ความเครียด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง? พร้อมแบบทดสอบความเครียดในบทความ

ความเครียด

ความเครียด คืออะไร แบบไหนถึงเรียกว่าเครียด ? วันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่องความเครียด พร้อมแบบประเมินความเครียด และ ความสุข ในบทความนี้กัน

ความเครียด (stress) คืออะไร?

ความเครียด (จิตวิทยา) – เป็นความรู้สึกตึง/ล้าทางใจ หรือการเสียศูนย์/ความสมดุลทางใจที่มีมาก่อน เนื่องจากการได้รับสิ่งเร้า/ปัจจัยไม่ว่าทางกายหรือใจ ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจริง ๆ หรือไม่

ความเครียด (ชีววิทยา) – หมายความถึงผลสืบเนื่องจากการที่สิ่งมีชีวิต (ทั้งมนุษย์ และสัตว์อื่น) ไม่สามารถตอบสนองอย่างพอเหมาะกับความต้องการทางจิต อารมณ์หรือกายได้อย่างพอเหมาะ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือสมมติขึ้น

ผู้ที่รู้สึกเครียด มักจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหร้ายมากกว่าปกติ ระงับอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ หากเป็นเวลาปกติ เมื่อมีอะไรบางอย่างมากระทบจิตใจ ปกติแล้ว เรามักจะควบคุมตนเองได้ รู้จักคิดกลั่นกรองหาเหตุผล แต่ตอนที่อยู่ในภาวะเครียด ความสามารถในการควบคุมตนเองจะน้อยลง จึงทำให้บางครั้งแสดงออกรุนแรงมากกว่าที่ปกติ

ดีคอลเจน

ความเครียด แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

1. เครียดระดับต่ำ (Mild Stress) เป็นความเครียดที่ไม่คุกคามต่อการดําเนินชีวิต อาจรู้สึกเพียงเบื่อหน่าย ขาดแรงกระตุ้น และมีพฤติกรรมที่เชื่องช้าลง

2. เครียดระดับปานกลาง (Moderate Stress) เป็นความเครียดในระดับปกติ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย และไม่แสดงออกถึงความเครียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่สามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เองจากการทํากิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อผ่อนคลาย ความเครียด

3. เครียดระดับสูง (High Stress) เป็นความเครียดที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทําให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด พฤติกรรมการนอนและการกินอาหารเปลี่ยนไป จนมีผลต่อการดําเนินชีวิต

4. เครียดระดับรุนแรง (Severe Stress) เป็นความเครียดระดับสูง และเรื้อรังต่อเนื่อง จนทําให้ผู้ที่มีความเครียดในระดับนี้ล้มเหลวในการปรับตัว และก่อให้เกิดความผิดปกติ และอาจเกิดโรคต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้นมาได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการดําาเนินชีวิตประจําวัน ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์

หากคุณสงสัยว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่หรือไม่ และมีความรุนแรงแค่ไหน ก็สามารถไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการทดสอบ หรือทดสอบตัวเองได้ที่เว็บของกรมสุขภาพจิตตามลิงก์ด้านล่าง


ความเครียด ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง? อย่าเครียดนาน สุขภาพพัง!

ความเครียด สามารถส่งผลกระทบต่อเราได้โดยตรง ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งในขณะเกิดความเครียด ก็จะส่งผลสู่อวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการทำงานของวัยวะต่าง ๆ เช่น

– หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นผิดปกติ
โดยทั่วไปแล้ว หัวใจของคนปกติจะเต้นอยู่ที่ประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อเกิด ความเครียด หัวใจจะเต้นแรงขึ้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ผู้ที่มีความเครียด จึงมักรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรงจนรู้สึกได้ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก

– ถอนหายใจบ่อย
เมื่อเกิดความเครียด หลอดลมจะหดเล็กลง จนทำให้เราต้องหายใจแรง ๆ คนที่เครียดจึงชอบถอนหายใจ เพราะต้องหายใจออกโดยแรง

