รู้จักกับ ภูมิแพ้ โรคที่ต้องรู้สาเหตุและรักษาให้ถูกจุด – หมอกอล์ฟ นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล

ภูมิแพ้

ภูมิแพ้ โรคที่ทำให้เกิดอาการ คัดจมูก มีน้ำมูกใส เป็นประจำทุกเช้า เนื่องจากปัจจุบันมลพิษทางอากาศมีมากขึ้น ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น อยู่กันอย่างแออัด ทำให้ประชากรที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ พบมากกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 3-4 เท่า! วันนี้ หมอกอล์ฟ จึงขออาสาพาทุกคนไปรู้จักกับโรคยอดฮิตนี้กันให้มากขึ้น มาติดตามกันเลย!

ภูมิแพ้ คืออะไร ทำไมเราถึงป่วยกัน?

เป็นคำถามที่หมอกอล์ฟพบบ่อยมาก จากคนไข้ที่เข้ามารักษา ซึ่งอธิบายไม่ยาก กล่าวคือ คนเราทุกคนมีภูมิต้านทานต่อสิ่งแปลกปลอมกันอยู่ทั้งนั้น แต่สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะไวต่อโปรตีน หรือสารก่อภูมิแพ้ มากกว่าคนปกติ ซึ่งปกติสารพวกนี้จะไม่ทำอันตรายต่อร่างกายคนปกติ เช่น ฝุ่น มลพิษ แมลงสาบ เชื้อรา ขนสัตว์ ละอองเกสร อาหารบางชนิด ยาเพนนิซิลิน พิษแมลง เป็นต้น

โดยเมื่อร่างกายรับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในครั้งแรก ก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาปริมาณหนึ่ง แต่เมื่อรับเข้าไปซ้ำในครั้งที่สอง ภูมิต้านทานจะเยอะขึ้น ทำให้ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีน เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับเชื้อเพิ่ม แต่มันดันมากเกินจนทำให้เราเกิดอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมูกไหล คันตา คันจมูก เจ็บคอ หอบหืด ลมพิษ เป็นต้น

ภูมิแพ้ไม่ใช่หวัด ซึ่ง หวัดจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ใช่เกิดจากโปรตีนของสารก่อภูมิแพ้ แต่อาการอาจจะคล้ายกันในบางส่วนได้

เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคภูมิแพ้มีสองสาเหตุใหญ่ ๆ ก็คือ

1. พันธุกรรม ถ้าครอบครัวใด มีพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคหอบหืด แพ้อากาศ ผื่นคัน ลมพิษ อาจจะทำให้ลูกเสี่ยงต่อโรคนี้ ร้อยละ30 แต่ถ้าทั้งพ่อ และแม่ป่วยเป็นโรคนี้ ลูกอาจจะเสี่ยงเพิ่มถึงร้อยละ 70

2. สิ่งแวดล้อม เพราะสารก่อภูมิแพ้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการหายใจ การสัมผัส การรับประทาน และบางชนิดก็มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อราในอากาศ ฝุ่นPM2.5

ภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้ แบ่งออกเป็น 4 ระบบ

1. ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ มีอาการ คัดจมูก น้ำมูกใส จามบ่อย มีเสมหะลงคอ ไม่มีไข้ คันตา หายใจเสียงดังวี๊ดๆ อาการดังกล่าวอาจเป็นแค่บางฤดูกาล และมักเป็นหนักในช่วงอากาศเย็น เช่น เช้าหรือกลางคืน อาจเป็นนาน 2-3 ชั่วโมง

2. ภูมิแพ้ผิวหนัง มีอาการผื่นนูนแดง หรือแข็งเป็นขุย บางรายเกาจนเป็นแผล อาจเกิดได้ที่บริเวณ ข้อพับ แก้ม หรือตามลำตัว มักจะสัมพันธ์กับอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปกะทันหัน เช่น ร้อนแล้วมาเย็นทันที, สารเคมีที่สัมผัส, และความเครียด

3. ภูมิแพ้ทางเดินอาหาร

  • แบบฉับพลัน ทานอาหารที่แพ้เข้าไปไม่เกิน 2 ชั่วโมง จะบวมริมฝีปาก คันคอ คัดจมูก เกิดลมพิษ หอบหืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
  • แบบแฝง ทานโปรตีนชนิดนั้นไปเรื่อย ๆ เช่น นม ไข่ จนเกินขีดภูมิต้านทานรับไหว ก็จะเกิดอาการรุนแรงมาในทันที อาจช็อคหมดสติ และเป็นสาเหตุของหลายโรค เช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ซึมเศร้าเรื้อรัง สมาธิสั้น

4. ภูมิแพ้หลายระบบร่วมกัน

เป็นอาการแพ้ที่รุนแรง รวดเร็ว และมีอาการหลายระบบ ทำให้มีอาการคัน ปากบวม หน้าบวม รู้สึกแน่นในลำคอ จาม น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ใครที่เป็นโรคหืด อาจไปกระตุ้นให้เป็นมากกว่าเดิมได้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ความดันโลหิตลดต่ำลง หมดความรู้สึก และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคภูมิแพ้

วิธีรักษา โรคภูมิแพ้

สำหรับวิธีการรักษาภูมิแพ้นั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เราเกิดภูมิแพ้ รู้ว่าใกล้อะไร ทานอะไร สัมผัสอะไร แล้วจะเกิดอาการ ก็ต้องห่างเข้าไว้ มิเช่นนั้นอาจต้องมีตัวช่วยอย่างหน้ากากอนามัย ที่ช่วยลดความรุนแรงของสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี

สำหรับยาที่ใช้รับประทานเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ แบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก

1.แบบง่วง ซึ่งยาจะเข้าสู่สมองได้ดี จึงกดประสาททำให้ง่วงซึม ออกฤทธิ์ไว และหมดฤทธิ์ไว เหมาะสำหรับ คัดจมูก ไอจาม น้ำมูกไหล ลมพิษ และดีมากสำหรับอาการเมารถ เมาเรือ

2.แบบชนิดไม่ง่วง ยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับจำเพาะของฮีสตามีนโดยตรง ผ่านสมองน้อย ไม่ง่วง ออกฤทธิ์ยาวนาน ทานวันละครั้งก็พอ เหมาะสำหรับภูมิแพ้ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอจาม ลมพิษ

ภูมิแพ้

ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติม จะกล่าวถึงในตอนต่อไป แต่ขอเตือนไว้นิดนึงนะครับว่า ยาแก้แพ้ ทั้งสองชนิดไม่ควรทานในเวลาเดียวกัน และไม่ควรทานร่วมกับแอลกอฮอลล์ ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เพราะจะเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก

มารู้จักภูมิแพ้ให้แน่ชัด
ไอจามคัดที่จมูกน้ำมูกใส

ตื่นตอนเช้าเจอฝุ่นมีเหลือบไร
ควันบุหรี่ควันไฟก็โถมมา

สัมผัสสารเคมีก็เป็นเหตุ
ยาฆ่าเชื้อบางประเภทใช้รักษา

ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ตามมา
รีบทานยาป้องกันให้บรรเทา

บทความโดย – หมอกอล์ฟ นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close