“โรคกระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม!

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก เพราะหลายคนมักจะคิดว่าเป็นโรคสำหรับคนสูงวัยเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า กระบวนการสร้างกระดูกจะเริ่มลดลง ตั้งแต่อายุเลย 30 ปี เป็นต้นไป ฉะนั้นลองมาศึกษากันดีกว่าว่า เราควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้คุกคามเราก่อนวัยอันควร

โรคกระดูกพรุน คืออะไร?

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ ภาวะที่เนื้อกระดูกผุกร่อน ไปจากปกติ เนื้อกระดูกอาจลดลงจนถึงขั้นอันตราย จากโครงกระดูกที่เคยแข็งแกร่งอาจเปลี่ยนเป็น โครงกระดูกที่ผุกร่อน พร้อมจะเกิดการแตกหักได้ทุกเมื่อ แม้เพียงแค่การยกของหนัก หรือการถูกกระทบกระแทก เล็กน้อยเท่านั้น

โรคนี้มักพบมากในผู้สูงอายุโดยประมาณ 60 ปีขึ้นไป โดยจะพบปัญหาในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน และเมื่ออายุสูงขึ้น โอกาสกระดูกหักก็จะเพิ่มไปด้วย โดยจะเป็นการทรุดหักของกระดูกสันหลัง, กระดูกสะโพก, และสุดท้าย คือ กระดูกต้นขาหัก

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

โดยปกติเนื้อเยื่อจะมีการเสื่อมสลาย และจะมีการสร้างเสริมได้ตลอดเวลา ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยรุ่น ในช่วงวัยนี้กระดูกจะแข็งแรง เนื่องจากการมีเนื้อกระดูกเพิ่มมากกว่าการสูญเสีย แต่หลังจากนี้คือเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป กระบวนการเสริมสร้างกระดูกจะเริ่มลดลงทั้งเพศชาย และเพศหญิง ซึ่งโดยปกติเพศหญิงจะมีมวลกระดูกน้อยกว่าเพศชาย และเมื่อถึงวัยหมดประจําเดือน เพศหญิง จะยิ่งมีอัตราการสูญเสีย มากกว่าการสร้างกระดูก

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด โรคกระดูกพรุน

  1. ผู้สูงอายุทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยเฉพาะในผู้หญิง
  2. ผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
  3. ผู้หญิงหลังวัยหมดประจําเดือน
  4. ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็น โรคกระดูกพรุน หรือมีประวัติกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
  5. ผู้ที่มีรูปร่างผอมบาง
  6. ผู้ที่ดื่มสุรา หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และผู้ที่สูบบุหรี่จัด
  7. ผู้ที่ได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ไทร็อกซิน ยากันชัก
  8. ผู้ที่มีพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ ไม่ออกกําลังกาย ทํางานนั่งโต๊ะ และผู้ที่ต้องทํางานอยู่ในรม ตลอดเวลา

อาการของโรคกระดูกพรุน

โรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการให้เห็น และผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน มักจะทราบว่าตนป่วยเมื่อมีอาการแสดงไปแล้ว เช่น ตัวเตี้ยลง, หลังค่อม, หรือหลังโกงว่าเดิม และยังมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ อีก เช่น กระดูกแตกหักได้ง่าย, ปวดหลังเรื้อรัง, หลังงอ เป็นต้น

ภาวะกระดูกพรุนนี้ ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินอย่างมาก ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้

การวินิจฉัย

ในปัจจุบันใช้การวัดความหนาแน่นของกระดูก (BMD) โดยการวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 – 2 ปี จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ หรือพยากรณ์โรคกระดูกพรุนได้

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

1. การป้องกันในวัยรุ่น ควรเน้นให้มีการสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุด ด้วยการเพิ่มสารแคลเซียมให้ได้ ในปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกกินอาหารที่มีสารแคลเซียมสูง

2. การป้องกันก่อนหมดประจําเดือน โดยพยายามรักษาปริมาณเนื้อกระดูกให้คงเดิมให้มากที่สุด ด้วยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมากพอ

3. การป้องกันหลังหมดประจําเดือน โดยเน้น การชะลอการถดถอยของเนื้อกระดูก ป้องกันความเสี่ยง ต่อการเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะตําแหน่งที่อาจเกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ กระดูกข้อตะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน

การปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

1. ให้ร่างกายได้รับสารแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ คือประมาณ 800 – 1200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเลือกกินอาหารที่มีสารแคลเซียม เช่น นม เนย ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อยพร้อมกระดูก ปลากระป๋องพร้อมกระดูก กุ้งแห้ง กุ้งฝอย กะปิ ถั่วแดง งาดํา ผักใบเขียวทุกชนิด และอาหารทะเล เป็นต้น

2. เพิ่มการดูดซึมสารแคลเซียม โดยการเพิ่มวิตามินดีในรูปของอาหารหรือยา อาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ นม น้ํามันตับปลา เนยแข็ง เนย ไข่ ตับ เป็นต้น รวมถึงการได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า จะช่วยเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดี ทางผิวหนัง
*** สําหรับยาเสริมแคลเซียมควรกินหลังอาหาร เพื่อกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหารให้หลั่งออกมาย่อยแคลเซียม ส่วนยาเคลือบกระเพาะอาหาร ซึ่งมีภาวะเป็นด่าง จะมีผลทําให้การดูดซึมแคลเซี่ยมลดลง

3. ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และยาบางชนิด เช่น ยาลูกกลอน ยากันชัก

4. ออกกําลังกายสม่ําเสมอเพื่อให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ระบบหัวใจและปอดมีประสิทธิภาพ ในการทํางานเพิ่มขึ้น

5. เพศหญิงที่ ประจําเดือน มาไม่เป็นปกติ หรือหมดประจําเดือนก่อนวัยอันควร ควรได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริม โดยขอรับคําแนะนําจากแพทย์

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นค่อนข้าวสูง และอาจไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ฉะนั้น ใครที่คิดว่ามีอาชีพ หรือ มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ให้รีบบำรุงตัวเอง แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะสายเกินไปนะคะ

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close