ฝี คืออะไร ใช่สิวหรือไม่ บีบเองได้ไหม? มาดูคำตอบ พร้อมสาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ฝี (abscess) คือ ตุ่มหนองอักเสบ ที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง โดยหนองจะมีกลิ่นเหม็น รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดน และสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ 1 – 10 เซนติเมตร เลยทีเดียว โดยภายในฝี จะประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และเชื้อโรค ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย

ฝีที่เกิดขึ้นตามร่างกายนั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ได้อันตรายนัก สามารถหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์สามารถรักษาได้ด้วยการทาครีม หรือยาที่หาซื้อได้ทั่วไป โดยตัวยาจะไปเร่งระงับการเจริญเติบโตของตุ่มฝี แต่ควรทายาตั้งแต่เริ่มเป็นฝี เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น

decolgen ดีคอลเจน

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝี คือ เชื้อแบคทีเรีย สแตฟิโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และ สเตรปโตค็อคคัส พัยโอจีเนส (Streptococcus Pyogenes) หากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ผิวหนังผ่านทางรูขุมขน หรือทางบาดแผลบนผิวหนัง ก็สามารถทำให้ผิวหนังบริเวณนั้น เกิดการอักเสบของรูขุมขน และเกิดเป็นตุ่มฝีได้

นอกจากนี้ ฝียังสามารถเกิดขึ้นได้ จากการติดเชื้อที่รูขุมขน คือขนที่ไม่สามารถทะลุออกมาทางผิวหนังได้ (หรือที่มักเรียกกันว่า ขนคุด) ทำให้เกิดการอักเสบ จนทำให้เกิดเป็นหัวฝีนั่นเอง


เราสามารถบีบฝีเอง ได้หรือไม่?

ตามหลักทางการแพทย์แล้ว จะไม่แนะนำให้บีบฝี หรือไปคุ้ยแคะแกะเกาฝีด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียลามไปทั่ว ติดเชื้อ และอักเสบหนักกว่าเดิมได้ ฉะนั้นเมื่อเป็นฝีควรเข้าพบแพทย์ผิวหนังโดยตรง

ฝี
ขอบคุณภาพจาก instagram.com/kwang.kamolchanok

(ดังภาพด้านบน ดาราท่านนี้ คุณ “กวาง กมลชนก” ที่คิดว่าตัวเองเป็นสิว แต่จริง ๆ แล้วเป็นฝี เมื่อบีบเองนอกจากฝีจะไม่หาย ยังทำให้เป็นแผลลึก สุดท้ายต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้อง)

แต่เชื่อว่าหลายคนเมื่อมีฝี ก็อยากรีบบีบเองให้หาย ๆ ไป แบบว่าขี้เกียจไปหาหมอ จึงขอแนะนำให้ให้พบแพทย์ผิวหนังก่อนในครั้งแรก จากนั้นอาจปรึกษาแพทย์ว่า ถ้ามีฝีครั้งต่อไป จะบีบเองได้อย่างไรบ้าง ถ้าแพทย์อนุญาต จึงค่อยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


ฝี กับ สิว มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร?

ฝี กับ สิว ถือเป็นโรคผิวหนังเหมือนกัน และมีลักษณะที่คล้ายกัน ใครที่ไม่เคยเป็นฝีมาก่อน ก็จะคิดว่ากำลังเป็นสิวอยู่ ทั้งนี้เราสามารถแยกฝีกับสิว ได้ดังนี้

  • ฝีเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนสิวเกิดจากไขมันอุดตัน หรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
  • ฝีจะมีลักษณะใหญ่กว่าสิว โดยอาจมีขนาดใหญ่ประมาณครึ่งนิ้วหรือมากกว่า มีลักษณะบวมแดง มีหนองอยู่ข้างใน
  • ฝีทำให้รู้สึกเจ็บกว่าสิว มีอาการปวดมาก ๆ ถ้ามีฝีเกิดขึ้นที่บริเวณก้น เวลานั่งจะรู้สึกเจ็บมาก
  • ฝีเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกายทั้งภายใน และภายนอก มักมีไข้ร่วมด้วย ส่วนสิวมักเกิดที่ใบหน้า คอ หน้าอก หลัง หรือไหล่

อย่างไรก็ตาม ฝี สิวหัวหนอง และสิวซีสต์นั้น เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน และมีหนองอยู่ภายในเหมือนกัน และถ้ามีอาการรุนแรงก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ก่อนจะลุกลาม ทำให้เสียโฉมได้

ฝี


ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดฝีได้ง่าย คือ

  • ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่ติดเชื้อ “staph” มักพบเฉพาะในโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น สิว โรคเรื้อนกวาง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ติดเชื้อ HIV
  • ผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดี
  • เด็ก
  • ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล
  • ผู้ที่เคยผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัด
  • ผู้ที่มีฝีบริเวณใบหน้า หรือบริเวณกระดูกสันหลัง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เชื้อแบคทีเรียอาจกระจายขึ้นสู่สมองและบริเวณไขสันหลังได้

