การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดีต่อลำไส้ และผู้ป่วยกรดไหลย้อนอย่างไร?

การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพที่หลายคนมองข้ามไป วันนี้ GED good life จึงขอแนะนำให้ทุกคนหันมาใส่ใจการเคี้ยวอาหารให้มากขึ้น ยิ่งใครที่มีปัญหาเรื่องลำไส้ กรดไหลย้อน ท้องอืดท้องเฟ้อ ยิ่งต้องทำตาม มาดูกันว่าทำไมการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดถึงดีต่อสุขภาพ พร้อมแนะ! การเคี้ยวอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพดีดีของตัวเราเอง

ทำความเข้าใจกับ “กลไกการเคี้ยวอาหาร”

การบดเคี้ยวอาหารในช่องปาก (mastication) คือ การทำให้อาหารมีขนาดเล็กลง มีพื้นที่ผิวสัมผัสกับเอนไซม์ในน้ำลายได้มากขึ้น ทาให้กลืนได้ง่าย เพื่อลงไปสู่ระบบการย่อยอาหารในขั้นต่อไป

คนเราเมื่อเคี้ยวอาหารไปสักพักสิ่งที่เกิดขึ้นคือ กลไกทางกลในการเคี้ยวจะไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายหลั่งน้ำลายออกมา น้ำลายจะไปคลุกเคล้าอนุภาคของอาหารที่แตกออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกกลไกนี้ว่า การมารวมกลุ่มกันเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ (agglomeration) เกิดเป็นโบลัส (bolus) ซึ่งเป็นก้อนอนุภาคอาหารที่มีสภาวะที่เหมาะสมที่สามารถกลืนเข้าสู่หลอดอาหารโดยไม่เกิดการติดคอ

การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น

อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัด และผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า

“การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นด่านแรกที่จะทำให้อาหารมีความละเอียดขึ้น ทำให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ช่วยให้สารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่ายขึ้น และยังทำให้มีระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีเป็นปกติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดี

แต่ถ้าหากเราเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดพอ กระเพาะของเราจะต้องรับภาระในการย่อยอาหารมากขึ้น ยิ่งอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ กระเพาะจะต้องหลั่งกรด และมีการบีบตัวที่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดหรือท้องเฟ้อตามมา”

การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดีต่อผู้ป่วยกรดไหลย้อนอย่างไร?

รู้หรือไม่? การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดก่อนกลืน จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก (เพื่อกระตุ้นน้ำย่อยออกมาช่วยย่อยอาหาร) จึงกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน และเป็นสาเหตุท้องอืด ท้องเฟ้อ อีกด้วย

ผู้ป่วยกรดไหลย้อนจึงควรเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เช่น เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อแบ่งเบาการทำงานของกระเพาะอาหาร รวมถึงเลี่ยงอาหารมื้อหนัก เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนั้นหลังมื้ออาหารควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้อาหารได้เคลื่อนตัวจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เพื่อดูดซึมต่อไป

โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่สภาพร่างกายเสื่อมถอย ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายส่วนต่าง ๆ ทำงานได้ไม่ดี โดยเฉพาะหลอดอาหาร และฟันที่ร่วงโรยไป ฉะนั้น ผู้สูงวัยที่มีโรคกรดไหลย้อน ควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น

  • เมนูข้าวต้มปลา ที่นอกจากกินง่ายแล้ว โปรตีนที่ได้จากเนื้อปลาก็ดีต่อสุขภาพผู้สูงวัยอีกด้วย
  • ต้มจืดผักกาดขาว เมนูนี้เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหาร

อ่านเพิ่มเติม -> กรดไหลย้อนในผู้สูงอายุ ควรดูแล-รักษา ยังไงดี?

