8 โรคหน้าหนาว ที่ต้องระวัง! พร้อมอาการบอกโรค

โรคหน้าหนาว

เมื่อลมหนาวมาเยือน หลายคนก็แฮปปี้ดี๊ด๊า ไม่ต้องทนแดด ทนฝนอีกต่อไป แถมยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวเป็นที่สุด แต่อย่าลืมว่า อากาศหนาวก็สามารถทำให้เราป่วยได้เช่นกันนะ นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เย็นลง ยังเอื้อให้เชื้อไวรัสอยู่รอด และแพร่กระจายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดย โรคหน้าหนาว ที่ทุกคนควรระวังจะมีอะไรบ้างนั้น มาติดตามไปกับ GedGoodLife กันเลย

ดีคอลเจน

8 โรคหน้าหนาว ที่ควรระวัง!

1. ไข้หวัด

ไข้หวัด (Common Cold) เป็นอาการป่วยพื้นฐาน ที่ทุกคนสามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว คุณก็สามารถเป็นหวัด คัดจมูก ได้ง่ายขึ้น และบ่อยขึ้นกว่าปกติถึง 2 เท่า ไข้หวัดธรรมดา เกิดได้จากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อที่พบบ่อย คือ เชื้อไรโนไวรัส

คนไข้มักมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันคอ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว แต่จะไม่ค่อยเป็นอันตรายมากนัก คนไข้ที่เป็นหวัดควรดูแลตัวเองด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ และสามารถทานยาบรรเทาอาการหวัด อย่างเช่น ยาพาราเซตามอล ร่วมด้วย อาการก็จะดีขึ้นได้ภายใน 1-3 วัน

โรคหน้าหนาว


2. ไข้หวัดใหญ่

อาการของ ไข้หวัดใหญ่ (Flu) จะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่รุนแรงกว่า เป็นโรคที่เกิดจาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุมาจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ จะมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว จึงทำให้มีผู้ป่วยในฤดูหนาว มากกว่าฤดูอื่น ๆ

อาการที่พบ คือ หนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หากกินยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจาก อาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคหน้าหนาว


3. ปอดบวม

โรคปอดบวม (Pneumonia) เกิดจากภาวะปอดอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส จนทำให้มีหนอง และสารปนเปื้อนภายในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้ ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน

ผู้ป่วยมักมีอาการ ไอ จาม มีเสมหะมาก หนาวสั่น มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน คัดจมูก แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ มักพบหลังจากเป็นไข้หวัดเรื้อรัง และในผู้ป่วย โรคหอบหืด พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 – 10 ปี


4. หัด

หัด (Measles) มักเกิดกับเด็กเล็กช่วงอายุระหว่าง 2-12 ปี โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า รูบีโอราไวรัส อาการจะคล้ายไข้หวัด คือ น้ำมูกไหล ไอแห้งตลอดเวลา ตาและจมูกแดง มักมีไข้สูงติดต่อกันราว 3 – 4 วัน แล้วมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยผื่นจะค่อย ๆ โตขึ้น และมีสีเข้มขึ้น ผู้ป่วยมักมีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก ตรงกระพุ้งแก้ม และฟันกราม ซึ่งเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรคหัดเท่านั้น หลังจากผื่นออกประมาณ 2 – 3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ และหายได้เอง แต่ต้องระวังโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ

และแม้ว่าโรคหัดจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็สามารถติดต่อได้ผ่านการ ไอ จาม จึงควรพาเด็กที่ป่วยไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนเพื่อพักผ่อนอยู่กับบ้าน รวมถึงรับการฉีดวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมัน และคางทูม ตามเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยป้องกันโรคหัดอีกทางหนึ่ง

โรคหน้าหนาว


5. อุจจาระร่วง

โรคอุจจาระร่วง (Diarrhea) ในฤดูหนาว ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า พบบ่อยที่สุดในเด็กอายุ 6 – 12 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิต้านทานต่ำ และเด็ก ๆ มักมีพฤติกรรมหยิบสิ่งของเข้าปาก ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

อาการของโรค คือ มีไข้ ถ่ายเหลว และอาเจียนอย่างหนัก จนอาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ถึงขั้นช็อก หรือเสียชีวิตได้ จึงควรให้ผู้ป่วยจิบสารละลายเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากผู้ป่วยดื่มน้ำไม่ได้ อาจต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแทน


6. โรคไข้สุกใส

ไข้สุกใส หรือ โรคสุกใส (Chicken pox) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ติดต่อผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง สัมผัสของใช้ หรือสูดลมหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไป พบมากในเด็กวัยเรียนที่มีอายุ 5 – 15 ปี ในผู้ใหญ่จะพบได้น้อยกว่า มักจะเกิดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ส่วนผู้ที่ที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว ก็จะไม่กลับมาเป็นอีก

โรคไข้สุกใส สามารถพบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่มักมีการระบาดในช่วงปลายฤดูหนาว เดือน ม.ค.-มี.ค. อาการที่พบคือ มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามร่างกาย คล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ แต่มีผื่นหรือตุ่มใสขึ้น และมีอาการคัน หลังจากนั้นตุ่มจะแห้งแล้วตกสะเก็ดไปเองใน 5-10 วัน


7. ผิวหนังแห้ง ลอก และคัน

ช่วงที่อากาศหนาว ความชื้นในอากาศจะลดลง ทำให้ความชื้นที่ผิวหนังของเราลดลงไปด้วย และทำให้ผิวแห้ง คัน และลอกได้ ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหากับผู้ที่มีแห้ง หรือผู้สูงอายุที่ต่อมไขมันทำงานลดลง และมีความชื้นของชั้นผิวหนังน้อยอยู่แล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้

สามารถป้องกันได้ด้วยการ อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน ๆ ไม่ขัดผิวมาก ไม่แช่น้ำอุ่นนาน ๆ และทาครีม หรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ ขณะที่ผิวยังหมาด ๆ อยู่


8. อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป

แม้ว่าอากาศหนาวในประเทศไทย จะไม่เคยเข้าสู่ภาวะหนาวจัด แต่ในบางพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะถ้ามีอุณหภูมิต่ำกว่า 15-18 องศาเซลเซียส ผู้สูงอายุก็อาจเกิดปัญหาอุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไปได้ โดยเฉพาะในรายที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย สามารถดูแลป้องกันได้ด้วยการ รักษาความอบอุ่นของร่างกายอยู่เสมอ กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศหนาวจัด

เห็นรึยังว่า ความจริงแล้ว ฤดูหนาวนั้น สามารถทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้หลายอย่างทีเดียว และนี่เป็นแค่การเจ็บป่วยพื้นฐาน ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยเท่านั้น การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค หรือตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค ที่เราได้ยกตัวอย่างมาในวันนี้ ก็จะสามารถช่วยลดโอกาส ที่คุณจะเจ็บป่วยในหน้าหนาวนี้ได้มากทีเดียว

ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ดีคอลเจน

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close