เบาหวานตอนตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน ป้องกันได้อย่างไร

แม่ตั้งครรภ์หลายคนไม่ได้ป่วยเป็นเบาหวานมาก่อน แต่เมื่อตั้งครรภ์ กลับมีโอกาส หรือความเสี่ยงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น เบาหวานตอนตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ทำไมคุณหมอถึงต้องให้ระมัดระวังมากเป็นพิเศษ อันตรายแค่ไหน จะป้องกันได้อย่างไร

สถิติเบาหวานของหญิงตั้งครรภ์

– สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) ประมาณว่า มีหญิงตั้งครรภ์ จำนวนถึง 20.9 ล้านคน หรือ ร้อยละ 16.2 ที่มีภาวะน้ำตาลสูงในเลือด (พ.ศ. 2558) โดย ร้อยละ 85.1 วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (gestational diabetes) และ ร้อยละ 7.4 เป็นเบาหวานชนิดอื่นที่ตรวจพบตอนตั้งครรภ์

– สถิติในคนไทย โรคเบาหวานที่เกิดก่อนการตั้งครรภ์พบได้น้อยกว่าโรคเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ในคนไทยพบประมาณร้อยละ 0.5 ของหญิงตั้งครรภ์ ส่วนโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ พบได้มากถึงร้อยละ 5-20

เบาหวานตอนตั้งครรภ์ มี 2 ประเภท

1. เบาหวานที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ หมายถึง ตรวจพบ หรือ รู้ตัวว่าป่วยเป็นหวานมาตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งหากตัดสินใจตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำการดูแล ปฎิบัติตัวจากคุณหมออยู่แล้ว

2. เบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ หมายถึง ก่อนตั้งครรภ์ไม่เป็นเบาหวาน พอตั้งครรภ์ขึ้นมาทำให้เป็นเบาหวาน

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หมายถึง โรคเบาหวานที่ตรวจเจอครั้งแรกในขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะหมายถึงโรคเบาหวาน ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ โดยรวมถึงโรคเบาหวาน หรือความทนต่อกลูโคสผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ แต่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน โดยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อทั้งตัวแม่ตั้งครรภ์เอง และทารก จึงต้องตรวจคัดกรอง วินิจฉัย เพื่อดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

เบาหวานตอนตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ?

รกสร้างฮอร์โมนต้านอินซูลิน เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างรกขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้อาหารตัวอ่อนหรือทารก รกจะสร้างฮอร์โมนขึ้นมาซึ่งจะต้านฤทธิ์อินซูลิน (อินซูลินมีหน้าที่ลดน้ำตาล) ดังนั้นอินซูลินจึงออกฤทธิ์ได้น้อยลง ฉะนั้นหญิงตั้งครรภ์ทุกคนจึงมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ เพราะมีฮอร์โมนจากรกที่ต้านฤทธิ์อินซูลิน

ใครบ้าง ? เสียงเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์

ถึงแม้ผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน แต่ในบางคนอาจมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่

– ผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี
– อ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย มากกว่า 30)
– มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว
– มีประวัติคลอดลูกน้ำหนักเยอะ มากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป
– มีประวัติแท้งหลายครั้ง หรือทารกเสียชีวิตแรกเกิด ไม่ทราบสาเหตุ

เบาหวานตอนตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน ?

อันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์
– เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ร้อยละ 15-20
– มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด เช่น การคลอดยาก การตกเลือดหลังคลอด เพิ่มขึ้น
– มีโอกาสเป็นเบาหวานซ้ำ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ถึงร้อยละ 35-50
– มีโอกาสเป็นเบาหวานชนิด 2 ถึงร้อยละ 40-60 เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี

อันตรายต่อทารก
– หากแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครภร์ อาจทำให้ทารกที่คลอดออกมาพิการ หรือเสียชีวิตในแรกคลอด (ระยะปริกำเนิด) ได้
– ทารกที่คลอดอาจบาดเจ็บจากการคลอ ดเนื่องจากทารกตัวโตกว่าปกติ (macrosomia)
– เกิดภาวะแทรกซ้อน จากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

การตรวจหา เบาหวานขณะตั้งครรภ์

การตรวจคัดกรอง ใช้วิธีการดื่มน้ำละลายน้ำตาลกลูโลส 50 กรัม หลังดื่ม 1 ชั่วโมง เจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ ตรวจวัดระดับน้ำตาล ถ้ามีค่ามากกว่า หรือเท่ากับ 140 มก./ดล. ถือว่าผิดปกติ ต้องทำการทดสอบต่อไปด้วย การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล หรือ Oral Glucose Tolerance Test (OGTT)

ดูแล รักษาอย่างไร เมื่อเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์ ?

ควบคุมอาหาร
สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ นอกจากนี้การควบคุมอาหาร ยังสามารถลดภาวะแทรกซ้อน และลดอุบัติการณ์การเกิดทารกตัวโตกว่าปกติ โดยการควบคุมอาหาร ทำได้ดังนี้

– รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง โดยแบ่งอาหารเป็น 2 ส่วนคืออาหารมื้อหลัก เช้า เที่ยง เย็น ให้เลือกรับประทานข้าวและกับข้าวที่เน้นเนื้อสัตว์และผักเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอาหารมื้อว่างให้เลือกรับประทานนมและผลไม้

– ควบคุมปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์โบไฮเดรต เลือกรับประทานข้าวซ้อมมือ หรือขนมปังโฮสวีต ซึ่งจะมีใยอาหารมากกว่าข้าวขัดขาว และควรหลีกเลี่ยงข้าวเหนียว เพราะมีพลังงานที่สูง

– เลือกผลไม้สดชนิดหวานน้อย ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะละกอ แอปเปิ้ล สาลี่ แก้วมังกรปริมาณ 2-3 ส่วน/วัน โดยแบ่งทานในแต่ละมื้อ

– หลีกเลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน ไอศกรีม ผลไม้แห้ง น้ำผลไม้ น้ำอัดลม นมรสหวาน นมเปรี้ยว

– หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ลูกชิ้น หมูบด

– หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร ให้ใช้การต้ม ตุ๋น นึ่ง ลวก อบ ย่าง แทนการผัดและทอด

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ควรมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง เป็นประจำ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด

รักษาด้วยอินซูลิน
การรักษาด้วยอินซูลินจะทำเมื่อควบคุมด้วย อาหาร 1-2 สัปดาห์ แล้วไม่ได้ผล คือไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยการใช้อินซูลินร่วมกับการควบคุมอาหารสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดทารกตัวโตกว่าปกติได้มากกว่าการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้อินซูลินยังสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย ทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น และช่วยสังเคราะห์ไกลโคเจน ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง มีคำแนะนำจาก วิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (ACOG) ได้แนะนำให้แม่ตั้งครรภ์ ออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที 3 วัน/สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายด้วย ในบางคนอาจจะออกกำลังกายได้แค่เบา ๆ เช่น เดินช้า ๆ โยคะ เป็นต้น

“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close