เมื่อเป็น “โรคกรดไหลย้อน” ให้ย้อนกลับมามองสุขภาพตัวเองใหม่

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่กรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะ ไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร เนื่องมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรัง และรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

มาทำความรู้จัก “กรดไหลย้อน” กัน

อาการของกรดไหลย้อน : ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน จะรู้สึกจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณอกบ่อยครั้ง มีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยว หรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไปจนถึงกลืนอาหารได้ลำบาก ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอเรื้อรัง รู้สึกระคายเคืองคอตลอดเวลา เสียงแหบแห้ง หรือฟันผุ

สาเหตุของกรดไหลย้อน : โรคกรดไหลย้อน เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูด บริเวณส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้กรดหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร จนสร้างความระคายเคืองกับผนังของหลอดอาหาร

นอกจากนี้พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หรือโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้น การทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น รับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที ดื่มน้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นโรคอ้วน อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ประเภทของโรคกรดไหลย้อน

1. โรคกรดไหลย้อนแบบธรรมดา กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น

2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง จะมีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับ ของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้คอและกล่องเสียง เกิดอาการระคายเคืองจากกรด

การป้องกันไม่ให้เป็นกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนมักมีอาการไม่มาก สามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ดังต่อไปนี้

• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด อาหารรสจัด อาหารมื้อเย็นปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร อย่างน้อย 4 ชั่วโมง

• ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา รับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรรับประทานจนแน่นท้อง หรืออิ่มเกินไป คุมน้ำหนักตัวไม่ให้มาก หรืออ้วนเกินไป

• หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ รวมทั้งงดสูบหรี่

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกให้ไกลจากความเครียด ผ่อนคลาย สบาย ๆ

• ไม่ควรนอนราบ ออกกำลัง ยกของหนัก เอี้ยวหรือก้มตัว หลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ

• ปรับหรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว

การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากอาการที่กล่าวมา หากปฏิบัติตามคำแนะนำหรือรับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติม เช่น

  • การส่องกล้องทางเดินอาหาร
  • การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
  • การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
  • การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งให้ผลที่ไวในการวินิจฉัยโรคที่สุด

 การรักษาโรคกรดไหลย้อน

  • รับประทานยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหารรักษาแผล ยาลดกรด
  • การผ่าตัด แพทย์จะทำการรักษาในกรณีต่อไปนี้
    – ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้
    – ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานานและมีผลข้างเคียงจากยา

หลีกเลี่ยง โรคกรดไหลย้อน นั้นทำได้ไม่ยาก  เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตใหม่ เพราะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคโดยตรง หากสงสัยว่าตัวเองกรดไหลย้อน  ไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพราะโรคที่ฟังดูธรรมดาแสนเบสิกนี้ หากปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่รีบรักษาไม่เป็นผลดีกับตัวเองแน่นอนค่ะ

ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close