
อาการอ่อนเพลียเมื่อตั้งครรภ์ เป็นสัญญาณเริ่มต้นเมื่อเริ่มตั้งท้อง ส่วนใหญ่จะพบในช่วงไตรมาสแรก แต่ในแม่ท้องบางคน ก็มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แทบจะตลอดการตั้งครรภ์เลยทีเดียว
สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะสูงขึ้นกว่าปกติ จึงทำให้รู้สึกหงุดหงิด อ่อนเพลีย ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ หรือบางครั้งก็รู้สึกง่วงนอนมาก ๆ แต่หลับไม่ค่อยสนิท หรือนอนกลางวันมาก ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวลากลางคืนไม่รู้สึกง่วงนอนเท่าใดนัก
โดยทั่วไปพอเข้าไตรมาสที่ 2 อาการอ่อนเพลีย ง่วงบ่อยจะลดลง แต่คุณแม่บางคนอาจยังเพลียเพราะ การดิ้นของลูกในท้อง ทำให้พักผ่อนได้น้อย ประกอบกับช่วงนี้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายของคุณแม่บางคนยังคงสูงอยู่ เพราะฉะนั้นคุณแม่อาจจะนอนไม่หลับได้เช่นกัน
ช่วงใกล้คลอด อาการอ่อนเพลียอาจกลับมาอีก แต่คราวนี้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขยายใหญ่ของหน้าท้อง จึงรู้สึกแน่นท้อง เสียดท้อง ปวดหลัง ตึงเกร็งไม่สบายตัว ทำให้นอนลำบาก นอนไม่เต็มอิ่ม หรือปวดปัสสาวะจนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ก็ทำให้มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ง่วงตอนกลางวันได้
ฮอร์โมนที่สร้างขณะตั้งครรภ์ใหม่ๆ ร่วมกับท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้คุณแม่หายใจไม่ค่อยสะดวก หรือไม่เต็มปอดจึงทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ และง่วงนอนบ่อย
เมื่อตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่จะมีอัตราการหายใจที่เพิ่มมากขึ้น โดยจังหวะของการหายใจจะเร็ว และลึกขึ้น อีกทั้งมดลูกที่เริ่มเกิดการขยายตัวไปตามการเจริญเติบโตของทารกน้อยก็จะมีการเข้าไปเบียดกับปอด และกระบังลม จนทำให้ปอดมีพื้นที่ในการขยายตัวลดลงตาม ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลทำให้ปอดได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย คุณแม่จึงมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรงและหน้ามืดตามมา
อาการคนท้องเกิดขึ้นได้อย่างมากมาย และแม้ว่าความเครียดจะไม่ใช่อาการของคนท้องโดยตรง หากแต่เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดความเครียด วิตกกังวลแล้ว ก็ย่อมทำให้มีอาการนอนไม่หลับ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ จนกระทั่งร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง และหน้ามืดได้ในที่สุด
หากคุณแม่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวกนักก็ย่อมนำมาซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ การสวมใส่เสื้อผ้าแบบที่คับแน่นจนเกินไป ย่อมทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก จนมีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลียและหน้ามืดง่าย
การที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรงและหน้ามืดอยู่บ่อย ๆ บางครั้งก็อาจมีสาเหตุมาจากการที่คุณแม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วก็เป็นได้ ซึ่งโรคบางอย่างก็อาจทำให้มีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ จนทำให้มีอาการดังกล่าวขึ้นได้เช่นกัน
อาการเหนื่อยที่เป็นมาก พักไม่หาย บางครั้งแทบลุกไม่ไหว (อาจมีภาวะโลหิตจาง)
มีอาการมือสั่น ชีพจรเต้นเกิน 100 ครั้ง / นาที แม้ในขณะนอนพัก (อาจเป็นไทรอยด์เป็นพิษ)
รู้สึกมีไข้ (อาจเป็นโรคติดเชื้อที่ใดสักแห่ง)
พักผ่อนให้มากขึ้น เมื่อมี อาการอ่อนเพลียเมื่อตั้งครรภ์ ควรพักผ่อนให้มากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ นอนแต่หัวค่ำ ไม่นอนดึก
พักงีบกลางวัน ควรนอนช่วงกลางวัน หรือหลังรับประทานอาหาร ถ่าทำได้ก็จะทำให้คุณแม่มีอาการดีขึ้นได้
ออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ยืดเส้นยืดสายช่วยฟื้นฟูคุณแม่ ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินสารแห่งความสุขออกมา ทำให้ร่างกายรู้สึกดี กระปรี้กระเปร่าขึ้นได้
ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ตับหมู ไก่ หมู ผักกาดหอม มะเขือพวง มะเขือเทศเมล็ดฟักทอง จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้ ธาตุเหล็กช่วยให้เลือดหมุนเวียนดี ลดความเสี่ยงภาวะโลหิตจาง อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ เต้าหู้ ปลา ไข่ ก็ช่วยซ่อมแซมร่างกาย ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ลดความเหนื่อยล้าได้
งดกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนจะไปกระตุ้นร่างกาย อาจทำให้คุณแม่ไม่หลับ หรือทำให้ตื่นบ่อยขึ้นช่วงกลางคืน นอกจากนี้คาเฟอีนยังทำให้ลูกน้อยในท้องตื่นตัว เตะ ถีบ ไม่ยอมนอน ซึ่งทำให้แม่หลับยาก และร่างกายพักผ่อนน้อยตามไปด้วย
อย่าหักโหมงานหนัก ถ้าเลี่ยงได้ คือควรเลี่ยงงานหนัก หรือ กิจกรรมที่ทำให้เหนื่อยง่าย เช่น การยืน เดินติดต่อกันเป็นเวลานาน
หาคนช่วยแบ่งเบาภาระ หากคุณแม่มีลูกเล็ก ๆ ที่ยังคงต้องดูแล ควรหาคนมาช่วย หรือคุณพ่อคอยช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง เพื่อคุณแม่จะได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้เหนื่อยง่ายจนเกินไป
รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และพลังงานให้สมดุล โดยการกินอาหารบ่อย ๆ ช่วงแรกอาจจะแพ้ท้อง กินอาหารไม่ได้ อาเจียน ก็ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ควรแบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ดื่มน้ำให้เพียงพอ คนท้องควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันการเป็นตะคริวที่ขา ในตอนกลางคืน และไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน
อาการอ่อนเพลียเมื่อตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง การดูแลร่างกายให้แข็งแรง เสริมวิตามินจำเป็นสำหรับคนท้อง เช่น โฟลิก (Folic Acid) วิตามินรวม ธาตุเหล็ก จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้เช่นกัน เมื่อคุณหมอให้ วิตามินบำรุงสำหรับคนท้อง ควรกินเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี