กระเจี๊ยบเขียว อัศวินแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะ พร้อมสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย!

กระเจี๊ยบเขียว ผักที่หั่นแล้วกลายเป็นดาวดวงน้อย ๆ แต่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือช่องท้อง ควรกินกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำจะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ อย่ารอช้า มาทำความรู้จัก และสรรพคุณดีดีของกระเจี๊ยบเขียวกันดีกว่า ว่าจะมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

มาทำความรู้จักกับ กระเจี๊ยบเขียว กันก่อน

กระเจี๊ยบเขียว มีชื่อสามัญว่า Okra, Lady’s finger, Gombo, Gumbo, Bendee, Quimbamto และยังมีชื่อท้องถิ่นมากมายหลายชื่อ เช่น กระต้าด (สมุทรปราการ), กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือทะวาย ทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ มะเขือขื่น มะเขือมื่น (ภาคเหนือ), ถั่วเละ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น

ทั้งนี้ต้นกระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชพื้นเมืองประเทศเอทิโอเปีย แถบศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา อียิปต์ หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และเอเชียใต้ และสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำเข้ามาในประเทศไทยหลังปี พ.ศ.2416 ปัจจุบันปลูกมากทั้งในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ส่วนใหญ่เพื่อเก็บเกี่ยวฝักกระเจี๊ยบอ่อนที่มีเส้นใยสูงใช้กินเป็นผัก

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูง 40 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร โดยมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  • ลำต้น และกิ่งก้าน มีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบ และผล
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว มีลักษณะกว้างเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่ง แต่ก้านใบจะสั้นกว่า
  • ดอก มีสีเหลือง โคนดอกด้านในสีม่วง
  • ฝัก มีรูปเรียวยาว ปลายฝักแหลม มีทั้งชนิดฝักกลมและฝักเหลี่ยม ซึ่งมีเหลี่ยม 5-10 เหลี่ยม ขึ้นกับพันธุ์ ในแต่ละฝักมีเมล็ด 80-200 เมล็ด
  • เมล็ด มีลักษณะกลมรีขนาดเดียวกับถั่วเขียว เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่มีสีเทา
  • การเจริญเติบโต เจิบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส

กระเจี๊ยบเขียว

คุณค่าทางสารอาหารของกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี อยู่ในปริมาณพอสมควร

ด้วยแคลอรี่ที่ต่ำ และมีกากใยที่สูง ยังทำให้ กระเจี๊ยบเป็นหนึ่งในพืชผักที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะจะช่วยในเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพรระบุว่า กระเจี๊ยบเขียวสามารถช่วยลดเสมหะ บรรเทาอาการไอ และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย

นักโภชนาการได้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบเขียวดิบ ขนาด 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน33 กิโลแคลอรี

มีสารอาหารสำคัญ ประกอบด้วย…

  • คาร์โบไฮเดรต 7.45 กรัม
  • น้ำตาล 1.48 กรัม
  • กากใยอาหาร 3.2 กรัม
  • ไขมัน 0.19 กรัม
  • โปรตีน 1.93 กรัม
  • น้ำ 89.58 กรัม
  • วิตามินเอ 36 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.215 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 23 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม
  • วิตามินเค 31.3 ไมโครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 82 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.62 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 57 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 299 มิลลิกรัม
  • และธาตุสังกะสี 0.58 มิลลิกรัม

สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียว

  • ช่วยเรื่องลำไส้ และระบบขับถ่าย

เส้นใยที่ละลายน้ำ และไม่ละลายน้ำ ของ กระเจี๊ยบเขียว มีคุณสมบัติช่วยการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี โดยเส้นใยที่ละลายน้ำได้ มีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษ และขับถ่ายออกทางอุจจาระ ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างในลำไส้ ลดอาการ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด มะเร็งลำไส้

  • รักษาโรคกระเพาะ และลำไส้อักเสบ

มีรายงานการศึกษาพบว่า สารประกอบไกลโคไซเลตในกระเจี๊ยบเขียว มีฤทธิ์ยับยั้งความสามารถของเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบ็กเตอร์ ไพโลริ (helicobacter pylori) ในการเกาะเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ซึ่งแบคทีเรียตัวนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และแผลจากลำไส้เล็กส่วนต้น จึงทำให้ลดอาการปวดท้องลงได้

การกินฝักกระเจี๊ยบเขียว ช่วยลดอาการ แผลในกระเพาะอาหาร ความเป็นด่างอ่อน ๆ ของฝักกระเจี๊ยบเขียว และเมือกลื่นช่วย ลดกรดในกระเพาะอาหาร ทำได้โดยนำฝักกระเจี๊ยบเขียวตากแห้ง บดให้ละเอียด กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 เวลา หลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตาม

  • ช่วยแก้อาการกรดไหลย้อนกลับ 

เนื่องจากกระเจี๊ยบเขียว เป็นผักที่มีเส้นใยอาหารสูงมาก ๆ ดีกับทางเดินอาหาร และในเมือกที่อยู่ข้างในกระเจี๊ยบเขียว พวกนี้จะมีคุณสมบัติในการ รักษาโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน ได้เป็นอย่างดี

