สีของเสมหะ บอกอะไรได้บ้าง และ วิธีกำจัดเสมหะ ในเด็ก

วิธีกำจัดเสมหะ

ส่วนใหญ่เมื่อตัวเรา หรือ ลูกมีอาการไอ มีเสมหะ เรามักพยายามให้ลูกบ้วน หรือขากเสมหะทิ้งออกไป โดยที่อาจไม่เคยได้ทันสังเกตสีของเสมหะ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ลักษณะสีของเสมหะ อาจบอกถึงโรค และ เป็นสัญญาณเตือนของโรคได้ มาดูกันว่า สีของเสมหะบอกอะไรเราได้บ้าง และจะมี วิธีกำจัดเสมหะ ได้อย่างไร

สีของเสมหะ บอกอะไรได้บ้าง?

เสมหะใส ไม่มีสี อาจเกิดจาก…

– โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาการนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคภูมิแพ้ทางจมูก เกิดจากการแพ้ ระคายเคืองสารก่อภูมิแพ้ ทำให้ไอ จาม มีน้ำมูก เสมหะใส ๆ หลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้หญ้า

– หลอดลมอักเสบ อาการหลอดลมอักเสบ มักเริ่มด้วยอาการ มีเสมหะใสและสีขาว และ อาการไอ ในบางครั้งอาจมีเสมหะสีเหลือง หรือสีเขียวก็ได้

– ปอดอักเสบ อาการเริ่มแรก มีไข้ ไอแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการไอ มีเสมหะใสมากขึ้น


เสมหะสีแดง เสมหะสีชมพู 

เป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งปอด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และวัณโรค

– โรคปอดบวม การติดเชื้อในปอด อาจทำให้เสมหะสีแดง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหนาวสั่น มีไข้อาการไอ และเจ็บหน้าอก

– วัณโรค อาการที่สำคัญ ได้แก่ มีอาการไอ นานกว่า 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด และเสมหะสีแดง มีไข้ และเหงื่อออกตอนกลางคืน

– ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปยังร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากมีเสมหะสีชมพู หรือสีแดงแล้ว อาจพบอาการหายใจถี่

– โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงปอดในปอดอุดตัน การอุดตันนี้มักเกิดจากก้อนเลือดที่เดินทางจากที่อื่นในร่างกาย เช่น ขา ซึ่งทำให้มีเสมหะสีแดงได้ หากมีอาการหายใจถี่ เจ็บหน้าอก อาจอันตรายถึงชีวิตได้

– มะเร็งปอด อาการนี้ทำให้เกิดอาการระบบทางเดินหายใจหลายอย่าง รวมถึงไอเสมหะสีแดง หรือไอเป็นเลือด


เสมหะสีขาว เกิดจาก

หลอดลมอักเสบ อาการนี้อาจเริ่มต้นด้วยเสมหะสีขาว หากมีการพัฒนาไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียก็อาจทำให้เสมหะกลายเป็นสีเหลืองและสีเขียว

โรคกรดไหลย้อน อาการกรดไหลย้อนเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อระบบย่อย ซึ่งมีผลทำให้มีเสมหะสีขาวข้นได้

– ปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาการของโรคนี้ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง และปอดจะสร้างเมือกส่วนเกิน ซึ่งทำให้ร่างกายรับออกซิเจนได้ยากขึ้น ทำให้เกิดเสมหะสีขาวขึ้น

– ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ ของเหลวที่สะสมในส่วนอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ของเหลวที่อยู่คั่งค้างในปอด ทำให้เกิดเสมหะสีขาว


เสมหะสีน้ำตาล เสมหะสีดำ

เสมหะสีน้ำตาล นั่นอาจหมายถึงเลือดเก่าที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย และปะปนออกมาพร้อมกับเสมหะ มักเกิดจาก

– ปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial pneumonia) ปอดบวมชนิดนี้ ทำให้ร่างกายสร้างเสมหะที่มีสีน้ำตาลปนเขียว หรือสีสนิม

– หลอดลมอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial bronchitis) อาการนี้อาจทำให้เสมหะสีน้ำตาล อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรังมากขึ้น หากสูบบุหรี่

– ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) โรคเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมทำให้เกิดการสร้างเสมหะข้นในปอด โรคปอดเรื้อรังนี้อาจทำให้เกิดเสมหะสีน้ำตาลได้

– โรคฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นถ่านหิน เข้าไปสะสมอยู่ในปอด ทำให้อาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นที่สูดเข้าไป เช่น ถ่านหิน แร่ใยหิน และ ฝุ่นหินทราย สามารถทำให้เกิดโรคปอดที่รักษาไม่หาย และทำให้มีเสมหะสีน้ำตาล


