ผู้สูงวัยไอเรื้อรัง อ่อนเพลียง่าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง มีวิธีป้องกันอย่างไร?

ผู้สูงวัยไอเรื้อรัง

อาการไอ เป็นอาการทั่วไปที่ใคร ๆ ก็ย่อมต้องเจอ แต่ในผู้สูงวัยหากมีอาการไอมาก ไอบ่อย ร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย ไม่ควรปล่อยละเลย ลูกหลาน หรือตัวผู้ป่วยเองควรรีบหาสาเหตุ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างตรงจุด มาดูกันว่า ผู้สูงวัยไอเรื้อรัง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย สามารถเสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง และจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร?

ผู้สูงวัยไอเรื้อรัง อ่อนเพลียง่าย เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

1. โรคหลอดลมอักเสบ (bronchitis)

โรคหลอดลมอักเสบ มักพบในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โรคนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน และ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ผู้สูงวัยมักจะเสี่ยงเป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง เนื่องจากมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะในรายที่สูบบุหรี่มานาน และเนื่องจากโรคนี้มีอาการใกล้เคียงกับโรคปอดอักเสบ จึงควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อฉายรังสีทรวงอก (chest X-ray) อาจช่วยวินิจฉัยแยกโรคปอดอักเสบได้

อาการ : มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ (และอาจไอเป็นเลือดร่วมด้วย) มีไข้ หอบเหนื่อย เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม -> ระวัง! ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย มีไข้ อาจเสี่ยงเป็น โรคหลอดลมอักเสบ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

2. โรคหลอดลมโป่งพอง (Bronchiectasis)

โรคหลอดลมโป่งพองในผู้สูงอายุมีความชุกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคนี้น่ากลัวตรงที่ว่า หากเป็นแล้วหลอดลมจะเสียหายอย่างถาวร ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงต้องระวังไม่ให้เป็นมากขึ้น ด้วยการรู้จักดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำของแพทย์

อาการ : ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะจำนวนมาก ไอเป็นเลือด โดยเสมหะนั้นอาจมีสีใส สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียว (บางรายอาจไม่มีอาการไอ หรือมีเสมหะเพียงเล็กน้อย) หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ

อ่านเพิ่มเติม -> ไอเรื้อรัง มีเสมหะตลอดเวลา ระวัง! โรคหลอดลมโป่งพอง • สาเหตุ • อาการ • วิธีรักษา

3. ปอดบวม หรือปอดอักเสบ 

โรคปอดบวม เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งในผู้สูงอายุนั้นเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวจะส่งผลต่อชีวิตนั้น มีมากถึง 50% เลยทีเดียว

อาการ : หากพบว่าผู้สูงวัยไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย ล้มง่าย มีไข้สูง ปัสสาวะราด อาจจะเป็นปอดอักเสบได้ ซึ่งจำเป็นต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ในส่วนของการรักษานั้น แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจเลือด และเอกซเรย์ปอด เพื่อยืนยัน และตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาการป่วย

4. มะเร็งปอด (Lung cancer)

ผู้สูงวัย เมื่อมีอาการไอ มักจะไม่บอกกล่าวลูกหลาน และมักซื้อยาแก้ไอมากินเอง โดยไม่รู้ว่าอาการไอที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรกันแน่ พอสุดท้ายไปตรวจถึงได้พบว่าเป็นมะเร็งปอดไปเสียแล้ว ที่อาจสายเกินรักษาได้ (แต่ถ้าพบในระยะแรกก็สามารถรักษาให้หายได้)

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ การสูบบุหรี่, ดมควันบุหรี่, การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง, พันธุกรรม, และสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ เช่น ฝุ่นPM2.5 เป็นต้น

อาการ : โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วมักมีอาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอกตลอดเวลา เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน ปอดติดเชื้อบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

5. โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD)

แม้อาการจุกเสียด แสบร้อนกลางอก และเรอเปรี้ยว จะเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคกรดไหลย้อน แต่อาการไอเรื้อรังก็เป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อยเช่นกัน โดยอาการไอเรื้อรังจากภาวะกรดไหลย้อน เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนลงไปในหลอดลม ทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้ บางกรณีอาจเสี่ยงกับอาการหอบหืด ในผู้สูงวัย 60-70 ปีขึ้นไป จะพบโรคนี้ได้บ่อย เนื่องจากหูรูดกระเพาะอาหารในผู้สูงวัยจะหย่อนมากกว่าปกติ

