“ปัสสาวะเล็ด” ปัญหาน่ารำคาญใจของสาว ๆ

ปัสสาวะเล็ด

สาวๆ หลายคนอาจเคยมี หรือกำลังประสบปัญหา ปัสสาวะเล็ด ออกมาขณะไอ จาม หัวเราะ หรือเวลาขยับตัวลุกนั่งทำเอาเดือดร้อนทุกที แถมบางครั้งไปเข้าห้องน้ำก็ยังต้องรอคิวที่ห้องน้ำอีก! บางคนอาจเล็ดนิด ๆ หน่อย ๆ ซึ่งก็ถือว่าแย่พอแล้ว แต่บางคนถึงขั้นต้องใส่แผ่นซับปัสสาวะกันเลยทีเดียว

อาการปัสสาวะเล็ด นั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่า อาจเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่พยุงท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ซึ่งเป็นได้จากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาดตัวช่วยพยุงท่อปัสสาวะ เมื่อไอหรือจามแล้วท่อปัสสาวะเปิด จึงทำให้ปัสสาวะเล็ด การคลอดบุตร อายุมาก อ้วน ไอเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปก็เป็นได้

วิธีรักษา ปัสสาวะเล็ด

– ดื่มน้ำตามเวลา เพื่อการถ่ายปัสสาวะเป็นเวลา ซึ่งจะได้ผลกับผู้ที่มีอาการไม่มากนัก วิธีนี้สามารถใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ได้ เช่น การใช้ยาจากแพทย์ร่วมด้วย จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

– ฝึกขมิบช่องคลอด การขมิบจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบช่องคลอดกระชับแข็งแรงขึ้น ต้องทำอย่างสม่ำเสมอนาน 3 – 6 เดือน หากหยุดฝึกก็มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำอีกได้

– ฉีดสารลดขนาดท่อปัสสาวะ โดยฉีดสารในการรักษาบางชนิดบริเวณด้านนอกท่อปัสสาวะ จะช่วยให้ปัสสาวะเล็ดน้อยลงจนถึงไม่เล็ดเลย แต่ในบางรายอาจต้องฉีดสารซ้ำ

– ผ่าตัดรักษา ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

  • การทำรีแพร์ช่องคลอด ซึ่งปกติเป็นการผ่านตัดเพื่อรักษากระบังลม/ กระเพาะปัสสาวะ/ ทวารหนัก หย่อน ไม่สามารถรักษาอาการไอจามแล้วมีปัสสาวะเล็ดได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ค่อนข้างสูงใน 5 ปีแรก
  • การผ่าตัดดึงรั้งท่อปัสสาวะโดยใช้เข็มแทง เป็นวิธีที่ไม่ได้รับความนิยมนัก และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงมาก
  • การผ่าตัดรั้งท่อปัสสาวะผ่านทางหน้าท้อง มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดสูงถึง 80 – 95% หลังผ่าตัดอาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล 3 – 5 วัน
  • การผ่าตัดรั้งท่อปัสสาวะโดยคล้องท่อปัสสาวะขึ้น ใช้สายเนื้อเยื่อต่าง ๆ เป็นสายคล้องท่อปัสสาวะขึ้นทางหน้าท้อง และผูกติดกับผนังหน้าท้อง หรือกระดูกหัวหน่าว วิธีนี้ได้ผลใกล้เคียงกับการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง แต่แผลจะไม่สวยงามเท่า และอาจปัสสาวะลำบากในภายหลัง
  • การผ่าตัดโดยใช้สายเทปคล้องท่อปัสสาวะขึ้น มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่แผลจะมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวเร็ว มีภาวะแทรกซ้อนน้อย และพักฟื้นเพียง 1 – 2 วันก็กลับบ้านได้

นอกจากวิธีทางการแพทย์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เรายังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปได้อีกด้วย โดยการฝึกกลั้นปัสสาวะร่วมกับการใช้ยาควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากในผู้ป่วยแต่ละรายมีที่มาของอาการปัสสาวะเล็ดแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ให้เข้าใจกันถึงปัญหา ก่อนเข้ารับการรักษาต่อไปนะคะ

*** ท่านใดที่มีปัญหาระบบท่อปัสสาวะ สามารถปรึกษาได้โดยตรงกับ —> สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close