อาการไอมีกี่แบบ แบบไหนควรรีบไปพบแพทย์ ?

การไอ

การไอ คือ หนึ่งในอาการของโรคที่พบบ่อยที่สุด ที่ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย ต่างต้องพบเจอตลอดชั่วอายุขัยกันทั้งนั้น เพราะการไอเป็นกลไกของร่างกายโดยธรรมชาติ ที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจ ส่วน อาการไอจะมีกี่แบบ แบบไหนต้องพบแพทย์ มาติดตามกันเลย

การไอ กลไกปรับสมดุลธรรมชาติของมนุษย์

โดยปกติ คนเราหายใจเอาอากาศเข้าออกผ่านปอดวันละ ประมาณ 8,000 – 12,000 ลิตรต่อวัน ในปริมาณจำนวนมากมายที่ว่านั้นแน่นอนว่า คงไม่ได้มีเพียงอากาศบริสุทธิ์อยู่เท่านั้น แต่ยังปะปนไปด้วยของเสียที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เช่นมลภาวะทางอากาศที่เป็น เชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไวรัสต่าง ๆ ซึ่งร่างกายได้สร้างวิธีกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไป หนึ่งในกระบวนการที่ว่านั้นก็คือ การไอ นั่นเอง

ได้ยินแบบนี้แล้ว การไอ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวเท่าใดนัก หากแต่มีอาการไออยู่บางประเภทที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ไอเอง รวมถึงก่อให้เกิดความรำคาญรบกวนคนรอบข้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการไอของคุณมีสิ่งแอบแฝงปลอมปนออกมา ส่งต่อให้ผู้คนที่อยู่โดยรอบได้รับเชื้อโรคร้ายนั้นไปด้วย

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของข้อมูลที่เรานำมาเสนอวันนี้ อาการไอมีกี่แบบ แบบไหนควรรีบไปพบแพทย์


ไอแบบธรรมชาติ / ไอจาม จากภูมิแพ้

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ร่างกายได้สร้างกลไกขึ้นเพื่อตอบสนองสิ่งแปลกปลอมที่ลอดผ่านเข้ามาตามช่องทางเดินหายใจ อยู่หลายลำดับขั้นตอน เช่น บริเวณโพรงจมูก ขนจมูก ปราการด่านแรกที่คอยคัดกรองผงฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่มีขนาดเกินกว่า 10 ไมครอน ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในส่วนโพรงจมูกและหลอดลมส่วนบน

ซึ่งหลายคนที่ชอบคิดว่าขนจมูกไม่ได้มีประโยชน์ และควรตัดเล็มออกให้หมดนั้น อาจต้องคิดดูใหม่อีกที หากสิ่งแปลกปลอมที่ว่านั้นมีขนาดเล็กกว่าที่กล่าว ก็จะสามารถแทรกผ่านลงไปในหลอดลมส่วนล่าง และเข้าสู่อวัยวะในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายต่อไป

ผู้ที่มีอาการของภูมิแพ้ ส่วนมากจะมีอาการไอ ในลักษณะแบบที่ว่านี้ คือ ไอแบบธรรมชาติ ที่ร่างกายพยายามขับสิ่งแปลกปลอมออกไป ลักษณะโดยทั่วไปของการไอ หรือบ้างก็เรียกว่า จาม แบบนี้จะมีลักษณะ อาการคัด หรือคันบริเวณโพรงจมูก น้ำมูกไหล และมีน้ำมูกไหลลงในคอเวลานอน บางคนอาการจะหายไป เมื่อออกจากบริเวณที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือบางคนอาจมีอาการติดต่อกันจนทำให้มีอาการไอเรื้อรัง

ซึ่งโดยรวมแล้วการไอ ลักษณะนี้ อาการไอจะไม่ค่อยรุนแรง แต่อาการอื่น ๆ ข้างเคียง เช่น น้ำมูลไหล โดยเฉพาะไหลลงที่คอ กลับสร้างความทุกข์ทรมานได้มากกว่า เพราะมักจะตามมาด้วยการเกิดเสมหะ จนทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อจนระคายบริเวณลำคอ

