กรดโฟลิก ช่วยเซฟชีวิตทารก วิตามินสำคัญแม่ตั้งครรภ์ต้องกิน

กรดโฟลิก

“กินโฟลิกก่อนท้อง ช่วยป้องกันลูกพิการได้” คำกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง และยังเป็นคำแนะนำที่หมอมักบอกแก่ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังมีครรภ์อยู่ด้วย ฉะนั้นเราไปทำความรู้จักกับ “กรดโฟลิก” กันให้มากขึ้น ว่ามีส่วนสำคัญต่อชีวิตลูกน้อยในครรภ์แค่ไหน และควรกินอย่างไรให้ได้ปริมาณตามที่ร่างกายต้องการอย่างเหมาะสม

ทำความรู้จักกับ โฟลิก สุดยอดวิตามินสำหรับแม่ตั้งครรภ์

กรดโฟลิก (โฟลิก แอซิค – Folic Acid) หรือ โฟเลต คือ วิตามินบี 9 ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของตัวอ่อน ช่วยป้องกันความผิดปกติของเลือด และมีส่วนช่วยในการซ่อมแซม DNA ในเซลล์ หากร่างกายได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ระดับโฟเลตในเซลล์ลดลง การเจริญเติบโตของเซลล์ก็จะหยุดชะงักตามไปด้วย ทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดได้

ไม่เพียงแต่การป้องกันความพิการในบุตรเท่านั้น จากการศึกษาในระยะหลังยังพบว่า การรับประทานโฟลิกมีผลดีต่อการมีบุตร อาจช่วยให้มีบุตรง่ายขึ้น ลดภาวะไข่ไม่ตก ภาวะแท้ง รวมถึงพบว่า ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ในผู้มาทำเด็กหลอดแก้วด้วย

โฟลิกเป็นสารอาหารที่มีมากในผักผลไม้สด เช่น ดอกกะหล่ำ มะเขือเทศ แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง องุ่นเขียว สตรอเบอรี่ เป็นต้น แต่โฟลิกจะถูกทำลายได้ง่าย เมื่อถูกความร้อนเป็นเวลานานในการปรุงอาหาร ถ้ากินอาหาร หรือปรุงอาหารไม่ถูกต้อง อาจทำให้ร่างกายได้รับโฟลิกไม่เพียงพอ แพทย์จึงมักแนะนำให้กินในรูปแบบวิตามินเสริมร่วมด้วย

“โฟลิก แอซิค” สามารถป้องกันทารกพิการแรกเกิดได้ถึง 50%

ข้อมูลจาก แพทยสภา โดย นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงความวิเศษของโฟลิก แอซิด หรือโฟเลตไว้ดังนี้

“แม้ตัวอ่อนจะมีพันธุกรรมที่มีโอกาสพิการ แต่ถ้าได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะวิตามินบี 9 หรือที่เรียกว่า โฟเลต หรือโฟลิกแอซิด (Folic Acid) ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ จนไปถึงช่วงตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน ก็จะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดลงได้เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 20-50%

การป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟเลต จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะพิการแรกเกิด จาก 3-4% ให้ลดลงเหลือ 1.5-2% ซึ่งหากเทียบกับสถิติเด็กไทยเกิดประมาณ 800,000 คนต่อปี นั่นเท่ากับว่า การป้องกันด้วยโฟเลตอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ก่อนตั้งครรภ์ สามารถลดจำนวนเด็กพิการลงไปได้ถึงปีละ 15,000 คนเลยทีเดียว”

รู้หรือไม่? ในปี พ.ศ. 2552 องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิดโดยการใช้โฟเลต และในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน แคนาดา และประเทศในแถบยุโรป ได้มีการแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์รับประทานโฟเลตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความพิการแต่กำเนิด

TOP 4 ความพิการในทารกแต่กำเนิด

  1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  2. แขนขาพิการ
  3. ปากแหว่งเพดานโหว่
  4. และกลุ่มอาการดาวน์ (ความผิดปกติของระบบสมองและประสาท) ตามลำดับ

4 วิธีป้องกันไม่ให้เกิดความพิการในทารกแต่กำเนิด

ความพิการแต่กำเนิดปัจจุบันส่วนใหญ่ประมาณ 70% สามารถแก้ไข และรักษาได้ รวมถึงฟื้นฟูให้เด็กสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ด้วย 4 วิธีนี้

  1. การรับประทานโฟเลตตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ จนกระทั่งตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน
  2. การดูแลสุขภาพของมารดา รวมถึงดูแลโรคต่าง ๆ ในมารดาที่เป็นอยู่ให้คงที่
  3. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่าง ๆ ในมารดา
  4. ลดภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่นงดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการใช้สารหรือยาต่าง ๆ ที่มีผลต่อเด็กในครรภ์

กรดโฟลิก

หมอแนะ! ปริมาณโฟลิกที่แม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานต่อวัน

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสาขามนุษย์พันธุศาสตร์ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า

“จำเป็นอย่างยิ่งที่หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่มีโอกาสตั้งครรภ์ ควรกินวิตามินโฟเลต หรือโฟลิกแอซิด ทุกวัน วันละ 1 เม็ด ในปริมาณที่ร่างกายต้องการอย่างเหมาะสม คือ 0.4 มิลลิกรัม หรือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ที่สำคัญ จะต้องรับประทานในระยะช่วงก่อน 6 สัปดาห์ หรือ 1-2 เดือนก่อนตั้งครรภ์ จนถึงตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน

แต่หากยังไม่ตั้งครรภ์ก็ให้กินต่อไปเรื่อยๆ ก็สามารถลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดลงไปได้ 25-50% ลดความพิการของแขนขาลงได้ประมาณ 50% ลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะและโรคไม่มีรูทวารหนักได้ 1 ใน 3 และลดโอกาสการเกิดปากแหว่งลงไปได้ประมาณ 1 ใน 3″

กินโฟลิกมาก ๆ จะมีผลเสียต่อร่างกายหรือไม่?

ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย เพราะโฟลิกแอซิดขับออกทางปัสสาวะ ไม่มีพิษ และไม่สะสมในร่างกายแม้จะทานในปริมาณมาก

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

อ้างอิง : 1. แพทยสภา 2. medparkhospital

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close