเข้าพบแพทย์

1. ปวดแน่นบริเวณใบหน้า (Facial pressure and pain)

อาการทั่วไปของการติดเชื้อไซนัส คือ ความเจ็บปวดบริเวณใบหน้า (ปวดบริเวณไซนัส) เช่น ปวดหน่วง ๆ บริเวณศีรษะ โพรงจมูก หน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม เป็นต้น หากปล่อยไว้จนอาการลามไปถึงกระดูก อาจทำให้การอักเสบกระจายไปสู่สมอง ส่งผลให้การรักษายากขึ้น และเสียชีวิตได้ในที่สุด

2. ปวดหนักศีรษะ (Headache)

ปวดขมับ ท้ายทอย รู้สึกหนักที่ศีรษะ มักเป็นมากช่วงเช้า หรือบ่าย โดยอาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการก้มหยิบของ ก้มตัวลง ผู้ป่วยควรพยายามนอนศีรษะสูง หรือตั้งศีรษะตรงไว้เสมอ เพราะ จะช่วยระบายหนองที่คั่งค้างออกจากไซนัส ตามแรงโน้มถ่วงของโลก

3. ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น (bad breath)

เกิดจากมีของเหลว หรือหนองขังอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้า จนเกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นปาก และลมหายใจเหม็น

4. ไอมีเสมหะ (Cough up phlegm)

ถ้ามีอาการไอ และมีเสมหะมาก น้ำมูกไหลลงคอ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร เพราะหากปล่อยไว้การติดเชื้อในไซนัสอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตา และสมอง จนส่งผลให้เกิดโรคทางปอด หลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรัง ตามมาได้

5. มีไข้ (Fever)

ไข้อาจเกิดขึ้นกับไซนัสอักเสบได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อหลายประเภท ไข้จากการติดเชื้อประเภทนี้มักอยู่ในระดับต่ำ (รายที่เป็นรุนแรงอาจมีไข้สูง จนหนาวสั่น) การมีไข้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ร่างกายกำลังต่อสู้กับไวรัส หรือการติดเชื้อแบคทีเรียอยู่นั่นเอง

6. คัดจมูก (Stuffy nose)

อาการคัดแน่นจมูกมาก และมักมีอาการร่วมกับน้ำมูกไหล เป็น ๆ หาย ๆ ได้กลิ่นต่าง ๆ น้อยลง หรืออาจไม่ได้กลิ่นเลย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาการไซนัสอักเสบได้ แต่ผู้ป่วยอาจคิดว่าเป็นเพียงหวัดเรื้อรังเท่านั้น

7. มีน้ำมูกข้นเขียว หรือเหลือง (Snot turn green or yellow)

ผู้ป่วยไซนัสอักเสบ มักมีน้ำมูกสีเขียว หรือสีเหลือง ซึ่งอาจไหลออกมาทาง รูจมูก หรือไหลลงคอ บางครั้งน้ำมูกไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว ไม่แนะนำให้สั่งน้ำมูกด้วยความรุนแรง เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดได้ ถ้าจะสั่งน้ำมูกให้ใช้มืออุดจมูกอีกข้างหนึ่งไว้ และสั่งน้ำมูกเบา ๆ จนหายใจโล่งจึงหยุดสั่งได้

8. ปวดฟัน (Toothache)

หากมั่นใจว่าเราได้แปรงฟันเป็นอย่างดี ไม่มีฟันผุ แต่กลับรู้สึกปวดฟันอย่างผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของไซนัสอักเสบได้เช่นกัน เพราะ รากของฟันกรามบนจะอยู่ใกล้กับโพรงไซนัส เมื่อไซนัสติดเชื้อ และบวม ก็จะทำให้รู้สึกปวดฟันได้

อาการไซนัสอักเสบ

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ข้อควรรู้

  • ไซนัสอักเสบ มักเกิดตามหลังอาการไข้หวัด เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด
  • โรคไซนัสอักเสบ และโรคหืด มักพบร่วมกันได้บ่อย ผู้ป่วยโรคหืดที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรได้รับการประเมินว่ามีโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วยหรือไม่
  • โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

การรักษาไซนัสอักเสบ

โรคไซนัสอักเสบ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง และสามารถรักษาได้ด้วยตนเองที่บ้านด้วยการกินยา แต่ถ้าผู้ป่วยเพิ่งเคยเป็นครั้งแรก หรือกลัวว่าจะกินยาผิด แนะนำให้ไปพบแพทย์ก่อน เพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำในการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งโรคนี้ถ้ารับการรักษาไว ในตอนที่ยังมีอาการน้อย ก็มีโอกาสหายขาดได้เช่นกัน

การรักษาด้วยตนเอง

การรักษาด้วยการใช้ยาจากแพทย์

  • แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์แบบพ่นเพื่อลดอาการอักเสบ ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก (หรือใช้สเตียรอยด์แบบหยดผสมในน้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูก)
  • หากไซนัสอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ประมาณ 10-14 วัน และจะต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อใช้เอง

การรักษาด้วยการผ่าตัด

  • หากการรักษาด้วยการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัดไซนัสผ่านกล้อง endoscope และล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ

อาการไซนัสอักเสบ ที่ควรไปพบแพทย์

  • มีอาการคัดจมูก โดยน้ำมูกมีลักษณะข้นเหนียว มีสีเขียว หรือสีเหลือง
  • หายใจมีกลิ่น
  • เสมหะข้นมักไหลลงคอ ทำให้ต้องขากออกบ่อย ๆ
  • ปวดศีรษะ ปวดขมับ ปวดโหนกแก้ม หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งของตำแหน่งไซนัส
  • รายที่มีอาการรุนแรง อาจมีไข้ หรือตาบวมได้

 

อ้างอิง : 1. premiermedicalgrp 2. samitivejhospitals 3. siphhospital 4. synphaet 5. รพ. เปาโล 6. รพ. พญาไท

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close