อาการของ ฝี

ฝีที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง จะมีลักษณะคล้ายกับหัวสิว แต่สามารถโตขยายขนาดใหญ่ขึ้น จนมีหนองเต็มบริเวณหัว อาการร่วมของฝีที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • เจ็บปวดบริเวณรอบ ๆ หัวฝี หากจับบริเวณหัวฝี จะรู้สึกแสบร้อน
  • ผิวหนังบวม บริเวณที่เกิดฝี
  • เกิดแผลบนผิวหนัง
  • ผิวหนังอักเสบ
  • มีน้ำหนองไหลออกจากหัวฝี
  • มีไข้
  • คลื่นไส้ วิงเวียน
  • หนาวสั่น

ฝี เกิดขึ้นได้ที่ไหนบ้าง ?

ฝี สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งอวัยวะภายนอก และอวัยวะภายใน โดยส่วนที่เป็นมากที่สุดคือ แผ่นหลัง ใบหน้า หน้าอก หรือ บริเวณก้น นอกจากนี้ ฝียังสามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนัง ที่มีการเจริญเติบโตของเส้นขนอีกด้วย เช่น บริเวณรักแร้ หรือบริเวณขาหนีบ โดยจุดเกิดฝี ที่นับว่าอันตราย ได้แก่

  • ฝีในทวารหนัก – เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบที่ทวารหนักจนเกิดรู ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรค ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยจะมีอาการปวด และบวมที่แก้มก้น รวมถึงรอบ ๆ รูทวารหนัก มีน้ำเหลืองซึมออกมา มีเลือดปน มีหนอง และคันรอบ ๆ รูฝี การรักษาอาจต้องใช้การผ่าตัดหรือดูดหนองออก
  • ฝีในเต้านม – คือ ภาวะเต้านมอักเสบ ที่มีก้อนฝีหนองอยู่ภายใน เกิดต่อเนื่องมาจากภาวะเต้านมอักเสบ ที่ไม่ได้รับการรักษา เต้านมอักเสบที่อาการไม่ดีขึ้น หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • ฝีในสมอง – เป็นการสะสมของฝีหนอง ทั้งที่มีถุงหุ้ม และไม่มีถุงหุ้ม พบได้ทั้งนอกเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก หรือใต้เยื่อหุ้มดูรามาเตอร์ และในเนื้อสมองเอง เชื้อที่พบบ่อย คือ เชื้อแบคทีเรีย
  • ฝีในรังไข่ – พบได้น้อย เชื่อว่าเกิดจากการที่เชื้อแบคทีเรียกระจายเข้าไปในแคปซูลของรังไข่ มักเป็นข้างเดียว และเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังคลอด ก้อนหนองอาจแตก และทำให้มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบตามมาได้
  • ฝีในตับ – เกิดจากการที่ตับติดเชื้อ และเกิดมีฝี/หนองขึ้นในตับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงฝีเดียวตำแหน่งเดียว หรือหลายฝีก็ได้ โดยอาจเกิดร่วมกับที่อวัยวะอื่น ๆ เกิดมีฝีร่วมด้วย หรือเกิดมีฝีเฉพาะในตับก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคฝีในตับที่พบได้ มีทั้งตับอักเสบชนิดฝีบิดอะมีบา และฝีแบคทีเรีย
  • ฝีในปอด – เกิดจากการที่ปอดมีการอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง ทำให้เกิดการทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรงหนอง

เมื่อไหร่ที่คุณควรไปพบแพทย์

  • เมื่อฝีมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตร
  • เมื่อฝีมีขนาดใหญ่มากขึ้นและปวดมากขึ้น
  • เมื่อฝีมีตำแหน่งอยู่ใกล้ทวารหนัก หรืออยู่ที่บริเวณขาหนีบ
  • เมื่อคุณมีไข้มากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส

ต้องไปพบแพทย์ ทันทีที่…

  • เมื่อมีไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือใช้ยาสเตอรอยด์มาเป็นระยะเวลานาน หรือได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฟอกเลือด
  • เมื่อคุณเกิดฝี และคลำได้ก้อนที่ใดก็ตามที่อยู่ระหว่างฝีกับหน้าอกครับ เช่น คุณมีฝีที่เท้าแล้วคลำได้ก้อนกดเจ็บที่ขาหนีบ หรือมีฝีที่แขนแต่คลำก้อนได้ที่รักแร้ เป็นต้น
  • ฝีที่ใบหน้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร

ยุงกัดทำให้เป็นฝี ได้หรือไม่?

การโดนยุงกัด หรือโดนสิ่งระคายอย่างอื่น เช่น จากการย่ำน้ำสกปรกแล้วเกิดอาการคัน เมื่อเกา ก็จะทำให้เกิดแผล และเชื้อหนองเข้าแทรก เกิดเป็น ฝีพุพอง (impetigo) ขึ้นมาได้ ฉะนั้นในช่วงหน้าฝน ให้ระวังเรื่องยุงกัด และการลุยน้ำท่วม น้ำขัง ให้ดี

การรักษา คือ การกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ (แนะนำให้เข้าพบเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนใช้ยา) และการฟอกล้างบริเวณที่เป็นฝีพุพองให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่ และอาจทายาฆ่าเชื้อในบริเวณที่เป็นฝีพุพองด้วย

เตือน “แมลง-ยุง” กัด อาจเสี่ยงป่วยโรคเนื้อเน่า!

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี และโฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า…

โรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิง แฟสเชียไอติส (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในแผลซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย 2 ชนิด คือ Streptococcus pyogenes, Staphylococcus aureus

โดยมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง และชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักพบในผู้ที่มีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือแผลจากการถูกแมลง หรือยุงกัด แล้วสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือในน้ำ และอาจดูแลแผลไม่ดี จนแผลลาม ทำให้แผลติดเชื้อซ้ำซ้อน

*สังเกตได้ว่า โรคเนื้อเน่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกับ ฝี


ฝี

การรักษาฝี

การรักษาฝี สามารถรักษาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยการประคบร้อนรักษาฝีอักเสบ เพื่อช่วยให้หัวฝีหดตัว และระบายฝีหนองออก

ทั้งนี้ หากหัวฝีมีขนาดใหญ่เกิน 1 เซนติเมตร หรือหัวฝีมีลักษณะเป็นหัวแข็ง หนองไม่สามารถระบายออกได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาระงับการปวด และผ่าฝีเพื่อเอาหนองในหัวฝีออก หรือใช้ยาปฏิชีวนะ dicloxacillin หรือ cephalexin ในกรณีที่พบว่าฝีมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วย ที่มีภาวะเหล่านี้

  • ฝีเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า
  • มีการติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออย่างเฉียบพลัน
  • ฝีเกิดขึ้นที่ศีรษะ
  • ระบบภูมิคุ้มกันแทรกซ้อน

ในกรณีที่มีอาการร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของฝี ดังต่อไปนี้ได้

  • มีการแพร่กระจายของเชื้อ เกิดขึ้นที่สมองหรือบริเวณไขสันหลัง
  • เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • เกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ
  • มีรากฝีใหม่
  • เนื้อเยื้อตาย หรือกลายเป็นเนื้อเน่า
  • เกิดการติดเชื้อเข้ากระดูกแบบเฉียบพลัน

เป็นฝีประจำทุกเดือน เกิดจากอะไร?

หากเป็นฝีประจำทุกเดือน อาจเป็นไปได้ว่า บริเวณจุดนั้นมีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ และยังไม่ได้กำจัดออก ทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นฝีซ้ำ ๆ ได้

การเกิดฝีซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อาจเกิดจากร่างกายไม่แข็งแรง มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ทางที่ดีที่สุด ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง (อาจจะต้องผ่าตัด เพื่อเอาเชื้อโรคออกมาให้หมด) และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ฝีที่เคยเกิดซ้ำ ๆ ก็อาจเกิดขึ้นน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นอีกเลยก็เป็นได้


ค่าใช้จ่ายในการรักษา ฝี

ค่ารักษาฝีจะมีหลายราคาแล้วแต่โรงพยาบาลที่เราเลือก โดยส่วนมากจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักพัน จนถึงหลักหมื่นบาท (มักจะเริ่มต้นที่ 3,000 – 4,000 บาท) และอาจจะต้องเสียค่ารักษาต่อเนื่อง เช่น ค่าล้างแผล ค่ายา เป็นต้น


จะป้องกันตนเองจากฝีที่ผิวหนัง ได้อย่างไร?

การป้องกันการเกิดฝี อาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่ก็มีวิธีที่ช่วยลดโอกาส ของการได้รับเชื้อ Staph เพื่อไม่ให้เป็นฝีบ่อย ๆ ได้ ดังนี้

  • รักษาความสะอาดของร่างกาย ล้างมือบ่อย ๆ
  • หากมีบาดแผล ควรทำความสะอาดบาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้ผ้าพันบาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน มีดโกน อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง และเสื้อผ้า
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุง หรือแมลงกัดต่อย ถ้าโดนกัดอย่าเกาด้วยมือสกปรก ควรล้างแผลด้วยสบู่อ่อน ๆ ให้สะอาด
  • ควรควบคุมน้ำหนักจนเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • งดการสูบบุหรี่

อ้างอิง :
1. bupa.co.th 2. youtube.com 3. healthmeth.wordpress.com 4. facebook.com/FoodandHealthforyou 5. doctor.or.th 6. news.thaipbs.or.th

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close