เคลียร์ทุกข้อสงสัย! ถาม-ตอบ เรื่อง วัคซีนโควิด-19 โดยกรมควบคุมโรค

วัคซีนโควิด-19

GedGoodLife เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถาม และข้อสงสัยต่าง ๆ เรื่อง วัคซีนโควิด-19 กันเยอะมาก วันนี้เราจึงได้รวบรวมคำถามสำคัญต่าง ๆ เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด จากกรมควบคุมโรค มาให้ทุกคนได้อ่านกันแล้ว ใครที่กำลังสงสัยเรื่องนี้อยู่ ต้องไม่พลาด!

คำถามทั่วไปเกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19

1. บุคคลกลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับ วัคซีนโควิด-19

ตอบ ประชาชนทุกคนควรได้รับวัคซีน แต่ในช่วงที่วัคซีนเริ่มมีใช้จะมีจำนวนจำกัด กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงก่อน ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐ และเอกชน
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
  3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่มีการระบาด

อ่านบทความ วิธีลงทะเบียน “หมอพร้อม” เวอร์ชั่นใหม่ รับสิทธิ ฉีดวัคซีนโควิด-19


2. กรณีกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว แต่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือเป็นหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่?

ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด 19 ในประชากรที่อายุน้อยกว่า18 ปี เนื่องจากข้อมูลการวิจัยส่วนใหญ่จะทำในประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท BioNTech/Pfizer ที่มีการศึกษาในประชากรที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) ให้สามารถใช้ในประชากรที่อายุ 16 ปีขึ้นไปได้

ส่วนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับ จึงยังไม่ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงนี้ จนกว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้ เว้นแต่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง และประเมินแล้วว่าวัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ รวมทั้งหญิงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นโรคเรื้อรังที่อาการยังไม่คงที่ ควรให้แพทย์ประเมินก่อนฉีด

วัคซีนโควิด-19


3. ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนใดได้บ้าง?

ตอบ ขณะนี้มีการศึกษาวัคซีน AstraZeneza ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปีแล้ว แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และปลอดภัย คาดว่าน่าจะมีข้อมูลที่มากขึ้นเร็ว ๆ นี้

ประเทศอังกฤษ องค์การอนามัยโลกและไทย จึงรับรองให้ใช้ในผู้สูงอายุได้ แต่ในบางประเทศ เช่น เยอรมัน ยุโรป ต้องการรอผลข้อมูลที่มากขึ้นก่อนจะรับรองให้ใช้ได้

ส่วนวัคซีนของ Sinovac ยังไม่มีการศึกษาระยะที่ 3 ในผู้ที่อายุเกิน 60 ปีแต่มีการศึกษาในระยะที่ 2 แล้ว พบว่าผู้ที่อายุเกิน 60 ปี มีภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนสูงพอ ๆ กับผู้ที่อายุต่ำกว่า และมีผลข้างเคียงไม่ต่างกัน คาดว่าวัคซีนชนิดนี้ใช้กับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีได้ อาจพิจารณาให้วัคซีนนี้ได้เมื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และเห็นประโยชน์ที่มากกว่า


4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรรับวัคซีนชนิดใด?

ตอบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวัคซีนใดที่ทำในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะยังอยู่ในช่วงแรกของการวิจัยวัคซีนเหล่านี้

อย่างไรก็ดีการให้วัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 รุนแรง และอาจตอบสนองไม่ดีต่อวัคซีน จึงต้องชั่งประโยชน์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์
น่าจะมากกว่า ก็สามารถให้วัคซีนได้

วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิตอาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของผลข้างเคียงจากเชื้อในวัคซีนน้อยกว่าชนิดเชื้อมีชีวิต


5. มีข้อห้าม และข้อควรระวังอะไรบ้างในการฉีด วัคซีนโควิด-19?

ตอบ วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีน และเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่ จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย

ในช่วงแรก จึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาล หรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที

หากพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้ในวงกว้างอาจสามารถผ่อนคลายให้ฉีดวัคซีนในสถานที่อื่น ๆ นอกจากโรงพยาบาลได้ต่อไป และควรใช้วัคซีนแก่กลุ่มประชากรตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำเท่านั้น

โดยในรายที่อาการทางคลินิกยังไม่คงที่ ต้องผ่านการประเมินโดยแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน


6. เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะทำให้เมื่อเป็นโรค มีอาการรุนแรงน้อยลง หรือไม่?

ตอบ วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่ป้องกันโรครุนแรงได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากได้

จึงยังจำเป็นต้องรักษามาตรการในการป้องกันเชื้อในชุมชน ได้แก่การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางกายภาพ และล้างมือบ่อย ๆ ต่อไป

วัคซีนโควิด-19


7. วัคซีนฉีดแล้วสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ได้หรือไม่?

ตอบ วัคซีนที่ผลิตในปัจจุบันพัฒนามาจากไวรัสที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ลดลง

อย่างไรก็ดีผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป อาจเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ซ้ำในอนาคต


8. หากเคยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ยังต้องมีการฉีดซ้ำเหมือนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่?

ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลวัคซีนโควิด-19 ต่อระดับภูมิคุ้มกันโรคในระยะยาว จึงยังไม่มีคำแนะนำในขณะนี้


9. สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัดหัดเยอรมัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่?

ตอบ เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เลี่ยงการรับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนชนิดอื่น เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิด และวัคซีนที่ต้องการใช้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาเนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสำคัญกว่า


10. หากฉีด วัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว แต่มาทราบภายหลังว่าเพิ่งได้รับวัคซีนอื่นไปก่อนหน้านี้ภายในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ต้องทำอย่างไร?

ตอบ สามารถนับการได้วัคซีนโควิด-19 ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกได้ และให้วัคซีนโควิด-19 ครั้งถัดไป ตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามชนิดของวัคซีนที่ฉีด


11. ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด-19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับ วัคซีนโควิด-19 หรือไม่?

ตอบ สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด-19 มาก่อน แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในร่างกาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งต่อไป และยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้

ดังนั้นจึงควรได้รับวัคซีนโควิด-19 เสมอแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด-19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้น
ระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาให้ฉีดเพียง 1 เข็ม


12. หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ตอบ จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิด มักพบเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามีความปลอดภัย และให้ใช้ได้แล้วก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ในอัตราที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานพยาบาลเสมอ

และเนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ และยังไม่มีข้อมูลการติดตามผลในระยะยาว หากผู้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือไม่มั่นใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ควรแนะนำให้ผู้รับวัคซีนปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และเกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน (Adverse event following immunization)

วัคซีนโควิด-19


13. วัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด/ยี่ห้อ สามารถฉีดสลับกัน (Interchangeable) ได้หรือไม่?

ตอบ ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษารองรับกรณีการฉีดสลับยี่ห้อ จึงยังคงแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกันไปก่อนจนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม


14. คำแนะนำในการปฏิบัติตนของผู้รับวัคซีนโควิด-19

ตอบ ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนควรเน้นย้ำผู้มารับวัคซีนโควิด-19 ว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อทั้งที่มี หรือไม่มีอาการได้ แต่วัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรงได้ดี

ดังนั้นนอกเหนือไปจากการที่ให้ผู้รับวัคซีนรับทราบข้อมูลของวัคซีน ผลข้างเคียง และอาการที่ต้องมาพบแพทย์แล้ว ผู้รับวัคซีนยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่

  • การสวมหน้ากากอนามัย
  • การล้างมือ
  • การรักษาระยะห่างทางสังคม
  • และการกักตัวอย่างเคร่งครัดหากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคโควิด-19
  • และควรมาพบแพทย์เพิ่มเติมเพื่อตรวจวินิจฉัย หรือทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

หากมีอาการดังต่อไปนี้ หลังได้รับวัคซีน รีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน

• ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง
• เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือ หายใจไม่ออก
• อาเจียน มากกว่า 5 ครั้ง
• ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก
• มีจุด (จ้ำ) เลือดออกจำนวนมาก
• ใบหน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว
• แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้
• ต่อมน้ำเหลืองโต
• ชัก หรือหมดสติ


การประเมินภาวะสุขภาพผู้ขอรับบริการวัคซีนโควิด 19

1. คุณอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช่หรือไม่?
ถ้าใช่: ห้ามฉีดวัคซีน

2. คุณเคยมีประวัติแพ้วัคซีน หรือ แพ้ยา หรือส่วนประกอบของวัคซีน อย่างรุนแรง
ถ้าใช่: ห้ามฉีดวัคซีน

3. คุณเคยได้รับการถ่ายเลือด พลาสมา ผลิตภัณฑ์จากเลือด ส่วนประกอบของเลือด อิมมูโนโกลบูลิน ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสำหรับการรักษาโควิด-19 ภายใน 90 วันที่ผ่านมา
ถ้าใช่: ห้ามฉีดวัคซีน

4.คุณได้ตรวจพบเชื้อโควิด 19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา
ถ้าใช่: ห้ามฉีดวัคซีน และแนะนำให้มารับวัคซีนโควิด 19 หลังจากการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน

5. คุณมีโรคประจำตัวที่อาการยังไม่คงที่ ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น เป็นต้น
ถ้าใช่: ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

6. คุณมีอาการเกี่ยวกับสมอง หรือ ระบบประสาทอื่น ๆ
ถ้าใช่: ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

7. คุณอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร หรือ วางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือไม่?
ถ้าใช่: ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

8. ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ถ้าใช่: โปรดปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน

9. คุณมีภาวะเลือดออกง่ายหรือหยุดยากเกล็ดเลือดต่ำการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือ ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ถ้าใช่: โปรดปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน

10. คุณมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือ นอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน
ถ้าใช่: ให้เลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน และโปรดปรึกษาแพทย์

11. คุณกำลังมีอาการป่วยเช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก อ่อนเพลียกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ถ้าใช่: หากมีไข้หรือเจ็บป่วยควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อยไม่มีไข้สามารถรับวัคซีนได้ หรือ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน


อ้างอิง : แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 กรมควบคุมโรค

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close