8 วิธีบำรุงไต ให้แข็งแรง! พร้อมคำแนะนำ อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

รู้หรือไม่ คนไทยป่วยด้วยโรคไตเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน! และโรคไตนี้ เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก ฉะนั้น เรามาดู วิธีบำรุงไต ให้แข็งแรงกันดีกว่า ส่วนใครที่เป็นโรคไตอยู่ มาดูกันว่าเราควรจะเลือกกินอาหารอย่างไรดี เพื่อป้องกัน และชะลอการเสื่อมของไต

decolgen ดีคอลเจน

“ไต” อยู่ส่วนไหนของร่างกาย และ “โรคไต” คืออะไร?

ไต (kidney) มีอยู่ 2 ข้าง ในกระดูกซี่โครงบริเวณเหนือเอว มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ทำหน้าที่คัดกรองสารอาหารต่าง ๆ ภายในเลือดเพื่อให้ร่างกายนำกลับไปใช้ประโยชน์ แล้วขับน้ำส่วนเกิน หรือของเสียจากเลือดออกมาในรูปแบบปัสสาวะ

โรคไต คือ โรคที่มีภาวะค่าไตเสื่อม และทำงานได้ไม่ปกติ จนเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา หากอาการรุนแรงจะส่งผลให้ไตไม่สามารถทำงานได้ ไปจนถึงไตวาย และเกิดการเสียชีวิตตามมา

โรคไตที่มักพบบ่อย ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ไตอักเสบ นิ่วในไต ไตเรื้อรัง โรคไตจากภูมิคุ้มกันตัวเอง SLE และไตวาย เป็นต้น

วิธีบำรุงไต


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันไตโลก’ หรือ ‘World Kidney Day’


ใครบ้าง ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไต?

นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถานโรคไต และเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไตมากขึ้นเรื่อย ๆ

“จากสถิติปีหนึ่ง ๆ คนเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15,000-25,000 คน และเป็นสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีคนเป็นโรคไตวายที่ต้องฟอกไตประมาณ 70,000 คน นั่นหมายความว่าต้องได้รับการฟอกเลือดไปตลอดชีวิต ไม่เช่นนั้นก็ต้องเปลี่ยนไต ซึ่งปีหนึ่งเราเปลี่ยนไตได้เพียง 600 คนเท่านั้นเอง”

โดยบุคคลที่เสี่ยงเป็นโรคไตมากกว่าคนทั่วไป มีดังนี้

  • มีนิสัยชอบกินอาหารรสจัดเป็นประจำ หวานจัด เค็มจัด มันจัด
  • กินแต่อาหารที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต และไขมัน
  • กินบะหมี่สำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูง
  • คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียด
  • มีโรคความดันเลือดสูง เป็นจุดตั้งต้นของโรคไต
  • มีน้ำหนักตัวเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต จากพันธุกรรม
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่กินยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาจีน ยาชุด ยาแก้ปวด และอาหารเสริม เนื่องจากในยาเหล่านี้ มีสารบางชนิดที่ทำให้ไตวายได้
  • ผู้ป่วยที่ต้องกินยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพราะ ยากลุ่มนี้ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลงด้วย

พญ.ผ่องพรรณ ทานาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้กล่าวว่า

“สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคไตจริง ๆ ประมาณ 70% คือกลุ่มโรคประจำตัว อย่างเบาหวานและความดัน หรือแม้แต่โรคไขมัน และโรคอ้วน ก็นับเป็นความเสี่ยงเช่นกัน”


วิธีบำรุงไต

8 วิธีบำรุงไต ให้แข็งแรง สุขภาพดี ทำอย่างไรได้บ้าง ?

1. เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ไม่ว่าจะเป็นผัก และผลไม้สด ธัญพืชที่ยังไม่ผ่านการขัดสี อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง เช่น ถั่ว ปลาที่มีไขมันสูง ลดการกินเนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสูง

หลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกระป๋อง และมันฝรั่งทอด เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว คนเราควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างราบรื่น กรองสารพิษออกจากเลือด ขับสารพิษทางปัสสาวะ

3. ลดน้ำหนัก

เบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่ง ของการเกิดโรคไตเรื้อรัง ฉะนั้นเราจึงต้องควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ แต่… ไม่ควรเร่งลดน้ำหนัก เพราะอาจทำให้ไตวายเฉียบพลันได้!

