ปวดท้องตรงกลาง มีสาเหตุจากโรคอะไร ปวดแค่ไหนควรพบแพทย์?

ปวดท้องตรงกลาง

อาการปวดท้องเป็นอะไรที่ซับซ้อน เพราะในช่องท้องของเราเต็มไปด้วยอวัยวะที่แตกต่างกันมากมาย โดยเฉพาะอาการ “ปวดท้องตรงกลาง” ที่หลายคนมักเป็นกันบ่อย ไม่ว่าจะปวดตรงบริเวณสะดือ เหนือสะดือขึ้นไป หรือปวดทั่ว ๆ ท้อง เป็น ๆ หาย ๆ อาการเหล่านี้จะมีสาเหตุจากอะไร อาจเสี่ยงโรคอะไรบ้าง? GED good life มีคำตอบมาฝากแล้ว ใครกำลังปวดอยู่ มาเช็กอาการกันเลย

ปวดท้องตรงกลาง ไม่หายสักที มีสาเหตุจากอะไร?

1. โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease / Gerd)

หากคุณมีอาการปวดท้องตรงกลาง ร่วมกับอาเจียนเป็นประจำ ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบน ไปถึงบริเวณกลางอก อาจมีสาเหตุจาก โรคกรดไหลย้อน ถามหา ซึ่งเป็นอาการปวดท้องที่เจอได้บ่อยในยุคนี้ เนื่องจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา เครียดกับชีวิตประจำวันเป็นประจำ รวมถึงโรคอ้วน ก็ทำให้ป่วยโรคนี้ได้

อาการสังเกตเบื้องต้น : เช่น เรอเปรี้ยว ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบนไปถึงบริเวณกลางอก บางคนอาจมีอาการไอ สะอึก เจ็บคอบ่อย ๆ ก็มีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : ป่วยโรคอ้วน กินอาหารแล้วชอบนอนทันที สูบบุหรี่จัด ดื่มชา กาแฟ

อ่านเพิ่มเติม -> 8 ต้นเหตุโรคกรดไหลย้อน รู้เท่าทัน ป้องกันได้!

2. โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer – GU)

คือ โรคที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบทำเวลา ทำให้เรามีพฤติกรรมรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง

อาการสังเกตเบื้องต้น : ปวดหรือแสบท้องบริเวณลิ้นปี่เป็น ๆ หาย ๆ แน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้องก่อน หรือหลังรับประทานอาหาร

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : กินอาหารไม่ตรงเวลา ติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ เครียดบ่อย

อ่านเพิ่มเติม -> ปวดท้องบ่อย ให้ระวัง! โรคกระเพาะอาหาร •สาเหตุ •อาการ •วิธีรักษา

3. แพ้อาหาร (Food Allergy)

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องจากการแพ้อาหาร มักมีประวัติการแพ้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง หอบ หืด เป็นต้น ก็จะทำให้แพ้อาหารได้ง่ายด้วย

อาการสังเกตเบื้องต้น : มีอาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ร่วมกับอาการผื่นคัน ไอมีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : ผู้ที่มีประวัติการแพ้ต่าง ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะแพ้อาหารได้ง่าย

4. นิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis หรือ Gallstones)

เป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อาการสังเกตเบื้องต้น : ปวดท้องเหนือสะดือ (ใต้ลิ้นปี่) ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่จะไม่ปวดแสบเหมือนโรคกระเพาะ หน้าซีด ตาเหลือง

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง คนที่อ้วนมาก ๆ ป่วยเป็นโรคเลือดต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม -> คลื่นไส้ ท้องอืด แน่นท้อง หน้าเหลือง อาจเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

5. ลำไส้อักเสบ (Enteritis)

คือการอักเสบของลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ใหญ่ (enterocolitis) เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส การติดเชื้อปรสิต รวมถึงการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็อาจทำให้เกิดลำไส้อักเสบได้

อาการสังเกตเบื้องต้น : ท้องเสีย ปวดท้องบริเวณรอบ ๆ สะดือ ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ มีไข้สูง (หรือไข้ต่ำ) รู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : ผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ มักจะพบในช่วงอายุ 15 ถึง 40 ปี, ดื่มหรือกินสิ่งที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย หรือไวรัส

อ่านเพิ่มเติม -> ลำไส้อักเสบ หายยากไหม สามารถกินอะไรได้บ้าง?

6. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome – IBS)

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ได้แก่ ปลายลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก ที่มีการบีบตัวมากเกินไป ส่งผลให้มีอาการปวดเกร็ง หรืออึดอัดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับมีอาการท้องเสีย หรือท้องผูก

อาการสังเกตเบื้องต้น : ปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็น ๆ หาย ๆ ท้องเสีย หรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก ท้องอืด แน่นท้อง ปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย หรือใต้สะดือ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : ผู้ที่มักมีความเครียดบ่อย เพราะอาการมักกำเริบเมื่อมีความเครียด ผู้ที่ชอบทาน ชา กาแฟ ผลไม้ตระกูลส้ม ข้าวสาลี ถั่ว

อ่านเพิ่มเติม -> ท้องเสีย ปวดบิดกลางท้อง ให้ระวัง! โรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

7. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

เป็นโรคปวดท้องเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด ถึงแม้ว่าอาการปวดท้องไส้ติ่งมักจะเป็นอาการปวดที่ด้านขวาของท้อง แต่ทว่าอาการเริ่มแรกนั้น จะเริ่มปวดรอบ ๆ สะดือก่อน

อาการสังเกตเบื้องต้น : เริ่มต้นด้วยอาการปวดท้อง ตอนแรกปวดตรงกลางสะดือ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา จุดปวดนี้ค่อย ๆ ย้ายมาอยู่ที่ท้องน้อยด้านขวา ถ้าเราเอามือกดตรงส่วนนี้ของหน้าท้อง จะยิ่งรู้สึกเจ็บมากขึ้น (ปวดจิ๊ด ๆ ทรมานมากจนแทบทนไม่ได้) ผู้เป็นมักจะมีไข้ขึ้น และอาเจียนติด ๆ กัน

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : พบมากในช่วงอายุ 12 – 60 ปี แต่จะพบมากช่วง 10-19 ปี

อ่านเพิ่มเติม -> ไส้ติ่งอักเสบ อาการปวดท้องข้างขวาล่าง ที่ต้องรีบผ่าตัดก่อนไส้ติ่งแตก!

8. ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลัน ทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงในทันที ในรายที่ป่วยรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

อาการสังเกตเบื้องต้น : มีอาการปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน ปวดตลอดเวลาจนหายซึ่งอาจใช้เวลา 3-7 วัน แล้วแต่เป็นมากน้อย และอาการปวดอาจลามไปหลังได้ ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการอ่อนเพลียมาก มีจ้ำเขียวขึ้นที่หน้าท้อง หรือรอบ ๆ สะดือ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี และผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

9. โรคทางนรีเวช (gynecologic diseases)

โรคทางนรีเวช หมายถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานสตรี เช่น มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ปากมดลูก และช่องคลอด

อาการสังเกตเบื้องต้น : ปวดบริเวณท้องน้อยด้านล่าง ตรงกลาง (หรืออาจจะซ้าย-ขวาก็ได้) อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับมดลูก หรือปีกมดลูกในผู้หญิง หรือการสังเกตความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามาก หรือน้อยผิดปกติ มากะปริบกะปรอย เป็นต้น

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : เพศหญิงทุกคน

10. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

อาการปวดท้องในตำแหน่งเหนือหัวหน่าว ปวดแบบหน่วง ๆ หรือปวดท้องน้อย กดที่หน้าท้องแล้วเจ็บ อาจมีสาเหตุจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล ซึ่งเกิดจากการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี

อาการสังเกตเบื้องต้น : ปวดท้องน้อย ร่วมกับมีอาการปัสสาวะแสบ ขัด สีขุ่น ปัสสาวะบ่อยแบบกะปริบกะปรอย หรือปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก แสบขัดขณะปัสสาวะด้วย ให้สงสัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบไว้ก่อนเลย

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง : มักพบมากในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี (สำหรับผู้หญิงก็เสี่ยงเป็นอาการที่เกี่ยวกับมดลูก และประจำเดือนอีกด้วย), การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • รู้สึกปวดท้องเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • อาการปวดค่อนข้างรุนแรง และนานกว่า 24 ชั่วโมง เช่น ปวดมากจนนอนไม่หลับ ปวดจนกินอาหารไม่ได้ เป็นต้น
  • ปวดท้องบิดในลักษณะที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่หายไปภายใน 6 ชั่วโมง
  • ปวดท้องและอาเจียนอย่างมาก มากกว่า 3-4 ครั้ง
  • มีไข้มากร่วมกับอาการปวดท้อง หรือ ปวดท้องร่วมกับหอบเหนื่อย
  • อาการปวดกระจายจากช่องท้องไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดท้องทะลุร้าวไปที่หลัง เป็นต้น

 

อ้างอิง : 1. doctorshealthpress 2. สสส. 3. clevelandclinic 4. hellokhunmor 5. รพ. พระราม9 6. bangkokhealth 7. mordeeapp

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close