มีไข้ อ่อนเพลีย ตาเหลือง ระวัง! ไวรัสตับอักเสบบี ตัวการร้ายก่อมะเร็งตับ

ไวรัสตับอักเสบบี

รู้หรือไม่… ประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของโลกเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และประมาณ 400 ล้านคนกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง! จะเห็นได้ว่าโรคนี้เป็นภัยเงียบที่คุกคามมนุษย์เรามาโดยตลอด ผู้ป่วยหลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ก็อาจสายเกินแก้เสียแล้ว ฉะนั้นอย่าประมาทไป มาเรียนรู้กันว่า ไวรัสตับอักเสบบี มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และป้องกัน อย่างไร…

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

รู้จักกับโรคติดต่อ “ไวรัสตับอักเสบบี” สาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดมะเร็งตับ!

ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus : HBV) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังได้ หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และร้ายแรงสุดคือเป็น มะเร็งตับ (Lung cancer) ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ 90% มีประวัติเป็นโรคไวรัสตับอักเสบมาก่อน

เชื้อไวรัสชนิดนี้จะอยู่ในเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะ และสามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้อื่นได้ เชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีระยะฟักตัวเฉลี่ยประมาณ 75 วัน (30-180 วัน) เชื้อสามารถแบ่งตัวได้ภายใน 30-60 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ ซึ่งเชื้อยังอยู่ในร่างกาย และสามารถพัฒนาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง

ข้อควรรู้ :

  • ไวรัสตับอักเสบมีด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี แต่ไวรัสที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ “ไวรัสตับอักเสบบี”
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคตับอักเสบ และรับรู้ถึงวิธีการป้องกันตนเองจากโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างถูกต้อง

ไวรัสตับอักเสบบี

สถิติชี้! คนไทยป่วยไวรัสตับอักเสบบีหลักล้านคน

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์  ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า

กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ปัจจุบันมี 2.2 ล้านคน ซึ่งยังไม่มียารักษา แต่มียาช่วยไม่ให้ตับถูกทำลาย ซึ่งทางที่ดีที่สุดเราต้องคัดกรองให้เร็ว และหากกลุ่มไหนฉีดวัคซีนได้ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกัน กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีในไทยเฉลี่ยพบ 4-5% โดย 90% หายขาดได้ แต่มี 10% เป็นเรื้อรัง และในระยะยาว 20-30 ปี พบ 10% อาจลุกลามตับแข็ง หรือมะเร็งตับ

ขอเน้นย้ำผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือคนเกิดก่อนปี 2535 ขอให้ไปตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถไปตรวจได้ในรพ.ทุกแห่ง แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

ถามว่าทำไมคนเกิดก่อนปี 2535 ถึงเป็นกลุ่มเสี่ยง สาเหตุก็เพราะในยุคนั้นยังไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน แต่หลังปี 2535 เป็นต้นมา เด็กที่เกิดมาจะได้รับการฉีดวัคซีนในชุดสิทธิประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว

อาการสำคัญของโรคไวรัสตับอักเสบบี

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้ 3 ระยะ คือ

อาการระยะที่ 1 ตับอักเสบเฉียบพลัน – ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือน หลังติดเชื้อ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้องด้านชายโครงขวาจากการที่ตับมีขนาดโตขึ้น ปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลือง ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะนี้จะมีโอกาสหายเป็นปกติสูงร้อยละ 90 – 95 และมีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น ที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้

อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน

อาการระยะที่ 2 ตับอักเสบเรื้อรัง – ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการของโรค (จนกว่าจะเกิด ตับแข็งระยะท้าย) มักไม่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีอาการตัวตาเหลือง การตรวจร่างกายอาจเป็นปกติ ดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยดูการอักเสบของตับจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติในการทำงานของตับได้ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่มีอาการ และเซลล์ตับได้รับการทำลายมาก ๆ จะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด และอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อาการระยะที่ 3 ตับแข็ง – ในระยะแรกจะไม่มีอาการ อาจมีเพียงอ่อนเพลียกว่าปกติ หากมีอาการมากนั่นหมายถึงตับเริ่มเสื่อมลง โดยผู้ป่วยส่วนมากที่มาพบแพทย์จะมาเพราะอาการแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด เท้าบวม ท้องบวม หรืออาจเป็นมะเร็งตับ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือเปล่า?

