มีลูกตอนอายุมาก เสี่ยงอะไรบ้าง ดูแลตัวเองอย่างไรดี?

มีลูกตอนอายุมาก

หลายครอบครัวกว่าจะตัดสินใจแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก อายุก็ล่วงเลยเข้าเลข 3 วัยนี้ถึงจะเป็นวัย 30 ยังแจ๋ว แต่หากเรื่องการจะมีลูก นอกจากปัญหามีลูกยากแล้ว ยังอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะ มีลูกตอนอายุมาก ต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่ทั้งแม่ และลูกอาจจะเจอกับความผิดปกติต่าง ๆ เพิ่มขึ้นกว่าตอนอายุน้อย ๆ

มีลูกตอนอายุมาก คือ อายุเท่าไหร่ ?

วัย 30 ของผู้หญิงสมัยนี้ ห้ามเรียกว่าแก่ หรือมีอายุเด็ดขาด แต่ถ้าพูดถึงการมีลูก การตั้งครรภ์ของสตรีอายุมาก (Advanced maternal age) นั้น หมายถึง ผู้หญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงทางการแพทย์สูงขึ้น ทั้งต่อตัวเอง และทารกในครรภ์

วัยที่เหมาะสมกับการมีลูก

วัยที่เหมาะสมในการมีลูกมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 20-29 ปี และจะค่อยๆ ลดคุณภาพลงตั้งแต่อายุ 30 ปี และต่ำลงมากในช่วงหลังอายุ 35 ปีเป็นต้นไป

รู้หรือไม่! มีลูกตอนอายุมาก มีโอกาสได้ลูกแฝด

การตั้งครรภ์ตอนอายุมากจะมีโอกาสมีลูกแฝดเพิ่มขึ้น ทั้งตั้งครรภ์เอง และ ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นมากในสตรีอายุมากกว่า 40 ปี แต่ถึงจะมีลูกแฝด แต่ในการตั้งครรภ์แฝดตอนอายุมาก จะมีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์น้อยกว่า และมีผลการตั้งครรภ์ที่ดีกว่าผู้หญิงอายุน้อย

ท้องตอนอายุมาก เสี่ยงอะไรบ้าง?

– ไข่ฝ่อ มีลูกยาก ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีลูกยาก และส่งผลต่อความผิดปกติของลูกด้วย เพราะผู้หญิงเกิดมาพร้อมจำนวนไข่ในรังไข่ที่มีจำกัด เมื่ออายุมากขึ้น ไข่บางส่วนจะฝ่อสลายไปบ้าง และเมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเหลือไข่ที่มีความสมบูรณ์ยิ่งน้อยลง รวมถึงเพิ่มความโอกาสและความเสี่ยงที่ตัวอ่อนมีความผิดปกติเพิ่มขึ้นด้วย อาจจะเรียกได้ว่า การแก่ตัวของไข่ (ovarian aging)

– เสี่ยงแท้ง ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูกเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มเพิ่มขึ้นสูงขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป อาจแท้งได้ทั้งตัวอ่อนที่มีชุดโครโมโซมปกติและผิดปกติ มักเกิดการแท้งในช่วงอายุครรภ์ 6 – 14 สัปดาห์ สาเหตุเกิดจากคุณภาพไข่ที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงของมดลูกและฮอร์โมนในร่างกาย

– เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดภาวะนี้ โดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 4-8 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงอายุน้อย เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมที่ทำให้เกิดรกผิดปกติ หรือการทำงานของท่อนำไข่ที่เสื่อมลง

มีลูกตอนอายุมาก

– เสี่ยงความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ แม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป พบว่ามีความเสี่ยงเกิดครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะที่เป็นอันตรายทั้งแม่และลูก เป็นสาเหตุที่ทำให้แม่เสียชีวิตได้ ในกรณีครรภ์เป็นพิษรุนแรงนาน ๆ อาจทำให้ทารกเติบโตช้า เด็กตัวเล็ก ขาดออกซิเจน อาจคลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้

– เบาหวานเสี่ยงลูกพิการ ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น โดยมีโอกาสเพิ่มขึ้น 3-6 เท่าในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่อายุน้อย ซึ่งการมีโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำให้ทารกเสี่ยงมีพัฒนาการร่างกายผิดปกติ พิการ หรือเสียชีวิตได้

– ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม เมื่ออายุมากขึ้น มีโอกาสที่การแบ่งตัวต่อของเซลล์ไข่มีความผิดพลาดได้ และเกิดเป็นเซลล์ไข่ที่มีจำนวนโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งทำให้ลูกที่เกิดมามีภาวะโครโมโซมผิดปกติ หรือ ดาวน์ซินโดรมมากขึ้น

– ทารกน้ำหนักน้อย ทารกมีน้ำหนักน้อย หมายถึง ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปี ขึ้นไป มีอัตราการคลอดทารกน้ำหนักน้อยสูงกว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 20-34 ปี ซึ่งการที่ทารกมีน้ำหนักน้อยตั้งแต่แรกเกิด มีความเสี่ยงการเสียชีวิตช่วงแรกคลอด เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรือมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กที่มีน้ำหนักมากกว่า 2,500 กรัมขึ้นไป

เตรียมพร้อมเมื่อตั้งครรภ์ตอนอายุมาก

มีลูกตอนอายุมาก

ถึงแม้การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า รวมถึงความรู้ต่าง ๆ สมัยใหม่ ก็ทำให้การตั้งครรภ์ตอนอายุ 35 ขึ้นไป ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ถ้าคิดจะมีลูกตอนอายุมาก ขอเพียงวางแผนกันให้พร้อมเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ แล้วอย่ารีรอ เดินหน้าลุยเลย!

– ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ วางแผนไปตรวจร่างกายทั้งภรรยา และสามี เพื่อฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ และดูแลร่างกายให้แข็งแรง พร้อมที่สุด

– ฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ตรงเวลา เมื่อตั้งครรภ์สำเร็จแล้ว ต้องรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อให้คุณหมอคอยตรวจ ติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในครรภ์

– ตรวจคัดกรองเมื่อตั้งครรภ์ อาจจะต้องเพิ่มการตรวจคัดกรองต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ตรวจชิ้นรก เจาะน้ำคร่ำ

– กินวิตามินคนท้อง ตามหมอสั่ง เมื่อตั้งครรภ์คุณหมอจะให้วิตามินคนท้อง แร่ธาตุ หรือที่เรียกว่ายา บำรุงครรภ์มาให้กิน ควรกินอย่างสม่ำเสมอตามหมอสั่ง ถ้ามีอาการผิดปกติเมื่อกินยา ต้องรีบปรึกษาหมอทันที

– โภชนาการต้องพร้อม อาหารนั้นก็กินตามหลักโภชนาการทั่วไปเลย คือ กินให้ครบ 5 หมู่ อาจจะกินเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ก็ต้องเป็นปริมาณที่เหมาะสม คนท้องต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นจากปกติในช่วงไตรมาสที่ 2-3 โดยควรเพิ่มพลังงานอีกประมาณ 340-450 กิโลแคลอรี่

– เน้นโฟเลต ธาตุเหล็ก โฟเลตเป็นวิตามินที่สำคัญ ควรกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะช่วยป้องกันความผิดปกติ หรือทารกพิการได้ โดยระหว่างตั้งครรภ์ ควรได้รับโฟเลต ประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนธาตุเหล็กช่วยพัฒนาตัวอ่อนและรก รวมถึงการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของแม่ตั้งครรภ์ ลดความเสี่ยงโลหิตจาง ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์ ควรได้รับประมาณ 15-30 ไมโครกรัมต่อวัน

– นับลูกดิ้นให้เป็น แม่ท้องต้องคอยหมั่นนับลูกดิ้นเป็นประจำ เมื่อถึงช่วงอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ เพื่อคอยเช็กในแต่ละวันว่าลูกยังแข็งแรงปกติดี

– ถ้ามีความผิดปกติ รีบไปหาหมอ ถ้าพบว่าร่างกายมีความผิดปกติ เช่น เจ็บป่วย ปวดท้อง มีน้ำไหลจากช่องคลอด หรือ ลูกไม่ดิ้น ควรรีบไปหาหมอทันที

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close