คลื่นไส้ ท้องอืด แน่นท้อง หน้าเหลือง อาจเสี่ยงเป็น… “นิ่วในถุงน้ำดี”

นิ่วในถุงน้ำดี

สุขภาพก็ปกติดี เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ แต่แล้วจู่ ๆ ก็มีอาการปวดท้องอย่างหนัก หน้าซีด หน้าเหลือง ไปหาหมอได้ยาฆ่าเชื้อ แก้ปวดมา กลับบ้านมากินก็หายแหละ แต่พอยาหมดฤทธิ์เท่านั้นล่ะ อาการปวดท้องก็ยังกลับมาเป็นอีก! สุดท้ายไปตรวจสุขภาพ ทำอัลตร้าซาวด์จึงรู้ว่าเป็น “นิ่วในถุงน้ำดี” !!!

นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร? มาทำความรู้จักกัน

นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดี หรือ โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis หรือ Gallstones) – เป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นิ่วที่เกิดขึ้นมักจะมีขนาดแตกต่างกันไป และอาจเกิดขึ้นเพียงก้อนเดียว หรือ หลายก้อนก็ได้ แล้วแต่บุคคล

นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ๆ อาจมีสีขาว เหลือง หรือเขียว ในถุงน้ำดี เกิดจากการตกตะกอนของหินปูน (แคลเซียม), คอเลสเตอรอล, และ บิลิรูบิน (เป็นของเสียส่วนเกินในน้ำดี) ที่มีอยู่ในน้ำดี โดยเชื่อว่า การติดเชื้อของทางเดินน้ำดี คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารทั้ง 3 อย่างดังที่กล่าวไป


นิ่วถุงน้ำดี มี 2 ชนิดหลัก ได้แก่

1. นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยกว่าชนิดที่ 2 มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี

2. นิ่วจากเม็ดสี (pigment stones) มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง โลหิตจาง หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด โดยนิ่วชนิดนี้ จะมีลักษณะเป็นสีดำคล้ำ

สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

1. มาจากการสะสมน้ำดีจนตกตะกอนเป็นนิ่ว

2. ดื่มน้ำน้อย บวกกับทานอาหารที่มีไขมันมาก

3. ภาวะอ้วน เพราะความอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มขึ้น

4. การได้ยาลดไขมันบางชนิด ทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง

5. พันธุกรรม ถ้าคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี โอกาสเสี่ยงที่เราจะเป็นก็มีมากขึ้น

6. โรคเบาหวาน ถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

7. การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น และถุงน้ำดีบีบตัวลดน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น โอกาสเกิดการตกตะกอนก็มากขึ้นนั่นเอง

8. กินปลาน้ำจืดดิบ เพราะมีพยาธิใบไม้ในตับ แล้วพยาธิอาจตายในถุงน้ำดี จากนั้นแคลเซียมก็มาจับเป็นก้อนนิ่วได้


อาการที่น่าสงสัยของผู้เป็น โรคนิ่วในถุงน้ำดี

ผู้ที่เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ส่วนมากจะเริ่มมีอาการปวดท้องนำมาก่อน บางคนคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ หรือ แค่ปวดท้องธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นโรค นิ่วในถุงน้ำดี

1. มีอาการปวดท้อง แต่ไม่ถ่าย ไม่ใช่ท้องเสีย จะปวดบริเวณกลางหน้าอกแถวลิ้นปี่ ถ้าปวดน้อยก็จะแค่ท้องอืด แต่ถ้าปวดมากจะอันตราย ถึงขั้นถุงน้ำดีแตก และเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

2. หน้าซีด ตาเหลือง มักเกิดหลังจากมีอาการปวดท้อง และมักจะมีการอาเจียนร่วมด้วย

3. มีไข้ตัวร้อน อ่อนเพลีย หนาวสั่น นอนซมทั้งวัน และอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วย

4. ปวดท้องใต้ชายโครงขวา มีปัสสาวะมีสีเข้ม

5. อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เสียดแน่นท้อง

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย

1. แพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ และมีการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ

2. ทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน โดยขั้นตอนอัลตราซาวด์ จะเห็นชัดเจนแล้วว่า มีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ดีที่สุด

นิ่วในถุงน้ำดี

วิธีการรักษาโรค นิ่วในถุงน้ำดี

การผ่าตัดเอานิ่วในถุงน้ำดีออก ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด และหมอมักจะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำดีออกทุกราย โดยการผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี

1. ผ่าตัดแบบเดิม โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) ปัจจุบันจะเลือกใช้ในการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมาก หรือ แตกทะลุในช่องท้อง

2. ผ่าตัดภายใต้กล้อง โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) ด้วยเครื่องมือเฉพาะ จากนั้นใส่กล้องเข้าไปเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนทุกมิติ ก่อนจะตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออก วิธีนี้อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่านั่นเอง

โรคนิ่วในถุงน้ำดี หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีการอักเสบ และมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้ ฉะนั้น แพทย์มักจะแนะนำให้รับการผ่าตัด และ ทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ


อาหารหลังผ่าตัด นิ่วในถุงน้ำดี

หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รวมถึงไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม กะทิ เนยเทียม

ในช่วงแรกหลังการผ่าตัดควรเริ่มกินอาหารย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เพื่อป้องกันอาการปวดท้อง ท้องอืด และควรปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม หรือ นึ่ง เพื่อลดการใช้น้ำมัน การเลือกเนื้อสัตว์ ควรเลือกชนิดที่มีไขมันต่ำ และย่อยง่าย ได้แก่ ปลา และไข่ขาว

ยังไม่ควรทานผักดิบ เพราะ ทำให้ท้องอืดได้ง่าย แต่ก็มีผักบางชนิดที่ช่วยย่อยอาหารได้ดี เช่น แตงกวา กระเจี๊ยบ หองแดง แต่ไม่ควรทานปริมาณมาก

ผลไม้แนะนำให้ทาน กล้วยสุก มะละกอสุก ช่วยเรื่องขับถ่ายได้ดี

หลังผ่าตัดไปได้แล้วสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะปรับตัวให้สามารถกลับมาย่อยไขมันได้ตามปกติ สามารถทานพวกไขมันจากปลาที่มีโอเมก้า 3 น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมะกอก เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close