โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 มาจากไหน มีอาการยังไง แพร่เร็วหรือไม่?

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16

แพทย์ไทยออกโรงเตือน! โควิดสายพันธุ์ใหม่ “XBB.1.16” กำลังระบาดทั่วโลก และจะเป็นสายพันธุ์หลักประจำปี 2023 นี้ ส่วนศูนย์จีโนมฯ คาดอีก 2-3 เดือน  สายพันธุ์ XBB 1.16 ครองพื้นที่แน่นอน ล่าสุดไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว… มาเช็กกันว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 จะร้ายแค่ไหน ก่อให้เกิดอาการอะไรบ้าง และใครคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ GED good life รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว!

ดีคอลเจน ชนิดเม็ด (Decolgen tablets) บรรเทาหวัด น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้

รู้จักกับโควิด XBB.1.16 วายร้ายตัวใหม่!

“XBB.1.16” หรือ “อาร์คทัวรัส (Arcturus)” หรือ “สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว” ที่แพทย์ทั่วโลกกำลังจับตามองขณะนี้ คือโควิดสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 และกำลังกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักระบาดแทนที่โควิดโอไมครอน

นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการพิเศษพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสาร ประจำศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ” โควิด XBB.1.16 มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามในตำแหน่งที่สำคัญ ราว ๆ สามจุด ทำให้มันมีศักยภาพหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ๆ เกาะเซลล์ได้ดีมากๆๆๆ และมีความสามารถในการกลายพันธุ์ได้ง่ายมาก ๆ ด้วย ”

“มันติดง่ายมาก คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว คนที่เคยเป็นโควิดมาแล้ว สามารถเป็นได้อีกครับ นั่นทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลของประเทศไทย ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะวันที่ 9 – 15 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 435 คน เฉลี่ยวันละ 62 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา”

หมอธีระเผย โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ หมอธีระ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสมรรถนะของ ‘โอไมครอน’ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ที่ล่าสุดพบว่ามีการแพร่ระบาดแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก ไว้ดังนี้

“XBB.1.16 นั้นได้รับการพิสูจน์จากทีมมหาวิทยาลัยโตเกียวแล้วว่า มีสมรรถนะการแพร่ ซึ่งประเมินค่า Effective reproductive number (Re) มากกว่า XBB.1 ราว 27% หรือ 1.27 เท่า และมากกว่า XBB.1.5 ซึ่งครองการระบาดทั่วโลกในปัจจุบันราว 17% หรือ 1.17 เท่า โดยมีระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอ ๆ กัน ซึ่งตระกูล XBB.x นั้นดื้อกว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยเดิม ๆ ที่เคยระบาดมาก”

“เรื่องความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่จากสถิติในอินเดีย ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าสายพันธุ์ใด ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย”

ณ ตอนนี้ โควิดสายพันธุ์หลักในไทย คือ XBB.1.5

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น”

นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่า โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BN.1.3  ประมาณ 148% และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ 90% คาดว่า จะเข้ามาแทนที่ BN1.3 และ XBB.1.5 ได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16

อาการโควิด  XBB.1.16 ต่างกับสายพันธุ์เดิมอย่างไร?

นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ได้ชี้แจงถึงอาการของโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า อาการของอาร์คทัวรัส ยังคล้ายกับการติดเชื้อโควิดอื่น ๆ ที่ผ่านมา ลักษณะเด่น นอกจากไข้ ไอ มีน้ำมูก อ่อนเพลียแล้ว เท่าที่มีโอกาสได้คุยกับคนไข้ ก็คือ

  • อาการตาแดง เนื่องจากเยื่อบุตาอักเสบ
  • ขี้ตาเหนียว ลืมตาไม่ขึ้น
  • อาการไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • และอาการเจ็บคอมาก ๆ เหมือนมีดบาดครับ

ส่วนทางด้าน นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวถึงอาการของโควิด XBB.1.1.16 ไว้ดังนี้

“สำหรับอาการไม่แตกต่างกันมาก แต่มีประเด็นคือ อินเดียมีรายงานโดยเฉพาะเด็ก คือ มีอาการตาแดงแล้วคัน หรือ Sticky Eyes ตาลืมไม่ค่อยได้ ตาเหนียว แต่ไม่มีหนอง พบอาการขึ้นมาได้ แต่มากน้อยเท่าไรไม่ทราบ เนื่องจากยังไม่มีการเก็บสถิติว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ใหญ่ก็มีได้ อย่างที่ดาราคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็เป็น” นพ.ศุภกิจกล่าว

ฉะนั้น ใครที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่แออัด หรือพบปะผู้คนเป็นประจำ หรือมีอาการป่วย มีไข้หวัด แนะนำให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง?

  • กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ได้แก่
    • โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคไตวายเรื้อรัง
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคอ้วน
    • โรคมะเร็ง
    • โรคเบาหวาน
    • และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  • รวมถึงประชาชนที่ไม่ได้รับวัคซีน และไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรง

XBB.1.16 ตรวจ ATK เจอหรือไม่?

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า “การตรวจวินิจฉัยด้วย ATK หรือ RT-PCR ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า เพราะเป็นการตรวจโปรตีนของโควิด-19 ไม่ว่าสายพันธุ์ไหนต้องมีโปรตีนอยู่แล้ว หากมีก็จะขึ้น แต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของ ATK หากเชื้อไม่มากจะหาไม่เจอ ฉะนั้นติดเชื้อวันนี้พรุ่งนี้ตรวจเลยก็เป็นลบ ต้องใช้เวลา 4-5 วัน แต่ RT-PCR ไวกว่า 1-2 วันก็เจอได้ ไม่ว่าสายพันธุ์อะไรไม่แตกต่างกัน ยกเว้น ATK เสื่อม เก็บไม่ดี หมดอายุ”

สุดท้ายนี้ ทุกคนควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะช่วยลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้

อ้างอิง : 1. thaipost 2. workpointtoday 3. synphaet

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close