หวัดเรื้อรัง ทำไมเป็นนานไม่หายสักที!? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

หวัดเรื้อรัง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการป่วยเป็นหวัด เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวหาย บ่อยมาก เป็นทีก็เป็นนานหลายวัน พอหายแล้ว ก็เหมือนยังไม่หายสนิท ยังมีทั้งน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ไอเจ็บคอทุกวัน อาจบ่งบอกได้ว่า คุณกำลังเผชิญกับ “หวัดเรื้อรัง” เข้าให้แล้ว! ตามมาดูกันว่าหวัดประเภทนี้จะมี สาเหตุ อาการ วิธีรักษา อย่างไรได้บ้าง

ดีคอลเจน

หวัดเรื้อรัง คืออะไร?

อาจารย์ น.พ.เจตน์ ลำยองเสถียร ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า…

“โดยทั่วไป ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งสามารถหายเองได้ แต่ถ้ามีอาการนานกว่า 5-10 วัน อาจเป็นหวัดเรื้อรัง เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูก และไซนัสได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการนานกว่า 10 วัน หรืออาการแย่ลงหลังจากเริ่มมีอาการคัดจมูกได้ 5 วัน”

หวัดเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น 

  • โรคไซนัสอักเสบ – Sinusitis
  • โรคหลอดลมอักเสบ – bronchitis
  • เยื่อบุตาอักเสบ – Conjunctivitis
  • โรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) – Pneumonia
  • หูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) – Otitis media

หวัดเรื้อรังมีกี่ประเภท แล้วเป็นได้นานแค่ไหน?

หวัดเรื้อรัง มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

1. หวัดเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะอันตรายกว่าเชื้อหวัดจากไวรัส เพราะ ทำให้ป่วยได้นานกว่า อาการรุนแรงกว่า และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้

2. หวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้ มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่เราแพ้ และเผชิญอยู่เป็นประจำ เช่น ฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละอองเกสรดอกไม้ อาหาร เป็นต้น อยู่ที่ว่าเราแพ้อะไร ถ้าเราไม่หลีกเลี่ยง ก็จะทำให้เป็นหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้ได้

หวัดเรื้อรัง สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 2 เดือน 6 เดือน หรือเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งปี ฉะนั้น ผู้ป่วยหวัดเรื้อรัง ควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น ถ้ารู้ว่าเกิดจากอาการแพ้ฝุ่น ก็ควรหลีกเลี่ยงฝุ่น โดยการสวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปในสถานที่มีฝุ่นเยอะ ก็จะทำให้อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้นได้ และหายได้เร็ว แต่ถ้าไม่รู้สาเหตุ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม -> หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แบบไหนรุนแรงกว่ากัน!

เช็กอาการ หวัดเรื้อรัง

  • คัดจมูก มีไข้ อ่อนเพลีย
  • มีเสมหะ น้ำมูกข้นเหนียว (น้ำมูกสีใสบ้าง เขียวบ้าง) จากการติดเชื้อ
  • มีอาการจาม ไอ ร่วมด้วย บางรายอาจไอมาก
  • ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง
  • เจ็บคอ แสบคอ
  • ในเด็กอาจมีอาการ หอบ ไอมาก หายใจแรง เพราะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง

แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ท่านอาจไม่ได้เป็นหวัดเรื้อรัง เพราะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น  เช่น

  1. ผู้ที่มีริดสีดวงจมูก หรือเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
  2. ผู้ที่มีเนื้องอกในโพรงจมูก และไซนัส
  3. ผู้ที่มีการอักเสบของไซนัสที่เกิดจากเชื้อรา แต่มักจะมีอาการมีน้ำมูก และคัดจมูกในจมูกข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว

หวัดเรื้อรัง

เป็นหวัดเรื้อรัง ต้องรักษายังไงดี?

อาจารย์ น.พ.เจตน์ ลำยองเสถียร กล่าวว่า “ผู้ป่วยที่เป็นหวัดเรื้อรัง หรือ มีการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูก และไซนัส จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ ​ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่ถ้าการอักเสบของไซนัสที่เกิดขึ้นไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการเจาะล้างไซนัส หรือผ่าตัดร่วมด้วย

ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสสามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่านโพรงจมูกโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดจากภายนอก ซึ่งจะทำให้มีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อย และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ การพิจารณาว่าควรผ่าตัด หรือไม่ขึ้นอยู่กับแพทย์”

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ถ้าเป็นนานเกินประมาณ 5-10 วัน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีห่างไกลจากหวัดเรื้อรัง

  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • ไม่เครียด ไม่หักโหมงานเกินไป เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ป้องกันไข้หวัด เช่น อาหารที่มีวิตามินซีสูง
  • ไม่ไปใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด หรือใส่หน้ากากอนามัยหากต้องอยู่ด้วยกัน
  • ไม่นำมือสกปรกแคะจมูก หรือเข้าปาก
  • หากเป็นภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าถ้าเป็นหวัดธรรมดา อาการต่าง ๆ ควรจะหายไปภายใน 3-7 วัน และถ้าเป็นหวัดจากภูมิแพ้ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เราแพ้อาการก็จะดีขึ้น และหายไปได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นแสดงว่าอาจมีโรคแทรกซ้อน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป…

 

อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. รพ.โรงพยาบาลเพชรเวช 3. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 4. รพ.สมิติเวช

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close