รู้สึกดาวน์ สุขภาพจิตแย่ มีวิธีแก้ยังไงบ้าง? พร้อมชี้! 8 สัญญาณเตือนควรพบจิตแพทย์

สุขภาพจิตแย่

นอนไม่หลับ จิตใจหดหู่ หงุดหงิดง่าย เหม่อลอย ขาดสมาธิ สุขภาพจิตแย่ คือสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเครียด โดยเฉพาะใครที่มีอารมณ์แปรปรวนง่าย รู้สึกอยากตาย จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจิตใจแบบด่วน ๆ ก่อนจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จะรักษากันง่าย ๆ เลย! ตามมาดู 7 วิธีดูแลสุขภาพจิต ให้พร้อมลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งกันดีกว่า พร้อมชี้ 8 สัญญาณเตือนที่ควรพบจิตแพทย์

• แบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม
• มาวัดระดับความสุขด้วย แบบประเมินความสุข 15 คำถาม
• 6 เทคนิคฝึกสมาธิ บำบัดสุขภาพ ช่วยผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด

decolgen ดีคอลเจน

อาการแสดงออกของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพจิตแย่ จะมีอาการที่ตนเองรู้สึกได้หรือผู้อื่นสังเกตได้ แต่ตนเองไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต โดยผู้ป่วยจะแสดงออกทางกาย ทางใจ ทางพฤติกรรม ดังนี้

อาการทางกาย

  • ระบบหัวใจผิดปกติ มีอาการใจสั่น ใจเต้น
  • แสดงอาการหอบ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ประจำเดือนไม่มาตามปกติ
  • ความกังวลทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ หรือรับประทานอาหารมากเกินไป
  • นอนไม่หลับ อ่อนเพลียง่าย
  • ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ เป็นลม ชักเกร็ง
  • ปวดข้อ ปวดหลัง

อาการทางใจ

ด้านความรู้สึก ได้แก่ รู้สึกไม่สบาย น้อยใจ ไม่รักใคร หลงตัวเอง

ด้านความคิด ได้แก่ หมกมุ่น ฟุ้งซ่าน สับสน คิดมาก หลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว เบื่อชีวิต คิดอยากตาย มีความคิดแปลก ๆ

ด้านอารมณ์ ได้แก่ ซึมเศร้า กังวล อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่าย ครื้นเครงมากเกินไป อารมณ์ไม่เหมาะสม ไม่มีสมาธิ และความจำเสื่อม

อาการทางพฤติกรรม

มีการแสดงออกแตกต่างจากปกติ หรือลักษณะทางสังคมไม่ยอมรับ เช่น ก้าวร้าว ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายผู้อื่น แยกตัว ติดยาเสพติด ประพฤติผิดทางเพศ เจ้าระเบียบเกินไป ย้ำคิด ย้ำทำ ลักขโมย พูดปด แต่งกายไม่เหมาะสมกับเพศและวัย เป็นต้น

รู้หรือไม่? คนไทยป่วยด้วยโรคทางจิตเวช 5 อันดับแรก ดังนี้

  1. โรคซึมเศร้า (Depression)
  2. โรคจิตเภท (Schizophrenia)
  3. โรควิตกกังวล (Anxiety)
  4. โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด (Substance Induced Men tal Illness)
  5. โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder)

7 วิธีดูแลสุขภาพจิต หลังเผชิญภาวะความโศกเศร้า

1. ยอมรับความจริง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์โศกเศร้าที่เผชิญอยู่เป็นความจริง เกิดขึ้นจริง ๆ และไม่ควรปิดกั้นการแสดงออกถึงความรู้สึกเศร้าโศก ทว่าก็ควรแสดงออกอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งควรพูดคุยกับคนรอบข้าง เพื่อสร้างกำลังใจ และแรงจูงใจซึ่งกันและกัน ประคับประคองความรู้สึกให้ผ่านพ้นความเศร้าไปให้ได้

2. อยู่อย่างมีสติ
จงดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความมีสติ หมั่นสังเกตปฏิกิริยาทางจิตใจ และพฤติกรรมของตัวเอง และคนรอบข้างให้ดี หากมีอาการคิดวนเวียน วิตกกังวล ไม่อยากพบเจอใคร หมกมุ่นกับความคิดของตัวเอง นอนไม่หลับ ฝันร้าย หรือมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น เริ่มพูดพึมพำกับตัวเอง เห็นภาพหลอน หูแว่ว หรือมีความคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรรีบมาพบจิตแพทย์

3. ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง
การได้ระบายความเศร้าโศกเสียใจหรือความรู้สึกหม่น ๆ ในใจให้กับคนรอบข้างและคนใกล้ชิดบ้างจะช่วยให้ความรู้สึกเศร้าผ่อนคลายลงบ้างไม่มากก็น้อย นอกจากนี้การได้ปรับทุกข์ซึ่งกันและกันยังจะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกันด้วยความเข้าอกเข้าใจอีกด้วย

4. พาตัวเองออกจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกเศร้า
ถ้าความรู้สึกซึมเศร้าถาโถมจนเกินจะรับได้ไหวอีกต่อไป ควรกันตัวเองออกจากปัจจัยที่ทำให้เศร้า เช่น พยายามไม่รับข้อมูลข่าวสารใด ๆ ไม่ดูรูปภาพหรือคลิปวิดีโอที่ดูกี่ครั้งก็ร้องไห้ และควรพักใจอยู่นิ่ง ๆ กับตัวเองสักพัก

5. พยายามคิดถึงแต่เรื่องดี ๆ ที่มีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย
หากรู้สึกคิดถึงคนที่เราเพิ่งสูญเสียไป ให้เปลี่ยนความคิดถึงไปในทิศทางบวก เช่น คิดถึงช่วงเวลาที่ดี ๆ คิดถึงภาพความสุข และรอยยิ้มของคนที่จากไป ให้เป็นความทรงจำที่ดี ๆ และพยายามดำเนินชีวิตของตัวเองอย่างปกติ

6. หมั่นฝึกสมาธิ
ในกรณีที่รู้สึกแย่ในขั้นที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ให้หมั่นนั่งสมาธิ ฝึกจิตใจให้สงบ และเรียกคืนสติให้กับตัวเอง

7. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับคนที่มีอาการเสียใจหนักมากจนเป็นลมล้มพับ หรือรู้สึกเหมือนจะล้ม ให้หายใจลึก ๆ ช้า ๆ พยายามอย่าตื่นตระหนก พาตัวเองออกมาอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำเย็น และหาผ้าเย็นมาเช็ดเนื้อเช็ดตัว พร้อมทั้งดมยาดมด้วย ซึ่งการปฐมพยาบาลดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้ดูแลผู้อื่นที่มีอาการเศร้าโศกเสียใจจนคุมสติและร่างกายไม่อยู่ได้ด้วย

10 ตุลาคม “วันสุขภาพจิตโลก”

“วันสุขภาพจิตโลก” หรือ World Mental Health Day ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535 โดยการริเริ่มของ ริชาร์ด ฮันเตอร์ (Richard Hunter) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์สุขภาพจิตโลก

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสุขภาพจิต เพื่อรณรงค์ให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต ปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตใจ การปฐมพยาบาลด้านสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้กำลังใจที่ใกล้ตัว รวมไปถึงความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายเพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และสร้างช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตให้ครอบคลุมประชากรทั่วทุกมุมโลก

ไม่ไหว อย่าบอกไหว! เมื่อมี 8 อาการเหล่านี้ ควรพบจิตแพทย์

สุขภาพจิตแย่

อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะให้สังเกต 8 สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่า บุคคลต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์ หรือบุคลากรสุขภาพจิต ดังนี้

1. มีความสับสนรุนแรงรู้สึกราวกับว่าโลกนี้ไม่มีอยู่จริง เหมือนกำลังฝันไป ล่องลอย

2. รู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ หยุดไม่ได้ จำแต่ภาพโหดร้ายได้ติดตา ฝันร้าย ย้ำคิดแต่เรื่องเดิม ๆ

3. หลีกหนีสังคมกลัวที่กว้าง ไม่กล้าเข้าสังคม

4. ตื่นกลัวเกินเหตุฝันร้ายน่ากลัว ควบคุมตนเองให้มีสมาธิไม่ได้ กลัวว่าจะตาย

5. วิตกกังวลมากเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ หวาดกลัวรุนแรง มีความคิดฝังใจ ประสาทมึนชา

6. ซึมเศร้าอย่างรุนแรงรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ท้อแท้ ตำหนิตัวเอง หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ อยากตาย

7. ติดสุรา และสารเสพติด

8. มีอาการทางจิตหลงผิด ประสาทหลอน ฯลฯ

การมาพบจิตแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอจนป่วย แค่เรารู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากมีคนช่วยคิด หรือบางครั้งเราอยากให้ใครฟัง บางทีเราเจอความยากที่มันกระทบจนกลายเป็นความเครียด ความไม่สบายใจที่มันหนักกว่าปกติ ก็มาพบนักจิตวิทยาได้แล้ว

หากมีปัญหาสุขภาพจิต โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

อ้างอิง : 1. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ 3. NNT  4. กรมสุขภาพจิต 1/2

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close