โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทัน ป้องกันอัมพาตได้! : สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (Stroke) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นโรคที่ต้องรีบรักษา เพราะหากรักษาช้าจะทำให้เซลล์สมองตาย เกิดความพิการ อัมพาตตามมาได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้นกับคุณ มาดู สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา ป้องกัน โรคนี้กันเลยดีกว่า!

decolgen ดีคอลเจน

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร และมีสาเหตุจากอะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง หนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือด และออกซิเจน เกิดภาวะเนื้อสมองเสียหายจนเป็นเหตุให้แขน หรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างทันทีทันใด

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

1. ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic Stroke)
มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนา นูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้หลอดเลือดค่อย ๆ ตีบแคบ พบได้ประมาณ 70–85%

2. ภาวะหลอดเลือดสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke)
ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในเนื้อสมอง หรือเยื่อหุ้มสมอง เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ และทำให้เนื้อสมองตาย มักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเปราะ และโป่งพอง พบได้ประมาณ 15–30%

3. ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack)
คล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวไม่เกิน 24 ชั่วโมง เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องพบแพทย์เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต พบได้ประมาณ 15%

 

รู้หรือไม่? ทุกวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันอัมพาตโลก”


โรคหลอดเลือดสมอง

อาการสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการของโรคหลอดเลือดสมองจะแสดงออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เกิดการผิดปกติ โดยอาการเตือนที่ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อหาทางรักษาอย่างทันท่วงที มีดังนี้

1. มีอาการ ชา อ่อนแรง ครึ่งซีกของร่างกาย เกิดขึ้นไม่นานเป็นครั้งคราว หรือเรียกว่าอัมพฤกษ์

2. พูดไม่ชัด พูดลำบาก หรืออาจพูดไม่ได้เลย เป็นการเกิดขึ้นทันทีทันใด

3. ตามืด ตาบอด ไปชั่วขณะ (อาจเกิดขึ้นข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้) เห็นแสงผิดปกติ เห็นภาพซ้อนเป็น 2 ภาพ มักจะเกิดขึ้นจากตาข้างเดียว

4. มีอาการอ่อนแรงของใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีอาการชาของใบหน้า

5. มีความผิดปกติของการใช้ภาษา พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่องหรือฟังไม่เข้าใจ พูดไม่ออก นึกคำไม่ได้ ใช้ภาษาผิด คำนวณไม่ได้

6. มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ปวดศีรษะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

7. กลืนอาหารลำบาก หรือลำลักบ่อย

8. ปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาทันที โดยไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

1. อายุมาก เริ่มพบมากขึ้นตั้งแต่อายุ 45 ปี ขึ้นไป

2. ความดันโลหิตสูง เมื่อวัดความดันจะมีความดันสูงมากกว่า 130/85 ม.ม. ปรอท

3. เบาหวาน เป็นปัจจัยสำคัญ รองมาจากภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากต้องระวัง มีโอกาสเป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง หรืออาจเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง

4. ดื่มสุรา และสูบบุหรี่เป็นประจำ การดื่มสุราจะทำให้หลอดเลือดเปราะ หรือเลือดออกง่าย เช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่จะพบว่ามีอัตราการเกิดโรคลหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

5. โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจวาย โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ

6. ยาต่าง ๆ เช่น สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดร่วมกับเป็นความดันโลหิตสูง


การรักษา โรคหลอดเลือดสมอง และหลักการวินิจฉัยของแพทย์

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดโรคแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ส่วนหลักการรักษาประกอบด้วย…

  • การรักษาทางยาสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน แพทย์จะให้ยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือดยาต้าน เกร็ดเลือด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และจะต้องมาตรวจสม่ำเสมอ เพื่อปรับขนาดของยา ตามแผนการรักษา
  • การรักษาโดยการผ่าตัดในบางราย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจากการปริแตกหรือฉีกขาด ของหลอดเลือดสมอง
  • การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  • การรักษาโดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อน
หลักการวินิจฉัยโรคของแพทย์ประกอบไปด้วย
  • ประวัติการเจ็บป่วย
  • อาการของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • การวินิจฉัยอาจมีการเอกซเรย์สมองร่วมด้วย

การตรวจร่างกายของแพทย์

  • แพทย์จะตรวจระดับความรู้สึกและกำลังของแขนขาแต่ละข้าง
  • ตรวจเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบนใบหน้าทั้ง 12 คู่
  • ตรวจการทรงตัว การสมดุลของร่างกาย
  • การพูด การฟัง
  • นอกจากนั้นจะตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ carotid artery disease

โรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกัน โรคหลอดเลือดสมอง

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมอย่าให้อ้วน
  • งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง
  • ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว ต้องรักษา และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยา หรือปรับยาเองโดยเด็ดขาด
  • ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ควรตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างน้อยทุก 6-12 เดือน หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการ
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต การตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตอันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
  • เลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น เนื้อไก่ที่มีหนัง เนื้อวัวติดมัน ครีม เนย ชีส เป็นต้น
  • รับประทานผัก และผลไม้ทุกวัน
  • รับประทานยา ตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอัมพาตซ้ำ

สุดท้ายนี้ จงอย่าลืมเด็ดขาดว่า “เวลา” คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้ และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมง ให้รีบโทรเบอร์ 1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง: 1. thaihealth.or.th 2. bangpo-hospital.com 3. kantang-hospital.go.th 4. clinicya.com


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close