อาการ : มีอาการไอบ่อย ๆ รู้สึกเหมือนมีเสมหะอยู่ในคอ เป็นอาการที่เกิดจากการที่กรดไหลย้อนอย่างรุนแรง ส่วนอาการอื่น ๆ ก็จะเหมือนกับผู้ป่วยกรดไหลย้อนทั่ว ๆ ไป เช่น แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว รู้สึกขมคอ เจ็บคอ ในบางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อน อาเจียนเป็นเลือด กลืนอาหารลำบาก ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบ เป็นต้น

6. วัณโรค (Tuberculosis : TB)

วัณโรค เป็นโรคติดต่อทางการหายใจ เชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอดไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะเกิดจากการไอ จาม หรือพูด เป็นโรคที่เด็ก หรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าวัยอื่น อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

อาการ : ไออย่างต่อเนื่องประมาณ 8 สัปดาห์ (แต่ไอมาก หรือน้อย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวัณโรคเสมอไป) โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้ง ๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะจนอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอกเวลาไอ มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลียง่าย และน้ำหนักลดลง

7. ผู้ป่วยที่ทานยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันสูง และโรคหัวใจ

ผู้สูงวัยที่เป็นโรคความดันสูง และโรคหัวใจต้องระวังเรื่องการใช้ยา เพราะยาพวก ACE Inhibitor อาจทำให้มีอาการไอเรื้อรังได้ พบได้ราว 2-14% ของผู้ใช้ อาการเกิดในราว 3-4 สัปดาห์หลังใช้ยา อาการจะหายไปเมื่อหยุดยา ยาพวก Beta-Adrenergic Blocking Agent อาจทำให้เกิดการไอในผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืดโดยช่วยทำให้หลอดลมตีบลง

อาการ : อาการไอมักเป็นแบบไอไม่มีเสมหะ เป็นมากในตอนกลางคืน และเวลานอนราบ

ไอบ่อย ไอนาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ด้านไหนบ้าง?

สรีระของผู้สูงอายุในทางเดินหายใจนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงก็คือ ปริมาตรความจุของปอดนั้นจะลดลง ความยืดหยุ่นของเนื้อปอด และหลอดลมก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นเมื่อผู้สูงวัยปล่อยตัวเองให้มีอาการไอบ่อย ๆ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้มากมาย เช่น

  • ปอด – อาจมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มีการอักเสบของหลอดลมมากขึ้น บวมมากขึ้น มีการฉีกขาดเกิดขึ้น
  • สมอง – มีอาการหมดสติ (Cough Syncope)
  • ทรวงอก – เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกซี่โครงหัก (rib fracture)
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ – ปัสสาวะราด ไส้เลื่อน ปวดหลัง พักผ่อนไม่เพียงพอในผู้ที่มีอาการไอมากช่วงกลางคืน
  • ส่งผลต่อสภาพจิตใจ – ทำให้เกิดความกังวลความั่นใจในการเข้าสังคมได้

อาการที่ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์

  • มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ (หรือถ้าไอมาก ไอจนเหนื่อย ให้ไปหาแพทย์ได้เลย ไม่ต้องรอ 2 สัปดาห์)
  • มีอาการไอเป็นเลือด ร่วมด้วย
  • มีอาการที่สงสัยว่า อาจเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย
  • มีอาการไอมาก จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ
  • ไอมาก และผอมลงจนผิดสังเกต

อย่านิ่งนอนใจ! ลูก หลาน หรือคนในบ้านที่มีผู้สูงวัยต้องดูแล ต้องไม่ปล่อยให้ท่านมีอาการไอมาก ๆ เพราะอาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ ดังนั้นหากผู้สูงวัยมีอาการไอมากติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ควรรีบพาเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

วิธีป้องกันไอเรื้อรังในผู้สูงวัย

  • ไม่ว่าช่วงวัยไหนก็ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาได้เมื่อแก่ตัวลง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
  • หมั่นออกกำลังกาย ในผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็ว แกว่งแขนไปมา โยคะ หรือรดน้ำต้นไม้ ออกไปเดินสูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง
  • ฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงวัย เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนอื่น ๆ
  • กินอาหารที่ประโยชน์ เน้นการกินผัก ผลไม้เพื่อเสริมภูมิต้านทาน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้แข็งแรงได้
  • ล้างมือสม่ำเสมอ เพื่อกันเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย
  • เสริมสร้างสภาพจิตใจให้แข็งแรง โดยส่วนนี้ลูกหลานในบ้านก็มีส่วนในการดูแลผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน เช่น ชวนคุยกันบ้าง พากันไปกินข้าวนอกบ้าน หากิจกรรมทำร่วมกัน เป็นต้น

 

อ้างอิง : 1. paolohospital 2. หมอวินัยโบเวจา 3. กรมกิจการผู้สูงอายุ 4. samitivejhospitals 5. bangkokhospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close