โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร? พร้อมอาหารที่ควร-ไม่ควรทาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

เบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน สาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่มีรสหวาน หรือรสจัดมากเกินไป และยิ่งถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวาน มาก่อน ก็มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นไปอีก มาทำความรู้จัก โรคเบาหวาน เพิ่มเติมกันอีกสักนิดดีกว่า แล้วมาดูกันว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรกิน-ไม่ควรกิน อะไรบ้าง…

โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร?

โรคเบาหวาน (Diabete) คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่เรามักเรียกกันติดปากว่า โรคเบาหวาน ซึ่งถือเป็น โรคไม่ติดต่อ ยอดนิยมที่คนไทยเป็น หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม เกิดโรค และอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่

  • จอประสาทตาผิดปกติจากเบาหวาน
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • หลอดเลือดสมอง
  • และภาวะแทรกซ้อนที่เท้า และขา

สาเหตุที่ทำให้คนเราป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ก็คือ การรับประทานอาหารที่ผิดวิธี น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น การออกกำลังการน้อย และจากพันธุกรรม

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี คือ “วันเบาหวานโลก”

ริเริ่มขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก เพื่อสนองต่อการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของเบาหวานทั่วโลก

โรคเบาหวานกับค่าน้ำตาลในเลือด

การตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด เป็นเรื่องสำคัญของการรักษาโรคเบาหวาน และการตรวจค่าระดับน้ำตาลที่ดีที่สุดมักจะต้องทำทั้งที่บ้านด้วยตัวเอง และที่โรงพยาบาล

สำหรับใครที่พ่อแม่มีประวัติเป็นเบาหวาน ต้องตรวจเช็คน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง

สำหรับการตรวจสอบค่าระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ส่วนมากสามารถใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (ใช้เลือดที่ได้จากปลายนิ้ว สัมผัสลงบนแถบทดสอบ) ซึ่งด้วยเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดส่วนมากอ่านค่าน้ำตาลในเลือดเป็น mg / dL

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

แนวทางการเลือกกิน อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

สิ่งที่สำคัญที่สุด ของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ การระวังรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอล ให้อยู่เกณฑ์ปกติ เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ และสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การเลือกกินอาหารอย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี โรคแทรกซ้อนก็จะลดลงด้วย

โดยจุดมุ่งหมายในการควบคุมอาหาร คือ

  1. รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  2. ป้องกันโรคที่พบร่วมกับเบาหวาน ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง และ ความดันโลหิตสูง
  3. ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ หลอดเลือดแดงแข็ง ภาวะหมดสติจากน้ำตาลต่ำหรือสูง
  4. ให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ ที่จะรักษาระดับน้ำหนักให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด และเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตในเด็ก และให้นมบุตรในหญิงตั้งครรภ์
  5. ส่งเสริมสุขภาพให้ดีที่สุด
  6. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรเป็น ถ้าเป็นเด็กต้องให้ได้พลังงานที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
  7. ให้ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ

อาหารที่ควรควบคุมเป็นพิเศษ คือ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง และน้ำตาล ควรเลือกอาหารที่น้ำตาลน้อย อาหารจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ภายหลังกินอาหาร และช่วยลดความเสี่ยงของ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงฉับพลัน ที่เป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวาน อาจเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในการปรุงอาหารเพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่ได้รับ และช่วยให้อาหารแต่ละเมนูดีต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย โดยตัวอย่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่สามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่

  • แอสพาร์แทม (Aspartame) – เป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ ที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 180-200 เท่า จึงใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำตาลหลายเท่า ให้พลังงานต่ำ หากปรุงด้วยความร้อนสูงอาจทำให้เกิดรสขมได้
  • ไอโซมอลทูโลส (Isomaltulose) – เป็นสารให้ความหวานที่มีทั้งแบบธรรมชาติ และสกัดจากธรรมชาติ สามารถทนความร้อนได้สูง มีรสชาติเหมือนกับน้ำตาล ไม่มีรสขมติดลิ้น หรือรสขมเฝื่อน ทำให้รสชาติอาหารไม่เปลี่ยน และให้พลังงานเทียบเท่าน้ำตาล แต่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI)
  • ซูคราโลส (Sucralose) – ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติถึง 600 เท่า จึงใช้ในปริมาณน้อยมาก เป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน ไม่มีรสขม สามารถใช้กับอาหารได้ทั้งแบบร้อน และเย็น
  • หญ้าหวาน (Stevia) – มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 200-300 เท่า และที่สำคัญหญ้าหวานเป็นน้ำตาลที่ไม่มีพลังงานอีกด้วย นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในอาหาร และเครื่องดื่มหลายชนิด

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

สารอาหารหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องการ คือ คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหาร และไขมันดี (DHL) ที่อยู่ในรูปของไขมันไม่อิ่มตัว อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงป้องกันความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

ปลาที่มีกรดไขมันจำเป็น ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 DHA และ EPA สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้ เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาทู ปลากะตัก ปลาไส้ตัน

ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง คะน้า ตำลึง มะระขี้นก มะแว้งต้น หรือฟ้าทะลายโจร เป็นต้น เป็นผักที่อุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะผักที่มีวิตามินซี ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบ และลดระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารของผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้

กระเจี๊ยบเขียว เส้นใยที่ละลายน้ำในกระเจี๊ยบเขียว จะช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล และน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย ซึ่งเป็นการช่วยกำจัดไขมันปริมาณสูงที่จับอยู่กับน้ำดีได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในปี 2011 ระบุว่า ผลจากเปลือก และเมล็ดของกระเจี๊ยบเขียว สามารถช่วยรักษาอาการเบาหวานในหนูทดลองได้ โดยหนูทดลองที่ได้รับผงกระเจี๊ยบเขียวเป็นเวลา 1 เดือน มีระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดที่ลดลงมากกว่าหนูที่ไม่ได้รับผงกระเจี๊ยบเขียว

