โรคมะเร็งกับผู้สูงวัย ภัยร้ายที่ต้องใส่ใจ ป้องกันให้เป็น!

โรคมะเร็งกับผู้สูงวัย

โรคมะเร็งกับผู้สูงวัย  ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่คนในครอบครัว และผู้สูงวัยเองต้องดูแล ใส่ใจร่วมกัน เพราะ ผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกันมาก เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยสาเหตุหลักมาจาก อายุที่เยอะขึ้น เซลล์ในร่างกายของเรานั้นก็มีความเสื่อม ชรา และมีการกลายพันธุ์ เกิดเป็นก้อนเนื้อที่ควบคุมไม่ได้ จนกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุดนั่นเอง ฉะนั้น ผู้สูงวัยควรดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองให้ดีแต่เนิ่น ๆ ด้วยคำแนะนำดังต่อไปนี้

สาเหตุของ โรคมะเร็งกับผู้สูงวัย

อัตราการเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในผู้สูงอายุ อาจแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ ดังนี้

1. ร่างกาย เช่น

  • การขาดโปรตีน จนทำให้เป็น โรคตับแข็ง จะทำให้กลายเป็น มะเร็งตับ ได้ง่าย
  • มะเร็งบางชนิดมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางกรรมพันธุ์ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งของต่อมไทยรอยด์บางประเภท
  • มะเร็งบางชนิดจะพบมากเป็นพิเศษเฉพาะในผู้หญิงหรือผู้ชาย เช่น มักพบมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ ในผู้ชาย และพบมะเร็งของเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปากมดลูก ในผู้หญิง

2. สภาพแวดล้อม เช่น

  • คลุกคลีกับสารก่อเคมีก่อมะเร็ง เช่น เบนซิน ทำให้เกิดมะเร็งของเม็ดเลือดขาว นิโคตินในบุหรี่ ทำให้เกิดมะเร็งปอด สารหนูอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง ดีดีที ทำให้เกิดมะเร็งของตับ กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุอาจได้รับสารรังสีเอ็กซ์ สารกัมมันตภาพรังสีต่าง ๆ รวมทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด จนอาจทำให้เป็นมะเร็งที่ผิวหนัง
  • เชื้อไวรัส พยาธิ และเชื้อรา เช่น ไวรัสตับอีกเสบบี ทำให้เกิดมะเร็งตับ พยาธิใบไม้ในตับที่พบในปลาดิบ ทำให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดี
  • คุณภาพ และปริมาณของอาหารที่บริโภค มีผลทำให้เกิดมะเร็งได้ในประเภท และระดับที่แตกต่างกัน
  • หากผู้สูงอายุใส่ฟันปลอม หากฟันปลอมไม่กระชับ ทำให้เกิดแผล และไม่รักษา ก็สามารถทำให้เป็นมะเร็งปากได้

โรคมะเร็งกับผู้สูงวัย

4 โรคมะเร็ง ที่พบบ่อยในผู้สูงวัย

สำหรับมะเร็งที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้แก่

  1. มะเร็งตับ
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งเต้านม
  4. มะเร็งลำไส้ใหญ่

เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวดโดยที่ไม่เคยรู้สึกปวดมาก่อน ปวดรุนแรงมาก จนไม่สามารถนอนหลับได้ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ขอให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีโรคมะเร็งซ่อนอยู่

จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้สูงวัยเป็นมะเร็ง

หากพบว่าผู้สูงวัย มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เนื่องจาก มะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

  1. มีตุ่ม ไต ก้อนแข็ง เกิดขึ้นในที่ ๆ ปกติไม่ควรมี โดยเฉพาะที่เต้านม ในช่องท้อง บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ
  2. มีอาการผิดปกติเรื้อรังของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ กลืนอาหารไม่ได้ ท้องผูกสลับกับท้องเสียบ่อยครั้ง ถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรัง
  3. หูด ไฝ ปาน ที่เคยมีอยู่ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนสีไปจากเดิม หรือมีขนาดที่โตขึ้นผิดปกติ
  4. เป็นแผลเรื้อรัง นานกว่า 2 สัปดาห์
  5. มีน้ำเหลือง หรือเลือด หรือสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ออกจากตา หู จมูก เต้านม ช่องคลอด ทวารหนัก
  6. ไอเรื้อรัง โดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือเสียงแหบแห้งเป็นเวลานาน
  7. มีอาการผิดปกติของประจำเดือนในผู้หญิง เช่น มีประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอย
  8. ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม หัวนมถูกดึงรั้งจนผิดปกติ มีเต้านมทั้งสองข้างไม่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือมีขนาดและรูปร่างของเต้านมต่างกัน

อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

  • อาหารมีเชื้อรา เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ถั่วลิสงคั่วป่น พริกแห้ง พริกป่น หัวหอม กระเทียม
  • อาหารมีไขมันสูง เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่และต่อมลูกหมาก
  • อาหารที่ไหม้เกรียม ของเนื้อที่ปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่
  • อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดดิบ ๆ เนื่องจากทำให้เป็นพยาธิใบไม้ในตับ และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในท่อน้ำดีในตับ
  • อาหารที่เค็มจัด อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องที่ใส่เกลือมาก หรืออาหารที่ถนอมด้วยเกลือ ดินประสิว
  • อาหารที่ใส่สารกันบูด และสารปรุงแต่งรส
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารแบบเดิม ซ้ำ ๆ กันทุกวัน
  • เครื่องดื่มที่ร้อนจัด

อาหารที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งในผู้สูงอายุ

  • อาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวกล้อง ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ สามารถช่วยป้องกันสารก่อมะเร็ง ไม่ให้สัมผัสผิวลำไส้เป็ยเวลานาน และลดการดูดซึมสารก่อมะเร็งเข้าสู่เยื่อบุผิวลำไส้ นอกจากนี้ เส้นใยอาหารยังมีคุณสมบัติอุ้มน้ำไว้ทำให้อุจจาระไม่แห้ง และทำให้อุจจาระไม่สะสมอยู่ในลำไส้นานเกินไป
  • อาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง เช่น ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม อย่างฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก แครอต และผักสีเขียวเข้ม ช่วยป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กล่องเสียง และปอด
  • อาหารที่มีวิตามินสูง เช่น ผัก ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มะเขือเทศ ถั่วเหลือง ผลไม้สีเหลือง สีส้ม ช่วยป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ปอด และมะเร็งเต้านม
  • อาหารที่มีซีลีเนียมสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าวสาลี รำข้าว ปลาทูน่า กระเทียม ไข่ เห็ด หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง บร็อกโคลี มะเขือเทศ ซึ่งมีการวิจัยพบว่า สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • ผักตระกูลกะหล่ำ ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ส่วนปลาย กระเพาะอาหาร และอวัยวะระบบทางเดินหายใจ
  • เครื่องเทศต่าง ๆ เช่น กระเทียม ขมิ้น

โรคมะเร็งกับผู้สูงวัย

การดูผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง

  • งดการสูบบุหรี่ รวมถึงการอยู่ใกล้ที่ผู้สูบบุหรี่
  • เน้นการกินอาหารประเภทธัญพืช เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวกล้อง และพืชผักหลากหลายชนิด
  • กินผักและผลไม้มาก ๆ แต่ควรล้างผักและผลไม้นาน ๆ หรือแช่น้ำทิ้งไว้ 15 นาที เพื่อช่วยล้างยาฆ่าแมลงที่ติดอยู่ออกให้หมด
  • เน้นกินอาหารที่มีไขมันต่ำ ลดจำนวนอาหารหมักดอง หรือรมควัน และอาหารที่มีรสจัดให้น้อยลง
  • งดการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่ตับ มะเร็งในช่องปาก รวมถึงมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งหลอดเสียงด้วย
  • ทำจิตใจให้ผ่องใส ลดความเครียด
  • การหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าปกติได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่ ผู้สูงอายุ มีอาการปวดโดยที่ไม่เคยรู้สึกปวดมาก่อน ปวดรุนแรงมากจนไม่สามารถนอนหลับได้ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ขอให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีโรคมะเร็งซ่อนอยู่ ซึ่งแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีวิวัฒนาการดีขึ้นมาก เราสามารถควบคุม แลรักษาตัวโรคมะเร็งต่าง ๆ ให้หายขาดได้แล้ว โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น แล้วอย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อจะได้เป็นร่มโพธิ์ร่มใจให้ลูกหลาน และได้ใช้ชีวิตดีดี อย่างมีคุณภาพไปอีกยาวนาน

อ้างอิง :
1. https://goodlifeupdate.com
2. http://hp.anamai.moph.go.th
3. https://www.matichon.co.th
4. นิตยสาร HealthToday “โรคมะเร็งกับผู้สูงอายุ” กุมภาพันธ์ 2019

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close