ในเบื้องต้นสามารถทำเองได้โดยการสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง หรือคาดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ก็ควรมาพบแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ตับ และการตรวจพังผืดในตับ (Fibroscan) เป็นต้น

ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อทางไหนได้บ้าง?

  • มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน คือ การติดต่อที่สำคัญที่สุด (สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์)
  • ติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด พบได้บ่อย แต่แก้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้ทารก
  • การสัมผัสน้ำคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง ทางแผลเปิดตามร่างกาย
  • ใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ เข็มสัก เข็มฉีดยา เป็นต้น
  • จากการได้รับเลือด แต่พบน้อยมากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไม่ติดต่อทางน้ำลาย หรือการสัมผัสภายนอก ดังนั้นการกินอาหารร่วมกัน หรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เข้าห้องน้ำห้องเดียวกัน จึงไม่ใช่ทางติดต่อ แม้จะรับประทานอาหารร่วมกัน ยกเว้นมีแผลในช่องปาก หรือไรฟัน ดังนั้นผู้ที่เป็นพาหะ หรือผู้ที่เป็นโรคนี้จึงสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ

สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

โรคนี้มักพบแบบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ภายใน 10 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรค และมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น โดยเฉพาะในระยะเฉียบพลันมีโอกาสหายขาดได้ประมาณ 90-95 เปอร์เซนต์

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ หรือเรียกว่า “ตับอักเสบเรื้อรัง” ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปได้ นอกจากนี้ ผู้เป็นพาหะมีโอกาสเกิดโรคเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติถึง 100 เท่าเลยทีเดียว

ไวรัสตับอักเสบบี

โรคไวรัสตับอักเสบบี ต้องรีบรักษาก่อนลุกลามเป็นมะเร็งตับ!

เป้าหมายการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี คือ การยับยั้งการทำลายเซลล์ตับ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมา เช่น ตับแข็ง ภาวะตับวาย และมะเร็งตับ

การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ต้องรักษาตามระยะดังนี้

  1. ระยะสงบ จะติดตามผลเลือดเป็นระยะอย่างน้อยทุก 3-6 เดือน เพื่อเตรียมตัวรักษาเมื่อมีการอักเสบ โดยระยะที่ตับยังไม่อักเสบจะยังไม่มีการใช้ยาต้านไวรัส
  2. ระยะตับอักเสบ จะตรวจปริมาณไวรัส และรักษาโรคโดยการใช้ยาฉีด หรือยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน
  3. ระยะที่มีตับแข็งหรือระยะที่มีมะเร็งตับ จะพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน
  4. การรักษาในกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ป่วยที่เตรียมรับยาเคมีบำบัด จะมีการพิจารณารักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับทาน

“วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี” คือ พระเอกที่ช่วยป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคเกี่ยวกับตับ

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ เรียกว่าเกิดมาก็ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ก่อนเลย และยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้อีกด้วย สำหรับคนทั่วไป การฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ช่วยสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต

บุคคลที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

  • ทารกแรกเกิดทุกคน และผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนแรกเกิด
  • ผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี
  • ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
  • บุคคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล
  • ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย ๆ
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น รักร่วมเพศ หรือมีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น

วิธีดูแล และป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

  • ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยกลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กแรกเกิด
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น ต่างหู แปรงสีฟัน เป็นต้น
  • ต้องป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ด้วยการใส่ถุงยางอนามัย
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น
  • เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเจาะ สักผิวหนัง

 

อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 1/2 2. รพ.ศิครินทร์ 3. hfocus 4. รพ.กรุงเทพ 5. โรงพยาบาลเพชรเวช 6. รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ 7. สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close