8 ฤทธิ์สำคัญใน “ขมิ้นชัน” รักษาสารพัดโรค และวิธีกินให้ได้ผลดีต่อสุขภาพ

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน (Turmeric) เป็นพืชล้มลุก มีสีเหลืองทอง อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด นอกจากจะนิยมนำมาปรุงกับอาหาร ในขมิ้นชันยังมีสารสำคัญอย่าง “เคอร์คูมินอยด์” หรือ ‘เคอร์คูมิน’ ที่เรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรชั้นยอดในการรักษาโรคได้อีกด้วย มาติดตามเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับขมิ้นชัน และวิธีกินให้ได้ผลดีต่อสุขภาพ กันเลย!

decolgen ดีคอลเจน

ทำความรู้จักกับ “ขมิ้นชัน” และสารเคอร์คูมินอยด์

ขมิ้นชัน เป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในตระกูลขิง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าจะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีตั้งแต่สีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด เอกลักษณ์ที่เด่นชัด คือ รสชาติที่จัดจ้าน สีเหลืองทอง อีกทั้งยังได้มีการนำเอาสมุนไพรมาประยุกต์ผสมผสานลงไปในอาหารไทย เช่น แกงกะหรี่ แกงไตปลา ไก่ผัดขมิ้น หมูสะเต๊ะ ข้าวขมิ้นหมูอบซอส เป็นต้น

ขมิ้นชันถูกนำมาเป็นวัตถุดิบในการถนอมอาหารอย่างแพร่หลาย เพราะขมิ้นสามารถป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ การเหม็นหืนของน้ำมัน และไขมัน เมื่อต้องเก็บไว้เป็นเวลานาน ๆ และยังมีคุณค่าทางโภชนาการให้อาหารได้อีกด้วย

นอกจากจะมีประโยชน์ทางด้านการปรุงอาหารแล้ว ขมิ้นชันยังมีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถรักษาอาการ และโรคต่าง ๆ ได้หลายชนิด มีประวัติในการนำมาใช้ในการรักษามากกว่า 5,000 ปี มีสรรพคุณเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จนเป็นสมุนไพรที่อยู่ในตำรายาของหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ในยุโปร เช่น เยอรมนี รวมถึงในสหรัฐอเมริกา

ในเหง้าขมิ้นชัน มีองค์ประกอบทางเคมีมากมายหลายชนิดที่สำคัญ ได้แก่ สารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) ซึ่งเป็นสารสีเหลืองประกอบไปด้วยเคอร์คูมิน (Curcumin) เดสเมทอกซีเคอร์คูคิม (Dexmethoxycurcumin) และบีสเดสเมทอกซีเคอร์คูมิน (Bisdesmethoxycurcumin)

จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารเคอร์คูมินอยด์ มีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย อาทิ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดการอักเสบ ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ และฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็ง เป็นต้น

8 ฤทธิ์สำคัญใน “ขมิ้นชัน” ช่วยต่อต้านโรคร้าย รักษาสารพัดโรค! 

อย่างที่ทราบกันดีว่าในขมิ้นชัน มีสารสำคัญอย่าง เคอร์คูมินอยด์ ที่มีสรรพคุณทางยา สามารถต่อต้าน ยับยั้ง รักษาโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มาดูกันว่า 8 ฤทธิ์สำคัญในขมิ้นชันไทย มีอะไรบ้าง (จากฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

1. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผล และสมานแผลในกระเพาะอาหาร และฤทธิ์อื่น ๆ ต่อระบบทางเดินอาหาร
ขมิ้นมีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร โดยเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น กระตุ้นการหลั่ง mucin มาเคลือบกระเพาะอาหาร และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่าง ๆ

2. ฤทธิ์ต้านการแพ้
สาร curcumin และสารสกัดด้วยเอทิลอะซีเตทมีฤทธิ์ต้านการแพ้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสาร histamine (สารสื่อกลางที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้)

3. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ
ขมิ้นมีผลยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และสารพิษที่สร้างโดยแบคทีเรียหลายชนิดในหลอดทดลอง เช่น Staphylococci ซึ่งเป็นสาเหตุของหนอง Samonella Shigella และ E.coli ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และ Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุของฟันผุ

ขมิ้นสามารถยับยั้งการเจริญเติบโต และฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้หลายชนิด โดยเฉพาะในรูปน้ำมันหอมระเหยจะจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก

4. ฤทธิ์ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง
การทดสอบผลในผู้ป่วยโรคท้องอืดท้องเฟ้อ ในโรงพยาบาล 6 แห่ง จำนวน 116 ราย แบ่งกลุ่มผู้ป่วยโดยวิธีสุ่มเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับแคปซูลยาหลอก กลุ่มที่ได้รับยาแก้ท้องอืด และกลุ่มที่ได้รับขมิ้นชัน ทุกกลุ่มรับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร และก่อนนอน นาน 7 วัน

พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอาการดีขึ้น หรือหายไป 53% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาแก้ท้องอืด หรือขมิ้นชัน อาการดีขึ้นหรือหายไป 83% และ 87% ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการเกิดผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันระหว่าง 3 กลุ่ม เป็นอาการที่ไม่รุนแรง และหายเองได้

5. ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ทดสอบในผู้ป่วยที่ปวดท้องเนื่องจากโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (รวม 4 กรัม) พบว่าได้ผลดี ได้มีการทดลองผลการรักษาแผลในกระเพาะอาหารในคน พบว่าให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูลผงขมิ้นชัน 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง พบว่า 5 คน หายใน 4 อาทิตย์ และ 7 คน หายภายใน 4-12 อาทิตย์

6. ฤทธิ์ลดการอักเสบ
การศึกษาแบบสุ่ม ปกปิดสองฝ่ายเทียบกับยาหลอก และทดลองให้ยาแบบสลับกลุ่มกัน ในผู้ป่วยข้อกระดูกอักเสบเรื้อรังจำนวน 42 คน โดยใช้ยาสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของเหง้าขมิ้น 50 มิลลิกรัม/แคปซูล 650 มิลลิกรัม พบว่าการได้รับยาสมุนไพรดังกล่าวสามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงได้

7. ฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์
การศึกษาทางคลินิกโดยเจาะเลือดจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 6 คน และอาสาสมัครสุขภาพดี 3 คน แล้วแยก macrophage มาทำการทดสอบ โดยให้สาร curcumin พบว่า macrophage ของผู้ป่วยที่ได้รับ curcumin มีการเก็บและย่อยสลาย amyloid protein เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับ macrophage ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ curcumin แสดงให้เห็นว่าเคอร์คูมิน มีบทบาทช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลาย amyloid protein

8. ฤทธิ์สมานแผล
ในการทดลองทางคลินิก โดยทายาสมุนไพรซึ่งมีขมิ้นเป็นส่วนประกอบที่ผิวหนัง พบว่ามีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวขึ้นใหม่ เมื่อทดลองใช้ขมิ้นในการรักษาแผลผุพองเปรียบเทียบกับยาปฏิชีวนะในผู้ป่วย 60 ราย แล้ว ติดตามดูแผลพุพองหลังการรักษา 21 วัน พบว่าผู้ป่วยทุกรายหายจากโรค และไม่พบภาวะแทรกซ้อน หรือข้อแตกต่างระหว่างการใช้ขมิ้น และยาปฏิชีวนะ

ขมิ้นชัน

วิธีกินขมิ้นชัน ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ

ข้อมูลจาก สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสุรินทร์ มีการศึกษาพบว่า การรับประทานขมิ้นตามเวลาที่อวัยวะต่าง ๆ กำลังทำงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของขมิ้นให้มากขึ้น โดยวิธีกินขมิ้นชันควรรับประทานขมิ้นชันตามเวลาต่อไปนี้ตามการรักษา

– เวลา 03.00-05.00 น. ช่วงเวลาของปอด หากรับประทานช่วงเวลานี้จะช่วยในการบำรุงปอดช่วยให้ปอดแข็งแรง ช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผิวหนัง และช่วยเรื่องภูมิแพ้ หายใจไม่สะดวก

– เวลา 05.00-07.00 น. ช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ ช่วยแก้ปัญหาลำไส้ใหญ่ สำหรับผู้ที่ขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือรับประทานยาถ่ายมานาน หากรับประทานขมิ้นในช่วงนี้จะช่วยฟื้นฟูปลายประสาทของลำไส้ใหญ่ให้บีบรัดตัว เพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้อย่างเป็นปกติ ช่วยแก้ปัญหาลำไส้ใหญ่ขับถ่ายน้อย หรือมากจนเกินไป และช่วยป้องกันการเกิดโรคริดสีดวงทวาร และมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย หากรับประทานพร้อมกับโยเกิร์ต น้ำผึ้ง นมสด มะนาว หรือน้ำอุ่น จะช่วยชะล้างผนังลำไส้ให้สะอาดได้

– เวลา 07.00-09.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร จะช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง และยังช่วยแก้อาการปวดเข่า ขาตึง บำรุงสมอง ป้องกันโรคความจำเสื่อมได้อีกด้วย จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกระเพาะอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และยังลดอาการท้องอืด จุกแน่น ปวดเข่า ขาตึง ช่วยบำรุงสมอง และป้องกันความจำเสื่อมได้

– เวลา 09.00-11.00 น. ช่วงเวลาของม้าม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำเหลืองเสีย มีแผลบริเวณปาก บรรเทาอาการของโรคเบาหวาน โรคเกาต์ การอ้วนเกินไป หรือผอมเกินไป

– เวลา 11.00-13.00 น. ช่วงเวลาของหัวใจ ช่วยบำรุงหัวใจให้มีสุขภาพแข็งแรง

– เวลา 15.00-17.00 น. ช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ ช่วยบำรุงหูรูดกระเพาะปัสสาวะให้แข็งแรง แก้อาการตกขาว และการทำให้เหงื่อออกในช่วงเวลานี้จะช่วยทำให้ร่างกายขับสารพิษออกไปจากร่างกายได้มาก

– เวลา 17.00 น. จนถึงเวลาเข้านอน การรับประทานขมิ้นในช่วงนี้จะช่วยทำให้ความจำดีขึ้น เมื่อตื่นนอนจะไม่อ่อนเพลีย การขับถ่ายก็จะดีขึ้นด้วย

 

อ้างอิง : 1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ. สุรินทร์ 3. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close