“ไต” มีหน้าที่สำคัญอย่างไร? พร้อม 7 วิธี ดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรง

ไต

ไต (Kidneys) ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ๆ ในร่างกายเรา และโรคไตก็ยังเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของระบบสาธารณสุขโลกอีกด้วย วันนี้ GedGoodLife จึงอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของไต ด้วยการพาไปทำความรู้จักกับความสำคัญของ “ไต” ให้มากขึ้น พร้อมวิธีดูแลรักษาไต ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่กับเราไปนาน ๆ

decolgen ดีคอลเจน

ไต อวัยวะสำคัญที่ต้องใส่ใจ

คนเราเกิดมามีไตอยู่ 2 ข้าง วางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน มีขนาดเท่ากำปั้น รูปร่างคล้ายถั่วแดง ถ้าคนเราไม่มีไต หรือไตวายหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด และในร่างกาย ทำให้เลือด และร่างกายสกปรก เป็นเหตุให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเป็นพิษ หยุดทำงาน และเสียชีวิตได้เลยทีเดียว!

หน้าที่สำคัญของ ไต มีอะไรบ้าง?

1. ขับของเสียออกจากร่างกาย คือหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของไต

2. ขับถ่ายสารแปลกปลอมที่ร่างกายรับมา

3. รักษาสมดุลกรด-ด่างของร่างกาย

4. ควบคุมความดันโลหิต

5. ควบคุมสมดุลน้้า และเกลือแร่

6. ควบคุมการสร้างวิตามินดี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และควบคุมการสร้างกระดูก

จะเห็นได้ว่า ไต ทำหน้าที่สำคัญมากมาย และเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน การรักษาสุขภาพไตให้แข็งแรง จึงเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจ

“วันไตโลก” รณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต

เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงกำหนดให้ วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็น “วันไตโลก” หรือ “World Kidney Day” ตรงกับสัปดาห์รณรงค์ลดการบริโภคเค็มสากล

จากผลงานวิจัยล่าสุดในปี 2564 ซึ่งได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hyper tension โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ได้ตีแผ่พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) เฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน (หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา) ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนต่อไป… ข้อมูลจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

วิธีดูแลสุขภาพไต ให้แข็งแรง

การปรับวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อช่วยลดภาระ และยืดอายุการทำงานของไต หรือถนอมไตไว้ใช้นาน ๆ แบบง่าย ๆ มีดังนี้

1. ปรับการรับประทานอาหาร

เพราะอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง หรือเกิดโรคได้ เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนจากเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการเกิดอาการท้องเสีย เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรง จนเป็นสาเหตุให้ไตวายแบบเฉียบพลันได้

2. ลดเค็ม ลดโรคไต

งด หรือลดการรับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น อาหารที่มีรสเค็ม อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป จะทำให้
ความดันโลหิตสูงขึ้น เร่งความเสื่อมของไต รวมถึงงดทานอาหารที่มีไขมันสูงเช่น อาหารมัน ของทอด ขนมหวาน เครื่องดื่ม ชา กาแฟ ที่ใส่นม น้ำตาลมาก ๆ การที่มีไขมันในเลือดสูง มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และเร่งความเสื่อมของไต

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย

ไตมีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย ถ้าร่างกายขาดน้ำนานขึ้น จะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดร่วมกับอาการท้องเสียรุนแรง ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำบริสุทธิ์สะอาด เฉลี่ยวันละ 1.5 – 2 ลิตร ต่อวัน

4. ป้องกันการกระทบกระแทกบริเวณสีข้าง

การถูกตี หรือได้รับบาดเจ็บบริเวณสีข้าง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไตวายได้เนื่องจากเป็นตำแหน่งของไต ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอันตราย หรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริเวณสีข้าง

5. ควบคุมน้ำหนัก

เนื่องจากความอ้วนนั้น เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งเป็นตัวเร่งทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น และผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมากขึ้น เพราะความอ้วนจะไปกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ทำให้ความดันภายในไตสูงขึ้น

6. งดบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มคาเฟอีน

สารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ และคาเฟอีนในขนาดสูง มีผลทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ กลไกที่ทำให้เกิดพิษต่อไต และเช่นเดียวกับคาเฟอีน การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ ทำให้เกิดการสลายตัวของกล้ามเนื้อ และเกิดไตวายเฉียบพลันตามมา

7. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ

พบว่าการกลั้นปัสสาวะนาน ๆ เป็นสาเหตุของการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ บางรายอาจทำให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันได้

 

อ้างอิง : 1. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ 2. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close