4. ลดความดันเลือดสูง

ค่าความดันเลือดของคนทั่วไป ค่าบนจะอยู่ที่ 90-120 มิลลิเมตรปรอท ส่วนค่าล่างประมาณ 60-80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันค่าบนมากกว่า 140 และตัวล่างมากกว่า 90 จะจัดว่าความดันเลือดสูง โดยผู้ที่อายุ “มากกว่า 60 ปี” ควรคุมให้ค่าบนน้อยกว่า 150 ค่าล่างน้อยกว่า 90 ในขณะที่ผู้ที่อายุ “น้อยกว่า 60 ปี” ควรคุมให้ค่าบนน้อยกว่า 140 ค่าล่างน้อยกว่า 90

ส่วนผู้ที่เป็นโรคไต ต้องคุมความดันเลือดให้ต่ำกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์โรคไต ว่าจะต้องคุมความดันอยู่ที่เท่าไร

5. ลดเค็ม

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต และต้องการ บำรุงไต ต้องบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือซีอิ๊ว/น้ำปลา ประมาณ 4 – 5 ช้อนชาต่อวัน ด้วยการควบคุมปริมาณการกินของเค็มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา ซีอิ๊ว ชีส เกลือ อาหารกระป๋อง ซุป เบคอน หมูแฮม ขนมกรุบกรอบ กะปิ ปลาร้า ของหมักของดองต่าง ๆ

6. ลดน้ำตาล

ค่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ค่าปกติจะอยู่ที่ 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ควรเลือกกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งเลือกอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 55 เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต นมสด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำ แครอต ข้าวโพดหวาน น้ำผึ้ง

7. ไม่สูบบุหรี่ หรือ เลิกสูบบุหรี่

สารพิษที่อยู่ในบุหรี่ จะเข้าไปในกระแสเลือด และส่งผลต่อหัวใจและไต เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่แล้ว ผู้ที่สูบบุหรี่ มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะไตวายได้มากถึง 3 เท่า

8. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด หรือยาต้านการอักเสบ

โดยเฉพาะยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ต้องกินหลังอาหารทันที ซึ่งมักจะมีพิษต่อไต นอกจากนี้ การกินยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะเร่งให้การทำงานของไตเสื่อมถอยลงอีกด้วย


วิธีบำรุงไต ด้วย 7 สุดยอดอาหาร และสมุนไพรบำรุงไต

นอกเหนือไปจากการดูแลสุขภาพไตในเบื้องต้นแล้ว มีอาหารหลายชนิด ที่สามารถช่วย บำรุงไต ของคุณให้แข็งแรงยิ่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น

1. กระเทียมสด

กระเทียมสดมีสารอัลลิซิน ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ดี มีสรรพคุณในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา รวมทั้งป้องกันโรคหัวใจโรคหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ที่สำคัญคือ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไต และการอักเสบต่างๆ ได้

2. หอมหัวใหญ่

หอมหัวใหญ่เป็นอาหารบำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะในผู้ที่มีระดับครีเอตินินสูง หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคไต เนื่องจากในหอมหัวใหญ่ จะมีสารประกอบธรรมชาติอย่างโพรสตาแกลนติน ที่มีคุณสมบัติในการลดความหนืดของเลือด และช่วยลดความดันของเลือด ซึ่งช่วยบรรเทาอาการของโรคไตได้

3. กะหล่ำปลี

ในกะหล่ำปลีมีทั้งวิตามินซี กรดฟอลิก เส้นใยอาหาร และยังมีโพแทสเซียมต่ำ ซึ่งสามารถช่วยขจัดสารพิษบางอย่างออกจากร่างกายได้ ทำให้ลดภาระการทำงานของไต อีกทั้งยังป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคไตทั้ง 2 โรคได้อีกด้วย

4. ปลาสด

เช่น แซลมอน เทราต์ และซาร์ดีน ที่อุดมไปด้วยโปรตีน และโอเมก้า 3 ที่ร่างกายของคนเราไม่สามารถผลิตเองได้ การกินปลาสดเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอลสูงได้

5. แครนเบอร์รี่

ผลไม้ลูกเล็กสีแดง ที่ช่วยเพิ่มความเป็นกรดของปัสสาวะ และลดความเสี่ยงในการเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

6. กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณทางสมุนไพรมาก ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย แก้โรคนิ่วในไต ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู้ทวารหนักได้

7. ใบบัวบก

มีสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบโลหิตโดยตรง เช่น ไตรเตอพีนอยด์ (อะซิเอติโคไซ) เพิ่มความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความหยืดหยุ่นเพื่มมากขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยชะลอการเสื่อมของไต


ผู้ป่วยโรคไต ควรเลือกกินอย่างไรดี?