โดยการนำฝักกระเจี๊ยบมาต้มในน้ำเกลือ แล้วใช้กินแก้อาการกรดไหลย้อน

  • ป้องกันมะเร็ง

กระเจี๊ยบเขียว ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ มีโปรเตีนเลคตินอยู่ ซึ่งเป็นสารที่ได้รับการระบุไว้ในงานวิจัยหนึ่งว่า สามารถช่วยลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ 63% และฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกายของมนุษย์ได้ถึง 72% นอกจากนี้ กระเจี๊ยบเขียวยังอุดมไปด้วยโฟเลท และยังมีส่วนช่วยต้านความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย

  • ต้านอนุมูลอิสระ

กระเจี๊ยบเขียวมีกลูตาไทโอน (glutathione) มีบทบาทสำคัญควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างสารซ่อมแซมเซลล์ และทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดในร่างกายช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนิยมใช้สารนี้เพื่อให้ผิวขาวขึ้น เพราะกลูตาไทโอนสามารถกดการทำงานของเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีได้ชั่วคราว

กระเจี๊ยบเขียว

  • เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

โฟเลท ซึ่งพบได้มากในกระเจี๊ยบเขียว เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อหญิงตั้งครรภ์ เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้มากมาย รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อบุตรในครรภ์ด้วย ผู้ที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร จึงควรได้รับโฟเลทอย่างน้อย 400 มิลลิกรัม / วัน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับโฟเลทอย่างเพียงพอ

  • รักษาเบาหวาน

สำหรับผู้ที่ป่วยโรคเบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง เส้นใยที่ละลายน้ำในกระเจี๊ยบเขียว จะช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล และน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย ซึ่งเป็นการช่วยกำจัดไขมันปริมาณสูงที่จับอยู่กับน้ำดีได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในปี 2011 ระบุว่า ผลจากเปลือก และเมล็ดของกระเจี๊ยบเขียว สามารถช่วยรักษาอาการเบาหวานในหนูทดลองได้ โดยหนูทดลองที่ได้รับผงกระเจี๊ยบเขียวเป็นเวลา 1 เดือน มีระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดที่ลดลงมากกว่าหนูที่ไม่ได้รับผงกระเจี๊ยบเขียว

  • ช่วยให้หัวใจแข็งแรง

กระเจี๊ยบเขียวเป็นอาหารที่มีกากใยสูง และการกินอาหารที่มีกากใยสูง สามารถช่วยลดระดับของคลอเรสตอรอลในเลือดได้ จึงเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด และหัวใจได้ด้วยเช่นกัน

  • ขับปัสสาวะ

ในตำรายาแผนโบราณของจีน มีการนำราก เมล็ด และดอกกระเจี๊ยบ สรรพคุณใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนในประเทศอินเดียนั้นจะใช้ฝักนำมาต้มกับน้ำดื่ม เพื่อช่วยขับปัสสาวะเมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเมื่อปัสสาวะขัด (ผล, ราก, เมล็ด, ดอก)

  • ป้องกันกระดูกพรุน

กระเจี๊ยบเขียว อุดมไปด้วยวิตามินเค และแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ ที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ไม่เปราะ ป้องกันอาการกระดูกพรุน และกระดูกหัก

  • ช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด

สารสกัดจากกระเจี๊ยบเขียวด้วยแอลกอฮอล์ สามารถลดจำนวนพยาธิตัวจี๊ดในหนูถีบจักรได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด นอกจากไปพบแพทย์ตามปกติแล้ว จึงควรกินกระเจี๊ยบเขียวติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ร่วมด้วย

  • รักษาแผลสด

ยางจากผลสดของกระเจี๊ยบเขียว สามารถช่วยรักษาแผลสดได้ เมื่อถูกของมีคนบาด ให้ใช้ยางจากฝักกระเจี๊ยบทาแผล แผลจะหายเร็ว และไม่เป็นแผลเป็น นอกจากนี้ ผลอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวจะมีเมือกลื่น ซึ่งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น บางพื้นที่จึงนิยมนำมาพอกผิวหนังที่รู้สึกแสบร้อนจากแผลไหม้แสบร้อน ที่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก


ข้อควรระวังในการรับประทานกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวนั้นกินดี มีประโยชน์ แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างดังต่อไปนี้ ควรระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้รับประทานมากเกินไป

  • คนที่มีปัญหาเกี่ยวลำไส้ หรือระบบทางเดินอาหาร ควรรับประทานแต่พอดี เพราะกระเจี๊ยบเขียวมีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดบีบท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียได้
  • กระเจี๊ยบเขียวมีออกซาเลตสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไต ที่เกิดจากแคลเซียมออกซาเลตได้
  • คนที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรรับประทานกระเจี๊ยบเขียวมากเกินไป เพราะผักชนิดนี้มีวิตามินเคที่ช่วยต้านการเกิดลิ่มเลือด
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการใช้กระเจี๊ยบเขียวช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้อยู่ได้

จะเห็นได้ว่ากระเจี๊ยบเขียวมีสรรพคุณมากมายที่ช่วยรักษาโรค และทำให้เราสุขภาพดีขึ้นได้ แต่การรับประทานมากจนเกินไปก็อาจเกิดผลเสียได้ และควรออกกำลังกายอยู่เสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

อ้างอิง:
1. hkm.hrdi.or.th
2. medthai.com
3. medicalnewstoday.com
4. doctor.or.th
5. chokchai.go.th
7. honestdocs.co

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close