“โฟลิก” จัดเป็นวิตามินที่สำคัญที่สุดที่แพทย์ทั่วโลกแนะนำให้สตรีที่กำลังวางแผนมีลูก และสตรีตั้งครรภ์ต้องกิน แต่จะด้วยสาเหตุอะไรนั้น GED good life มีคำตอบรออยู่แล้ว ใครที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์อยู่ ต้องกิน “วิตามินโฟลิก” รอไว้ได้เลย!
- กรดโฟลิก ช่วยเซฟชีวิตทารก วิตามินสำคัญแม่ตั้งครรภ์ต้องกิน
- 9 สารอาหารเสริมพัฒนาการเด็ก สร้างภูมิคุ้มกันและสมองให้แข็งแรง!
- 7 ขั้นตอนเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ อยากมีลูกต้องรู้ไว้!
วิตามินโฟลิก คืออะไร สำคัญต่อลูกในครรภ์อย่างไร?
โฟลิก (Folic acid) เป็นวิตามินบี 9 มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญโปรตีน มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง และมีความจำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์ จึงสามารถป้องกันการพิการแต่กำเนิดได้ การกินวิตามินโฟลิกไม่ใช่แค่ป้องกันการพิการแต่กำเนิดได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการ อ่อนเพลีย ป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจาง ป้องกันโรค NCDs และโรคอัลไซเมอร์ และยังมีประโยชน์อีกมากมาย
พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวย การสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “นอกจากกินวิตามินโฟลิก แล้วธาตุเหล็กก็มีความสำคัญ เนื่องจากหญิงไทยปัจจุบันมีภาวะซีดถึงร้อยละ 20 ซึ่งถ้าแม่ซีดเด็กจะมีไอคิวน้อยลง ดังนั้นการกิน โฟลิกและธาตุเหล็กจะช่วยเสริมในเรื่องของการสร้างเลือด ลดภาวะโลหิตจาง”
เพราะเด็กพิการ 1 คนมีผลกระทบทั้งครอบครัว จึงควรกินโฟลิกไว้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
วิตามินโฟลิก ช่วยลดโอกาสเสี่ยงทารกในครรภ์พิการ
- ลดความพิการแต่กำเนิดโดยรวมลง
- ลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาท
- ลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดลงได้
- ลดความผิดปกติของแขนขาลงไปได้ประมาณ 50%
- ลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ และ โรคไม่มีรูทวารหนัก (imperforate anus)
- ลดโอกาสการเกิดปากแหว่งลงไปได้ประมาณ 1ใน 3
- ลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะการแท้งบุตร และภาวะครรภ์เป็นพิษด้วย
แม่ตั้งครรภ์ควรกินโฟลิกเมื่อไหร่ ?
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เริ่มกินโฟลิกได้เลยตั้งแต่ก่อนตั้งครรถ์ 3 เดือนต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง เพื่อช่วยให้การสร้างหลอดประสาทของตัวอ่อนภายใน 28 วันแรกหลังปฏิสนธิอย่างมีประสิทธิภาพ
ปริมาณโฟลิกที่ควรบริโภคสำหรับแม่ตั้งครรภ์
– คนท้องทั่วไป ควรเสริมด้วยวิตามิน หรือ กรดโฟลิกแบบเม็ด โดยแม่ตั้งครรภ์ ควรกินวิตามินโฟลิกให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม ต่อวัน ทั้งนี้ควรกินไม่ให้เกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะหากร่างกายได้รับกรดโฟลิกมากเกินไป กรดโฟลิกนี้จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของวิตามินบี 12 ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เป็นโรคโลหิตจางได้
– คนท้องที่มีประวัติลูกพิการแต่กำเนิด สำหรับคนท้องที่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ ครั้งก่อน มีทารกเป็นหลอดประสาทไม่ปิด ควรได้รับโฟเลต หรือ กรดโฟลิก 4 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือเพิ่มปริมาณขึ้น 10 เท่า โดยให้ก่อนตั้งครรภ์ 1 – 3 เดือน เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ไม่ควรกินโฟลิกเพิ่มขนาดด้วยตัวเอง
พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“ปริมาณของโฟลิกหรือวิตามินบี 9 ที่ควรได้รับในชีวิตประจำวัน คือประมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน หรือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งวิตามินดังกล่าวที่อยู่ในผักและผลไม้นั้น หากไม่ได้รับประทานแบบสด ๆ ก็จะได้รับปริมาณโฟลิกที่น้อยลง แต่หากมีการรับประทานอาหารและผักผลไม้ที่ถูกต้องจะช่วยให้ได้รับโฟลิกอย่างเพียงพอได้
แต่ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเสริมตัวใดตัวหนึ่งนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า ตามปกติแล้วร่างกายมักจะขาดหลายตัว ซึ่งตามท้องตลาดก็จะมีอาหารเสริมที่เป็นวิตามินรวม ในนั้นก็จะมีโฟลิกปริมาณ 400 ไมโครกรัมเป็นส่วนประกอบด้วยอยู่แล้ว ก็สามารถรับประทานเสริมได้”
ประเภทของ “วิตามินโฟลิก” ที่วางจำหน่าย มี 2 รูปแบบ
1.วิตามินโฟลิกเดี่ยว ๆ เป็นวิตามินโฟลิกอย่างเดียว ขนาด 5 มิลลิกรัม หาได้ตามร้านขายยาทั่วไป
2.วิตามินรวมโฟลิก หรือ วิตามินคนท้อง ซึ่งเป็นวิตามินโฟลิก ที่ผสมรวมอยู่กับวิตามินอื่น ๆ ด้วย เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ฯลฯ เมื่อไปฝากครรภ์คุณหมอมักจะจ่ายยา หรือ วิตามินคนท้อง วิตามินโฟลิกให้ด้วย
อาหารที่มีโฟลิกสูง
นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ควรกินอาหารที่มีโฟลิกสูงเป็นประจำ อาหารที่มีโฟลิกสูง ได้แก่ กุยช่าย ตำลึง ผักกาดหอม กะหล่ำมะเขือเทศ บรอคโคลี่ คึ่นช่าย ตับไก่ วัว หมู ส้ม องุ่น สตรอเบอรี่ เป็นต้น
ทิปส์ สำหรับการกินโฟลิกของคนท้อง
– โฟลิก สามารถกินได้ตลอดช่วงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร หรือสามารถกินรอไว้ได้เลย ถึงแม้จะไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ เพราะเป็นวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
– การกินโฟลิก ไม่ควรกินพร้อมกับยาลดกรด เพราะยาจะขัดขวางการดูดซึม
– แม้ไม่ได้วางแผนมีลูก หรือไม่ได้ตั้งครรภ์ก็กินได้ เพราะโฟลิกช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรค NCDs ได้แก่ เบาหวาน ความดัน หัวใจ ด้วย