ดังนั้นหากอาการภูมิแพ้ของคุณมีแนวโน้มว่าจะเรื้อรัง ควรรีบพบปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาการไอที่ต้นตอ ซึ่งก็คืออาการภูมิแพ้นั่นเอง

ในกลุ่มนี้ยังรวมถึงผู้ที่ไอ หรือกระแอมโดยที่ไม่มีโรค เรียกทางการแพทย์เรียกว่า Psychogenic หรือ Habit Cough การวินิจฉัยมักไม่พบว่ามีสาเหตุของการไออื่น แต่เป็นลักษณะทางกายภาพที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ และพบว่ามีคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่มีอาการไอในลักษณะที่ว่านี้ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดอันตราย ไม่ต้องมีการรักษา


การไอ

ไอแบบเรื้อรัง

หลายท่านอาจจะมีคำถามอยู่ในใจว่า การไอของเรานั้น เรียกว่าจัดอยู่ในประเภทเรื้อรังได้แล้ว หรือไม่ แล้วอะไรที่เป็นตัวชี้วัดว่า เป็นการไอแบบเรื้อรัง ซึ่งตามหลักการแพทย์แล้วมักจะเรียกผู้ป่วยที่มี  อาการไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์ว่า ไอเรื้อรัง

ไอแบบเรื้อรังยังสามารถแบ่งแยกออกได้เป็นอีก 3 กลุ่ม ก็คือ

1. กลุ่มที่เป็นการไอที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อของร่างกาย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือต่อมทอลซิลอักเสบ เป็นกลุ่มที่พบอาการไอเรื้อรังที่บ่อยที่สุด การอักเสบของเยื่อบุดังกล่าว ทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการไอไวมากขึ้น (cough hypersensitivity) กระตุ้นให้รู้สึกอยากไอตลอดเวลา

และช่วงหลังเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยมักจะยังคงมีอาการไอเรื้อรังหลงเหลือตามมาอยู่ได้ สั้นบ้าง ยาวบ้าง ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง และลักษณะทางกายวิภาคของแต่ละบุคคล ลักษณะอาการไอที่ปรากฎ จะเป็นการไอแห้ง หรือไอมีเสมหะก็ได้

บางรายที่ไอหนักมาก ๆ อาจทำให้ปวดเกร็งที่ศีรษะ เจ็บแน่นชายโครง ซึ่งก่อความทรมานยิ่งนัก และอาจกินเวลายาวนานถึง 3 – 4 สัปดาห์ได้ โดยเฉพาะถ้าพักผ่อนไม่พอ หรือใช้เสียงมากต่อเนื่องตลอดเวลา

ดังนั้นหากคุณอาการยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงหลังจากที่เป็นไข้หวัด หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณลำคอ หลอดลมอักเสบ นานเกินกว่า 1 เดือนแล้วละก็ ควรพิจารณาเข้าพบแพทย์เพื่อ สืบหาสาเหตุ ของอาการไอต่อไป หรือหากคุณมีอาการข้างเคียงที่บั่นทอนสุขภาพการนอนและการใช้ชีวิตประจำวันของคุณมากมาย เช่น ไอในที่ประชุมบ่อยครั้ง ก็ควรรีบพบแพทย์โดยไม่ต้องรอเช่นกัน

2. กลุ่มที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ปอด ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค หลอดลมอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Bronchiectasis) ฝีในปอด และมะเร็งในปอด ถุงลมโป่งพอง จากการสูบบุหรี่ เป็นต้น

กลุ่มนี้มักจะพบอาการไอที่ผิดปกติอย่างสังเกตเห็นได้ชัด มีอาการไอเรื้อรัง นานเกิน 3 สัปดาห์ เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ ไอเป็นเลือด รู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง ซึ่งคงไม่ต้องรอให้เกิดอาการครบดังที่ว่ามาดังกล่าวนี้ หากคุณรู้สึกว่าการไอของคุณมีความผิดปกติแตกต่างจากอาการไอที่เคยเป็นมา ก็ควรรีบ เข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาวินิจฉัยอาการของโรคให้ชัดเจนต่อไป

3. กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีอาการไอแบบเรื้อรังแต่ผลเอกซเรย์ ไม่พบความผิดปกติบริเวณปอด ซึ่งเป็นกลุ่มที่การไอเป็นผลข้างเคียงมาจาก ความผิดปกติในส่วนอื่นของร่างกาย

– การไอจากโรคหอบหืด (Bronchial Asthma)

เป็นลักษณะการไอที่มาพร้อมความรู้สึกเหนื่อย และหายใจมีเสียงวี๊ดแผ่วเบา แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง ซึ่งอาการที่ปรากฎจะมีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น  ยังไม่เคยมีอาการหืดจับ หรือเหนื่อยง่ายเลย (พบว่าประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่เคยมีอาการหืดจับ)

– การไอในผู้ป่วยกรดในกระเพาะ และกรดไหลย้อน

ด้วยความผิดปกติของ ระบบทางเดินอาหารส่วนบน ช่องปาก ลำคอ หลอดอาหารส่วนต้น (Esophagus) โดยเฉพาะตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนต้นกับกระเพาะอาหารที่มีหูรูดปิดที่เรียกว่า Gastroesophageal Sphincter หรือ Lower Esophageal Sphincter ทำงานผิดปกติทำให้ ผู้ป่วยมีอาการไออย่างเรื้อรังได้เช่นกัน

– ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันสูง และโรคหัวใจ

เช่น ยาพวก ACE Inhibitor อาจทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มีอาการไอเรื้อรังได้ พบได้ราว 2 – 14% ของผู้ใช้ อาการเกิดในราว 3 – 4 สัปดาห์หลังใช้ยา อาการไอมักเป็นแบบไอไม่มีเสมหะ เป็นมากในตอนกลางคืน และเวลานอนราบ อาการจะหายไปเมื่อหยุดยา ยาพวก Beta-Adrenergic Blocking Agent อาจทำให้เกิดการไอในผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืดโดยช่วยทำให้หลอดลมตีบลง

– ผู้ป่วยที่ใช้เสียงมาก ๆ ในบางอาชีพที่มีการใช้เสียงยาวนาน หรือดังกว่าคนทั่วไป เช่น ครู ไกด์นำเที่ยว หรือ แม้แต่พ่อค้าแม่ขายในตลาดสด ที่มักจะ ตะโกนคุยกัน ก็มักจะพบอาการไอ ที่เกิดจากการใช้เสียงด้วยเช่นกันซึ่งมักจะไม่รุนแรง หากได้หยุดพักการใช้เสียง 2 – 3 วัน อาการก็จะดีขึ้นได้ แต่ถ้าจะให้หายขาด ก็ต้องมีการปรับพฤติกรรม ใช้เสียงให้เป็นปกติ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวสาระดี ๆ เกี่ยวกับการไอของมนุษย์ อาการที่อยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นกลไกของรายการโดยธรรมชาติ หากเป็นการไอแบบธรรมชาติ / ไอจาม จากภูมิแพ้ โดยส่วนมากมักไม่ได้มีอาการอันตรายร้ายแรง แต่หากรู้สึกรำคาญ หรือทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตถดถอยลงไป ก็ควรรีบหาทางแก้ไข ตามลักษณะอาการ

ส่วนกลุ่มที่เป็นการไอแบบเรื้อรัง ก็อยากเชิญชวนให้ทุกท่านหมั่นสำรวจความผิดปกติในร่างกายเป็นประจำ รวมถึงควรมีการจดบันทึก ลักษณะอาการของตนเองคร่าว ๆ เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยหาสาเหตุ และวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างถูกโรคต่อไป ซึ่งจะช่วยให้คุณหายจากอาการไอไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็วดียิ่งขึ้น


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ยาละลายเสมหะ เพื่อบรรเทาอาการไอ

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close