โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs – กลุ่มโรคเสี่ยงตาย สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทย!

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ในช่วงเวลาที่ โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ ณ ขณะนี้ ใคร ๆ ก็ต่างหวาดกลัว และโฟกัสแต่กับเชื้อไวรัสนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า มีกลุ่มโรคหนึ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า เพราะมันคร่าชีวิตคนไทย และคนทั้งโลกไปมากที่สุด นั่นก็คือ กลุ่มโรค NCDs – โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ จะมีสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง มาไขข้อสงสัย และติดตามไปกับ GedGoodLife กันได้เลย!

ดีคอลเจน

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คืออะไร?

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และปัจจัยภายในร่างกาย กลุ่มโรคนี้ไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ แตกต่างกับโรคไข้หวัด หรือ โควิด-19 ที่สามารถติดต่อกันได้

กลุ่มโรค NCDs นี้ มีระยะการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ และทำให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความบกพร่อง และอาจรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีโรคอะไรบ้าง และอาการเบื้องต้นที่ควรรู้

จากปัจจุบัน กลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตสูงสุด มีอยู่ 6 โรค และพบว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง ของประชาการไทย

1. โรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจ : ตีบ ตัน แตก

โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือด
และออกซิเจน

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจ

  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • แขน ขา อ่อนแรงเฉียบพลัน
  • ปลายมือ ปลายเท้าชา
  • ปวดหน้าอกข้างซ้ายร้าวไปถึงแขน
  • พูดลำบาก ปากเบี้ยว

อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง -> คลิกที่นี่

2. โรคเบาหวาน : ชีวิตติดหวาน

เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นภาวะเรื้อรัง

อาการของโรคเบาหวาน

  • ฉี่บ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะกลางคืน
  • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นแผลทีไร หายยาก
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • มีปื้นดำตามคอ ข้อพับ ขาหนีบ

อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคเบาหวาน -> คลิกที่นี่

3. โรคถุงลมโป่งพอง : ปอดโป่ง

เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดบริเวณถุงลมปอด ทำให้เนื้อปอดมีถุงลมเล็ก ๆ จำนวนมาก ที่อยู่ติดกันจนกลายเป็นถุงลมขนาดใหญ่

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง

  • ไอเรื้อรัง
  • เป็นหวัดง่าย หายช้า
  • เหนื่อยหอบ
  • หลอดลมอักเสบบ่อย
  • แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด

อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคถุงลมโป่งพอง -> คลิกที่นี่

4. โรคมะเร็ง : เนื้อร้าย ข่าวร้าย

คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติระดับเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นมา และสามารถลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้

อาการของโรคมะเร็ง

  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา
  • เกิดแผลเรื้อรังรักษาไม่หาย
  • มีเลือด ของเหลวออกมาอย่างผิดปกติ
  • มีตุ่มก้อนในร่างกายโตเร็วผิดปกติ
  • ไอ และเสียงแหบเรื้อรัง

5. โรคความดันโลหิตสูง : สูงไปก็ไม่ดี

ความดันสูง คือ ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้นกว่าปกติตลอดเวลา

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

  • ปวดศีรษะบ่อยๆ
  • หลังตื่นนอนมึนงง ตาพร่า
  • มีเลือดกำเดาออกบ่อย ๆ
  • ปวดหัวเฉียบพลันบ่อย ๆ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น

อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคความดันโลหิตสูง -> คลิกที่นี่

6. โรคอ้วนลงพุง : อวบอั๋นขั้นสุดท้าย

เกิดจากความผิดปกติจากการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เนื่องจากร่างกายมีภาวะไขมันสะสมตาม ส่วนต่าง ๆ มากเกินกว่าปกติ

อาการของโรคอ้วน

  • รูปร่างคล้ายลูกแพร์
  • เริ่มหาเสื้อผ้าใส่ยาก
  • ไขมันในช่องท้องสะสมเป็นชั้น
  • ข้อเข่าเริ่มรับน้ำหนักตัวเองไม่ไหว
  • ทำอะไรก็เหนื่อยง่าย

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

พฤติกรรมเสี่ยงของ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ถือเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก และของประเทศไทย เลยทีเดียว! โดยเฉพาะกลุ่มโรคหลัก ได้แก่

  1. กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ
  2. โรคหลอดเลือดสมอง
  3. โรคมะเร็ง
  4. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเบาหวาน

โดยโรคเหล่านี้ มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  1. การสูบบุหรี่
  2. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. การบริโภคหวาน มัน เค็ม
  4. ไม่ออกกำลังกาย หรือออกไม่เพียงพอ
  5. ความเครียด
  6. กรรมพันธุ์