ไข่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี กรดโฟเลต และกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน ลดการอักเสบ และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย

เมล็ดเจีย ธัญพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ กรดไขมันโอเมก้า 3 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถช่วยลดความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว ลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดที่เป็นสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดสมอง

ขมิ้น มีฤทธิ์ช่วยลด และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังช่วยลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจด้วย

กรีกโยเกิร์ต มีโปรตีนสูงแต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีสารโพรไบโอติกที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ อาจมีส่วนช่วยให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลง มีผลต่อการตอบสนองต่ออินซูลิน และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้

ถั่ว มีไฟเบอร์สูงแต่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อีกทั้งยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันชนิดที่ไม่ดีได้ด้วย

บร็อกโคลี่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการอย่าง คาร์โบไฮเดรต แมกนีเซียม และวิตามินซี อาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน และช่วยต้านอนุมูลอิสระในระหว่างกระบวนการเมตาบอลิซึมได้

สตรอเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ วิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม แมงกานีส มีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

น้ำมันมะกอก ประกอบไปด้วยกรดโอเลอิก ที่ช่วยปรับปรุงระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดที่ดี และยังมีสารโพลีฟีนอล ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดระดับไขมันชนิดที่ไม่ดี ลดระดับความดันโลหิต และปกป้องหลอดเลือดจากความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

แอปเปิ้ลไซเดอร์ หรือน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล ช่วยปรับปรุงการตอบสนองต่ออินซูลิน และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้ถึงร้อยละ 20 หลังกินอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต

ตำลึง อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีวิตามิน และแร่ธาตุสูง ช่วยในเรื่องการลดระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งยังช่วยบำรุงสายตา ป้องกันอาการตามัว เนื่องจากการขาดวิตามินเอ

มะระขี้นก ช่วยให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนอินซูลินที่ยับยั้งการสังเคราะห์น้ำตาลกลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสที่มากขึ้นในตับ

มะแว้งต้น ช่วยในเรื่อง แก้ไอ ขับเสมหะ และมีสรรพคุณในการลดน้ำตาลในเลือดได้

อาหารที่รับประทานได้ แต่จำกัดปริมาณ

กลุ่มนม ควรทานนมรสจืด นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมถั่วเหลือง สูตรไม่มีน้ำตาล ปริมาณที่เหมาะสม 1-2 แก้ว/วัน (ปริมาณ 250 ซี ซี)

กลุ่มข้าว แป้ง และธัญพืช ควรทาน ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ปริมาณที่เหมาะสม 8-9 ทัพพี/วัน

กลุ่มเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ควรทาน เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง ไข่โดยเฉพาะไข่ขาว ปริมาณที่เหมาะสม 12 ช้อนทานข้าว/วัน (ไข่ทั้งฟอง สามารถทานได้ ในผู้มีโคเลสเตอรอลในเลือดไม่สูง โดยทานได้ 2-3 ฟอง/วัน)

กลุ่มผลไม้ ควรทานผลไม้สด รสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอ๊ปเปิ้ล ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ชมพู่ เป็นต้น ปริมาณที่เหมาะสม 3-4 ส่วน/วัน (1 ส่วนผลไม้ เท่ากับ 6-8 ชิ้นคำ)

กลุ่มไขมัน ควรทานน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด หลีกเลี่ยง น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ ครีมเทียม ปริมาณที่เหมาะสม 6-7 ช้อนชา/วัน

กลุ่มน้ำตาล เกลือ เครื่องปรุงรส ควรทานโดยหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาล เกลือ และเครื่อง ปรุงรสมากเกินความจำเป็น สำหรับผู้ที่ติดหวานอาจใช้น้ำตาลเทียมให้ความหวานแทน น้ำตาลทรายได้

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาหารที่ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นเบาหวาน

อาหารบางอย่าง นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ยังอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งอาหารที่คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ติดหนัง เนื้อวัว ไส้กรอก เบคอน ไขมันจากสัตว์ เนย ชีส ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวสูง รวมถึงขนมอบ ของทอด น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าวด้วย
  • ไขมันทรานส์สังเคราะห์ พบมากในขนมอบที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ และอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำด้วยความร้อนสูง เช่น โดนัท คุกกี้เนย มันฝรั่งทอดหรือเฟรนช์ฟราย ขนมขาไก่ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ขนมดอกจอก ปลาซิวแก้ว
  • ไขมันคอเลสเตอรอล มักพบในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากนม และเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน และโปรตีนสูงอย่าง เครื่องในสัตว์ และไข่แดง
  • โซเดียม หากกินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมเกินกว่า 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดข้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ไตเสื่อม และอาจเกิดภาวะไตวายได้

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ผศ.นพ.พงษ์อมร บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญเบาหวานต่อมไร้ท่อ ภาคอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

“คนไทยต้องหันมาให้ความใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นประชาชนที่มีกลุ่มเสี่ยง อาทิ พ่อแม่เป็นเบาหวาน ต้องตรวจเช็คน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้เกิน 126 มิลลิกรัม

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงควรตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างน้อย 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในทันที”

อ้างอิง :
1. positioningmag.com
2. dmthai.org
3. th.wikipedia.org
4. pobpad.com
5. thonburihospital.com
6. sanook.com
7. siamhealth.net

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close