เสมหะสีเขียวเหลือง

การที่น้ำมูก หรือเสมหะมีสีเหลือง สีเขียว เกิดจากเอนไซม์ซึ่งสร้างโดยเม็ดเลือดขาว เสมหะที่มีสีเขียว มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในโพรงจมูกหรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ)

– โรคหวัด เมื่อเป็น โรคหวัด หรือภูมิแพ้ที่มีความรุนแรงกว่าปกติ จนทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น และส่งไปในโพรงจมูกเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ ในเซลล์เม็ดเลือดขาวจะมีสารชื่อ “นิวโตรฟิล Neutrophils” ซึ่งสามารถทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียวได้

– โรคหลอดลมอักเสบ มักจะเริ่มด้วยอาการไอแห้ง และในที่สุดก็มี เสมหะใส หรือสีขาว เมื่อเวลาผ่านไปอาจเริ่มไอเสมหะสีเหลืองและสีเขียว นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการเจ็บป่วยอาจพัฒนาจากไวรัส ไปสู่แบคทีเรีย และอาจมีอาการไอ เป็นเวลานานถึง 90 วัน

– โรคปอดบวม เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคทางเดินหายใจ ด้วยโรคปอดบวม อาจทำให้มีเสมหะเป็นสีเหลืองเขียว หรือบางครั้งมีเลือดปน

– ไซนัสอักเสบ เมื่อเกิดติดเชื้อแบคทีเรีย อาจสังเกตเห็นเสมหะสีเหลืองหรือสีเขียว และมีอาการคัดจมูก

– ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีน ทำให้สารคัดหลั่งของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเหนียวข้นขึ้น โรคนี้มักพบได้ในเด็ก และวัยรุ่น ทำให้เกิดเสมหะได้หลายสี จากสีเหลืองเป็นสีเขียว เป็นสีน้ำตาล

วิธีกำจัดเสมหะ

วิธีกำจัดเสมหะ

– กลั้วคอและปากด้วยน้ำเกลือ โดยผสมน้ำอุ่นครึ่งแก้วกับเกลือ 3 ส่วน 4 ช้อนชา จากนั้นใช้กลั้วทั่วทั้งปาก และคอ สรรพคุณของน้ำเกลือจะช่วยลดการระคายเคือง ลดความเหนียวข้นของเสมหะ และช่วยฆ่าเชื้อโรค

– ดื่มน้ำอุ่นมากขึ้น ๆ หากร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำน้อย จะทำให้เสมหะที่ร่างกายสร้างขึ้น เหนียวกว่าปกติ และแห้งได้ง่ายขึ้น ทำให้ขับออกได้ยากขึ้น และควรดื่มน้ำอุ่น แทนน้ำเย็น เพราะน้ำอุ่นจะช่วยละลายเสมหะได้ดีขึ้น

– กินขนมปังปิ้ง ขนมปังปิ้งเป็นของกินที่ช่วยดักเสมหะและขจัดมันลงไปในกระเพาะได้ ให้ลูกกินขนมปังปิ้ง เมื่อขนมปังผ่านสัมผัสลำคอ ลงไปจะช่วยกำจัดเสมหะลงไปได้ด้วย

– มะนาวน้ำผึ้ง ละลายเสมหะ ดื่มน้ำมะนาวอุ่น โดยผสมน้ำมะนาว 2 ช้อนชา กับน้ำอุ่น 1 ถ้วย กรดของน้ำมะนาวจะช่วยขับ ละลายเสมหะ และอาจใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะผสมลงไปด้วย จะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองคอ

– ไอน้ำ กำจัดเสมหะ ความร้อนจากน้ำจะช่วยกำจัดเสมหะได้ ลองต้มน้ำร้อน จนเกิดไอน้ำ เอาใส่ชาม กะละมัง แล้วให้ลูกสูดไอน้ำอุ่น ๆ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะ อาจจะใส่สมุนไพรเช่น หัวหอมแดง ลงไปด้วยก็ได้

– การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาอาการไอมีเสมหะอาจแบ่งได้ 2 ชนิด คือ

  1. ยาขับเสมหะ ซึ่งจะช่วยลดการสร้างเสมหะและทำให้สามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น
  2. ยาละลายเสมหะ ยาชนิดนี้จะช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะและช่วยให้เสมหะขับออกมาง่ายขึ้น โดยก่อนการใช้ยาทั้งสองชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรง หรือ อาการไอ มีเสมหะเป็นเรื้อรัง ยาวนาน ไม่ยอมหาย ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รักษา และวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดมากขึ้น


ที่มา
https://www.si.mahidol.ac.th
https://www.honestdocs.co
http://www.med.nu.ac.th/
https://www.honestdocs.co
https://www.healthline.com
https://www.pobpad.com
https://th.wikihow.com

ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GedGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GedGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close