– หลอดเลือดทั่วร่างกายตีบตัน
ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ เช่น ทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดหัว เวียนหัว เป็นโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ไขมันอุดตันหลอดเลือด

– กล้ามเนื้อทุกส่วนจะหดเกร็ง
ทำให้ปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่ รวมถึงหน้าตาก็อาจจะเขม็งเกร็งด้วย

– ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ
ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น จนเป็นสาเหตุของลำไส้ และกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผล

– นอนไม่หลับ ความคิดฟุ้งซ่าน

– สมรรถภาพทางเพศลดลง

– คนที่เครียดมาก ๆ มักเป็นโรคเบาหวาน

– อาจทำให้เป็นมะเร็งได้


4 กลุ่ม สัญญาณเตือน ความเครียด

ความเครียดสามารถแบ่งออกได้ 4 กลุ่ม ตามอาการที่เกิดขึ้นกับจิตใจ และร่างกาย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : อาการทางด้านเชาว์ปัญญา Cognitive Symptoms

เมื่อเกิดความเครียด สิ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกมักจะเป็นสมองของเรา ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น มีปัญหาเรื่องความจำ ขี้หลงขี้ลืม สมาธิลดลง ขี้หงุดหงิด เอะอะโวยวาย ไม่สามารถเพ่งความสนใจไปกับการทำงานได้ วิตกกังวล แก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร

กลุ่มที่ 2 : อาการทางด้านอารมณ์ Emotional Symptoms

เวลาที่เครียด เรามักจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน และไม่คงที่อยู่ตลอดเวลา บางคนอาจจะอารมณ์ร้ายขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็มีอาการซึมเศร้าจนเห็นได้ชัด ซึ่งอาการที่เกิดจากความเครียด และส่งผลต่ออารมณ์ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อารมณ์ฉุนเฉียว ซึมเศร้า และร้องไห้ รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว

กลุ่มที่ 3 : อาการทางด้านร่างกาย Physical Symptoms

สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดของ ความเครียด ก็คือการแสดงออกให้เห็นทางร่างกาย โดยจะเริ่มจากเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก่อน จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ

  • ปวดหัว ผมร่วง หนังตากระตุก กินจุบจิบไม่หยุด
  • ปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ ไหล่ คอ และหลัง
  • ผิวพรรณหม่นหมอง เกิดริ้วรอย และผิวพรรณหมองคล้ำก่อนวัย
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกง่าย
  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา คลื่นไส้ เวียนหัว ซึ่งหากอาการรุนแรงขึ้นจนเครียดลงกระเพาะ ก็อาจทำให้อาเจียนได้
  • ความต้องการทางเพศลดลง และอาการภูมิแพ้กำเริบ

อ่านเพิ่มเติม :
1. เมื่อมีอาการ ปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ อาเจียน ควรทำอย่างไรดี?
2. เครียดลงกระเพาะ โรคใกล้ตัวของมนุษย์เงินเดือน
3. โรคภูมิแพ้ คืออะไร? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา I หมอกอล์ฟ นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล

กลุ่มที่ 4 : อาการที่ส่งผลต่อพฤติกรรม Behavioral Symptoms

นอกจาก ความเครียด จะส่งผลต่อร่างกาย สมอง และอารมณ์แล้ว ยังส่งผลทำให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของเราด้วย ซึ่งหากปล่อยเรื้อรัง ก็อาจจะทำให้ติดกลายเป็นนิสัยได้ เมื่อเราเครียด มักจะเกิดพฤติกรรมต่อไปนี้

  • กินอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง
  • นอนไม่หลับ
  • ปลีกตัวออกจากสังคม
  • ใช้ยาเสพติด บุหรี่ หรือแอลกอฮอล์มากขึ้น
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • เหนื่อยล้าตลอดเวลา
  • รวมถึงทำผิดพลาดแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เนื่องจากการรับรู้ของสมองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

ความเครียด

ความเครียด สามารถจัดการได้อย่างไร?