รายงานสถานการณ์ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

กลุ่มโรค NCDs เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิต และภาระโรคโดยรวม จากการรายงานข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรทั่วโลก เสียชีวิตจากโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น จากการรายงานข้อมูลของกองยุทธศาสตร์ และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2561 พบอัตราการเสียชีวิต อันมีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประชากรไทย เช่นเดียวกัน

โดยในปี พ.ศ. 2561 โรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. โรคมะเร็งรวมทุกประเภท
  2. โรคหลอดเลือดสมอง
  3. โรคหัวใจขาดเลือด

สถิติการตายในชายไทย จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

  1. โรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 11.1
  2. โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 7.8
  3. อุบัติเหตุทางถนน ร้อยละ 7.4
  4. โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 6.5
  5. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 6.0

สถิติการตายในหญิงไทย จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

  1. โรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 14.6
  2. โรคเบาหวาน ร้อยละ 8.8
  3. โรคหัวใจขาดเลือด ร้อยละ 8.8
  4. ไตอักเสบและไตพิการ ร้อยละ 4.0
  5. โรคมะเร็งตับ ร้อยละ 3.7

เมื่อเปรียบเทียบการตายจำแนกรายสาเหตุระหว่างเพศ พบว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ในเบื้องต้นแล้ว สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือ ปัจจัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือเป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่ อายุ เพศ เชื้อชาติ และพันธุกรรม โดยบุคคลในบางช่วงอายุ บางเพศ บางเชื้อชาติ หรือมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคนั้น ๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป

2. ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือ สภาพแวดล้อมรอบตัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก เครียด กินอาหารที่มีไขมันสูง หรือของหวานเป็นประจำ แต่ไม่ชอบออกกำลังกาย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มลภาวะทางอากาศสูง เป็นต้น

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กับ โควิด-19

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า

“คนที่เป็นโรคที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องควบคุมน้ำตาลดี ๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยเมื่อเป็นเบาหวานแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือด มีโอกาสทำให้ภูมิคุ้มกันไปจัดการกับเชื้อไวรัสโควิดได้น้อยลง ยังไม่นับรวมไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่ศักยภาพในการทำหน้าที่ลดลงไปด้วย

สังเกตจากคนที่เป็นเบาหวานนาน ๆ หรือเป็นขั้นหนัก จะพบว่า ปอดทำงานได้น้อยลง ตับทำงานได้น้อยลง เป็นต้อกระจก สิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายจากเชื้อไวรัสบ้างบางส่วน

นอกจากนี้ ในกรณีที่ติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง ไม่เพียงทำลายปอด แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตเพราะอาการไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา เพราะความรุนแรงของไวรัสไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย

ไม่เพียงปอดอย่างเดียว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วม เมื่อเจอเชื้อไวรัสจะยิ่งทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

NCDs – โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ป้องกันได้ แค่เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีระยะของการแฝงตัวนานก่อนเกิดโรค ซึ่งอาการในระยะเริ่มต้น มักไม่แสดงอาการที่เด่นชัด ทำให้ผู้ป่วยอาจคิดว่าไม่น่าเป็นอะไรรุนแรง จึงไม่ได้จัดการกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคร้าย ก็อาจสายไปเสียแล้ว

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ถึงเยาวชน จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ให้ดีต่อสุขภาพร่างกายยิ่งขึ้น เช่น

– กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย และมีปริมาณแคลอรี่เหมาะสม ตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน

– งดกินอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ คือ อาหารที่มีปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย อาหารหวาน อาหารไขมันสูง อาหารเค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน และโรค NDCs อื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด

– จำกัดปริมาณการบริโภคเกลือ ให้ไม่เกินวันละ 6 กรัม เนื่องจากการบริโภคเกลือที่มากเกินไป จะส่งผลให้มีระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้

– หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือมีน้ำตาลสูง

– ควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

– เลิก หรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะกับ โรคตับ โรคมะเร็ง และความดันโลหิตสูง

– เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิด NDCs เช่น มะเร็งหลายประเภท โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองส่วนปลาย และโรคหลอดเลือดสมอง

– ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที

– เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจจร่างกายแข็งแรง และไม่มีปัจจัยของโรคแฝงอยู่ และหากตรวจพบ ควรรักษาตามวิธีที่เหมาะสม เพราะหากละเลยอาการต่างๆ ไป อาจส่งผลให้มีอาการป่วยแย่ลง หรือรักษาได้ยากขึ้น

 

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่น่ากลัวมาก เชื่อว่าใคร ๆ คงไม่อยากเป็นอย่างแน่นอน GedGoodLife จึงขอแนะนำ ให้ทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ด้วยการเลี่ยง หวาน มัน เค็ม ทานผัก-ผลไม้ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เท่านี้ เราก็จะมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้แล้ว

 

อ้างอิง : 1. thaihealth.or.th 1/2 2. ddc.moph.go.th 3. thaincd.com

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close