น้ำลายที่หลั่งมากขึ้นจากการเคี้ยวอาหาร ช่วยให้ร่างกายคงความอ่อนเยาว์ อายุยืนยาว

เมื่อเรารับประทานอาหาร ร่างกายจะหลั่งน้ำลายออกมา ยิ่งเคี้ยวอาหารให้มากขึ้นเท่าไหร่ น้ำลายก็จะออกมามากขึ้นด้วยเช่นกัน น้ำลายเป็นเอนไซน์ชั้นยอด และเป็นสารภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งที่สุด น้ำลายช่วยกำจัดพิษ และกำจัดอนุมูลอิสระได้ดี การกำจัดอนุมูลอิสระจะช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ คงความอ่อนเยาว์ และมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

รวมประโยชน์ของ การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด มีดีต่อสุขภาพมากมาย!

ช่วยลดน้ำหนัก – เพราะยิ่งเคี้ยวอาหารนานเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้เวลาในการรับประทานนานขึ้นเท่านั้น ซึ่งตรงกับงานวิจัยที่ชี้ว่า การกินอาหารช้า ๆ สามารถช่วยให้กินน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในที่สุด

กระตุ้นการทำงานของสมอง – การเคี้ยวสามารถส่งสัญญานเชื่อมต่อไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้องการกับการเรียนรู้ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ให้ดีขึ้น

ช่วยให้ฟันแข็งแรง – การเคี้ยวเป็นการบริหารกระดูกที่พยุงฟันให้แข็งแรง และน้ำลายที่ออกมาระหว่างเคี้ยว ยังช่วยลดการสะสมของคราบหินปูน และช่วยให้ฟันผุน้อยลง

ลดปัญหาปวดท้องต่าง ๆ – การเคี้ยวนาน ๆ จะช่วยให้กระเพาะอาหารทำงานน้อยลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงย่อยอาหารได้ดีขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก อาการปวดท้องต่าง ๆ ก็ลดลงตามไปด้วย

เสี่ยงเบาหวานน้อยลง – การกินเร็ว โดยเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ประเภทที่2 มากกว่าคนที่กินด้วยความเร็วตามปกติถึง 2.5 เท่า

กินอย่างเอร็ดอร่อย มีรสชาติมากขึ้น – การค่อย ๆ บดเคี้ยวอาหาร ทำให้ได้ลิ้มรสอาหารแต่ละคำ และรับรู้ถึงความเอร็ดอร่อยของอาหารที่อยู่ตรงหน้าได้มากกว่าการรีบเคี้ยว แล้วกลืนเลย

ข้อแนะนำในการเคี้ยวอาหารอย่างถูกวิธี

อาจารย์แววตา แนะว่าการเคี้ยวอาหารให้ถูกต้องนั้นคือ เคี้ยวประมาณ 10 ครั้งสำหรับอาหารที่นิ่ม เช่นข้าว หรือขนมปัง ขณะเดียวกันให้เคี้ยวประมาณ 20-30 ครั้งสำหรับเนื้อสัตว์และผัก ซึ่งจำนวนครั้งในการเคี้ยวที่เหมาะสมนั้น อาจทดลองโดยการเคี้ยวก้านผักคะน้า ฝรั่ง หรือแอปเปิ้ล ประมาณ 10 ครั้ง แล้วใช้ลิ้นดุนสำรวจดูว่าละเอียดเพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้ายังรู้สึกไม่ละเอียดก็ให้เพิ่มจำนวนครั้งในการเคี้ยวให้มากขึ้น

การเคี้ยวของคนในแต่ละวัย ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย โดย “วัยเด็ก” เราต้องสอนให้เขารู้จักการเคี้ยวหลาย ๆ ครั้งก่อนกลืนจนเป็นนิสัย เพราะถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดเด็ก ๆ มักจะปวดท้องได้ง่าย ส่วน “วัยรุ่น” เราอาจจะจูงใจให้เขาเคี้ยวละเอียดๆ เพราะจะช่วยให้ฟันสวยและยังลดน้ำหนักได้อีกด้วย… อาจารย์แววตากล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง : 1. ทันตแพทยศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ 2. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ 3. thaihealth 4. thaipost 5. mgronline 6. goodlifeupdate

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close