วิธีจัดการความเครียดแบบง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น

  • เข้าวัด ทำสมาธิ ทำจิตใจให้แจ่มใส
  • ท่องเที่ยว
  • ชอปปิ้ง
  • ดูหนัง
  • ฟังเพลง
  • ออกกำลังกาย
  • เล่นกีฬา
  • และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • โดยควรใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อนสนิทที่คอยให้กำลังใจได้ตลอดเวลา

ไบโพลาร์ – โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว

ปัจจุบัน การเจ็บป่วยจากภาวะเครียด เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถพบได้บ่อยบ่อยขึ้น รวมไปถึงความผิดปกติทางด้านอารมณ์ อย่างโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว

โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นหลัก มีการเรียกโรคนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เนื่องจากมีอาการแสดงออก 2 ทาง คือ กลุ่มอาการแมเนีย จะมีอารมณ์ดี หรืออารมณ์รุนแรงเกินเหตุ และกลุ่มอาการซึมเศร้า

ลักษณะของกลุ่มอาการแมเนีย

  • มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่
  • พูดมาก พูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด
  • ความคิดพรั่งพรู รู้สึกว่าตนเองเก่ง มีความสามารถมาก มีความสำคัญมาก
  • มีความมั่นใจในตนเองสูง
  • เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย
  • สมาธิไม่ดี วอกแวก หุนหันพลันแล่น
  • การตัดสินใจไม่เหมาะสม อาจหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ
  • คนที่มีอาการแมเนียมักจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ และปฏิเสธการรักษา

ส่วนอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในโรคไบโพลาร์นั้น จะมีความรุนแรงกว่าอารมณ์ซึมเศร้าในโรคซึมเศร้า ซึ่งสามารถสังเกตความแตกต่างได้ดังนี้

  • เกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน มีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง
  • เคลื่อนไหว และคิดพิจาณสิ่งต่าง ๆ ได้อ่านช้าลง
  • นอนและกินอาหารมากขึ้น
  • ขาดกำลังใจ มองตนเองไร้ค่า ไม่มีประโยชน์
  • โลกที่เคยสดใสกลายเป็นมืดมน ไม่ร่าเริง
  • มักมีอาการวิตกกังวลรุนแรงร่วมด้วย
  • มีอาการหลงผิด
  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มองว่าบุคคลอื่นไม่สนใจหรือไม่เป็นมิตร
  • อาจมีประวัติติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย
  • อาจมีประวัติโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์เศร้าในครอบครัว

และแม้ว่าโดยปกติแล้ว คนเราจะสามารถมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ แต่ก็อยู่แค่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาเป็นปกติ ดำเนินชีวิต รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ ทั้งอารมณ์บวก และลบ จะค้างนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

หากสงสัยว่า ตัวเองมีอาการอยู่ในกลุ่มแมเนียหรือไม่ สามารถทดสอบตัวเองในเบื้องต้นได้ในแบบทดสอบนี้ —> https://bit.ly/3bokahx


เคล็ดลับการสร้างความสุข

ความเครียด

  1. ควบคุมอารมณ์ให้เป็น ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิดง่าย
  2. ฝึกให้มีอารมณ์ขัน ช่วยให้จิตใจเบิกบาน
  3. มองโลกในแง่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา
  4. รับฟังเหตุผล และความคิดเห็นของผู้อื่น
  5. ผ่อนคลายความเครียดลง
  6. ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น
  7. ค้นหาจุดเด่น และ ยอมรับข้อบกพร่อง ของตนเอง
  8. ยอมรับผิดเมื่อทำผิด
  9. ปฎิบัติธรรม นั่งสมาธิ รู้จักปล่อยวาง

อ้างอิง :
1. www.dmh.go.th
2. www.thaihealth.or.th
3. www.prdmh.com
4. www.thaiheartfound.org
5. www.manarom.com
6. th.wikipedia.org

ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ดีคอลเจน

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close