เทคนิค “การล้างจมูก” ลดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ไอเรื้อรัง

การล้างจมูก

การล้างจมูก อาจจะดูน่ากลัวเมื่อเห็นตอนแรก แต่จริง ๆ การล้างจมูกทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีปัญหาภูมิแพ้ ไซนัส ไอเรื้อรัง หากทำเป็นประจำจะช่วยลดโอกาสเกิดหวัดในเด็กได้ สุขภาพดีขึ้น หลับสบาย ไม่ตื่นมาน้ำมูกไหลตอนเช้า หรือไอกลางดึก

ยาละลายเสมหะ

ไซนัสอักเสบทำให้ไอเรื้อรัง ได้อย่างไร?

ไซนัสเป็นโพรงอากาศ ซึ่งมีช่องทางออกเล็ก ๆ เข้าสู่จมูก เมื่อเป็นหวัดทำให้มีการคั่งค้างของสารภายในโพรงไซนัสเกิดการอักเสบ เด็กจะมีไข้ น้ำมูกข้นเหลือง หรือเขียวเป็นเวลานาน และเนื่องจากด้านหลังของรูจมูกติดต่อกับคอ น้ำมูกจะไหลไปด้านหลังลงคอ โดยที่หลาย ๆ ครั้ง คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยเห็นว่าลูกมีน้ำมูกออกมาเลย น้ำมูกที่ไหลลงคอนี่เองทำให้ระคายคอ และไอ

การล้างจมูก คืออะไร?

การล้างจมูก เป็นการทำความสะอาดโพรงจมูก หรือไซนัส โดยการใช้น้ำเกลือฉีดล้างเพื่อเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในโพรงจมูก หรือโพรงหลังจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบออก ทำให้โพรงจมูกโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก ปวดจมูก หรือปวดบริเวณไซนัส

การล้างจมูก

ทำไมต้องล้างจมูก ประโยชน์ของการล้างจมูก

– ช่วยล้างน้ำมูก หรือ หนองบริเวณโพรงจมูก และหลังโพรงจมูก ทำให้มีปริมาณน้ำมูกหนอง

– ช่วยบรรเทาอาการหวัดเรื้อรัง ช่วยให้ อาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก ปวดจมูก ดีขึ้น

– ช่วยลดน้ำมูก หรือเสมหะที่ไหลลงคอ

– ช่วยล้าง และช่วยระบายหนองจากไซนัส ลดโอกาสการเกิดไซนัสอักเสบ

– ช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูก และไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลาง หรือลงไปสู่ปอด

– ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และ สารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัส

– ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก

– ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ถ้าใช้น้ำเกลืออุ่นล้างจมูก โดยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้หายใจโล่งขึ้น

– ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง และลดการอักเสบในจมูก

– การล้างจมูกก่อนการพ่นยา หรือหยอดยาในจมูก (ในกรณีแพทย์สั่งยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูกให้ใช้) จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดี มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

– ช่วยชะล้างคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูก ไซนัส หลังการผ่าตัด หรือหลังการฉายแสงออก ทำให้แผลในโพรงจมูก และไซนัสหายเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดพังผืดซึ่งทำให้รูจมูกหรือไซนัสตีบแคบ

– การล้างจมูกก่อนพ่นยาในโพรงจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น และยังช่วยให้ยา
ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย

อุปกรณ์สำหรับการล้างจมูก

1. ลูกยางแดง หรือ กระบอกฉีดยาพลาสติก (Syringe) ขนาด 10-20 ซีซี
2. น้ำยาล้างจมูกทั่วไป ใช้น้ำเกลือปกติ ความเข้มข้น 0.9% หาซื้อได้จากโรงพยาบาล ร้านขายยา
3. ภาชนะสำหรับใส่น้ำเกลือ แก้ว หรือถ้วยสะอาด
4. กะละมัง หรือ อ่างล้างหน้า ภาชนะสำหรับรองรับน้ำเกลือที่มีน้ำมูก หนอง สิ่งแปลกปลอม หรือเสมหะปนออกมาหลังล้างจมูก ที่จะออกมาทางจมูก และปาก
5. กระดาษ หรือ ผ้าขนหนู สำหรับเช็ดน้ำที่เปื้อนหน้าตอนล้างจมูก

วิธีการล้างจมูก ขั้นตอนง่าย ๆ ทำได้เองที่บ้าน

1. ถ้ามีเวลา ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ การอุ่นน้ำเกลือ เพื่อให้น้ำเกลือมีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก หากไม่อุ่นอาจทำให้คัดจมูกหลังล้างได้

2. การอุ่นน้ำเกลือ อาจทำการอุ่นในไมโครเวฟ หรือตั้งไฟให้พออุ่น ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้

3. ล้างมือให้สะอาดก่อนทำการล้างจมูกทุกครั้ง

4. สั่งน้ำมูกออกก่อนล้างจมูก

5. ใช้ลูกยางแดง หรือกระบอกฉีดยา ดูดน้ำเกลือที่อุ่นได้ที่แล้วในขนาดน้อยๆก่อนเช่น ประมาณ 10-15 ซีซี ในผู้ใหญ่ หรือประมาณ 5 ซีซี ในเด็ก

6. ผู้ที่จะล้างจมูกควรนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า และก้มหน้าเล็กน้อยให้อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือซึ่งวางอยู่บนโต๊ะหรืออยู่เหนืออ่างล้างหน้า ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่าหรือจมูกข้างที่คัดน้อยกว่าก่อน

7. นำปลายกระบอกฉีดยา หรือ ลูกยางแดงใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย อ้าปากไว้แล้วหายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นหายใจไว้

8. ดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดยาเบา ๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้า ๆ หลังจากที่น้ำเกลือส่วนใหญ่ออกมาจากจมูกหรือปากแล้ว จึงจะหายใจตามปกติได้ สิ่งสำคัญ ระหว่างที่น้ำเกลือเข้าปากไปในโพรงจมูก จะต้องกลั้นหายใจไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สำลักได้

9. ถ้าเริ่มคุ้นเคยแล้ว ลองล้างให้ทั่วโพรงจมูก โดยดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกทุกทิศทาง เช่น ทางขวา ซ้าย ด้านบนและล่างของโพรงจมูก เพื่อชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออกได้ทั่วทั้งโพรงจมูก

10. การล้างจมูกแต่ละครั้งนั้น ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง ไม่มีน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกอะไรคั่งค้างในจมูก และควรล้างจนกว่าน้ำเกลือที่ออกมาจากจมูกและปาก จะใสเหมือนกับน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก จึงจะหยุดการล้างได้

11. หลังล้างจมูกเสร็จทุกครั้ง ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง

12. ล้างมือให้สะอาด หลังการล้างจมูกทุกครั้ง

การล้างจมูก
http://www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx

ใครบ้างที่ควรล้างจมูก

การล้างจมูก ไม่ได้ทำเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ หรือ ไซนัสอักเสบเท่านั้น คนธรรมดาที่แข็งแรงดี แล้วอยากล้างทำความสะอาดในโพรงจมูกก็สามารถทำได้ ใครบ้างที่ควรล้างจมูก

– คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย
– ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ เป็นหวัด
– ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ
– ผู้ป่วยโรคริดสีดวงจมูก
– ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ
– ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจมูก หรือไซนัส
– ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณจมูก หรือไซนัส

ถึงแม้การล้างจมูก จะมีประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรืออาการหวัด ไอเรื้อรัง สิ่งสำคัญ คือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง หากมีหวัด เป็นไข้ อาการไอ ภูมิแพ้ ควรพยายามรักษา ให้หายให้เร็วที่สุด หรือเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ที่จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น


ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close