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าโรคไตนั้นมีหลายโรคเลยทีเดียว เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ โรคติดเชื้อของไต โรคไตวายเฉียบพลัน ฉะนั้นการเลือกกินอาหารจึงต้องระวังเป็นพิเศษ วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรสอบถามแพทย์เรื่องอาหารการกินให้เหมาะสมกับร่างกายเรานั่นเอง

เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตมีสุภาพดี สามารถใช้ชีวิต และการทำงานได้ตามปกติ จึงควรรู้จักการบริโภคที่ถูกต้องดังนี้

1. ทานโปรตีนตามแพทย์สั่ง – โปรตีนคือ สารอาหารที่จำเป็นในการเสริมสร้าง และซ่อมแซมกล้ามเนื้อให้ร่างกาย โปรตีนที่กินควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงที่ได้จากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา และไข่ขาว เพราะมีไขมันน้อย ย่อย และดูดซึมได้ง่าย

  • ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ควรจำกัดการรับประทานโปรตีน ถ้ากินโปรตีนมากก็จะมีของเสียผ่านไตมาก ไตทำงานหนักมากขึ้น
  • ในทางกลับกัน คนเป็นไตวายที่ต้องล้างไต ไม่ต้องจำกัดโปรตีนมาก เหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้ล้างไต ในทางกลับกันควรกินมากขึ้นด้วย
  • ผู้ป่วยโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เรื่องทานโปรตีนก่อนเสมอ

2. จำกัดโซเดียม

ผู้ป่วยโรคไต จำเป็นต้องจำกัดโซเดียม เช่น เกลือ ซอสปรุงรส ในอาหาร และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง ไข่เค็ม ปลาเค็ม กุนเชียง เป็นต้น
* ปริมาณโซเดียมที่ควรบริโภคใน 1 วัน = 2,000 มิลลิกรัม

3. จำกัดโพแตสเซียม

เนื่องจากโพแตสเซียมถูกขับออกทางไต ถ้าร่างกายมีโปแตสเซียมคั่งในเลือดมาก อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีผลทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และหัวใจหยุดเต้นได้

โพแตสเซียมเป็นสารอาหารที่มีมากในผัก และผลไม้ จึงควรเลือกทานผัก-ผลไม้ ที่มีโปแตสเซียมต่ำ เช่น

  • ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ ได้แก่ เงาะ มังคุล แอปเปิ้ลฟูจิ สับปะรด ส้มโอ
  • ผักที่มีโพแทสเซียมต่ำ ได้แก่ ผัดกาดขาวปลี เห็ดหูหนูสด บวบ หอมใหญ่ ถั่วพู
  • ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเสมอ

4. จำกัดน้ำ

การดื่มน้ำเยอะ ๆ มักเป็นผลดีกับผู้ที่มีสุขภาพปกติ แต่กับผู้ป่วยโรคไตต้องจำกัดน้ำ เพราะ มีความสามารถในการขับปัสสาวะลดลง ถ้าไม่ควบคุมปริมาณน้ำ จะทำให้ความดันเลือดสูง และมีอาการบวมมากขึ้น ผู้ป่วยโรคไตควรดื่มน้ำไม่ควรเกินวันละ 750 –1,000 ซีซี (3-4 แก้ว) หรือตามแพทย์สั่ง

5. จำกัดฟอสฟอรัส

ร่างกายของผู้ป่วยโรคไตขับฟอสฟอรัสได้น้อย ทำให้เกิดการคั่งของฟอสฟอรัสในเลือด มีผลเสียต่อกระดูก ทำให้กระดูกหัก กระดูกพรุนได้ง่าย

ควรหลีกเลี่ยง : อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ไข่แดง ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเมล็ดแห้ง เบียร์ เบเกอรี่ ช็อคโกแลต ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีสีเข้ม เป็นต้น


อ้างอิง: 1. pobpad 2. matichon 3. rama.mahidol 4. กลุ่มงานโภชนวิทยา 5. pranangklao 6. mgronline

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

decolgen ดีคอลเจน

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close