6 ผลไม้สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน มีค่ากรดต่ำ ปรับสมดุลได้ดี มีอะไรบ้าง?

ผลไม้สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน

รู้หรือไม่? ผลไม้แสนโปรดที่เราชอบกินอยู่เป็นประจำนั้น อาจย้อนมาทำร้ายเราให้เกิดอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอกได้! ฉะนั้นใครที่เป็นกรดไหลย้อนอยู่ ต้องไม่พลาดบทความนี้ มาดูกันว่า “6 ผลไม้สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน” มีค่ากรดต่ำ ปรับสมดุลได้ดี มีอะไรบ้าง?

จำไว้เลย! ผลไม้สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน ต้องมีค่าความเป็นกรดต่ำ

ความเป็นกรดของผลไม้บางชนิดนั้นสูงมากจึงทำให้เกิดอาการเสียดท้อง กรดไหลย้อน และรู้สึกไม่สบายท้องได้ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยกรดไหลย้อน ควรเรียนรู้ค่า PH* ของผลไม้นั้น ๆ ว่ามีความเป็นกรดสูง (High-Acid Fruits) หรือ กรดต่ำ (Low-Acid Fruits) โดยสามารถวัดได้จากค่า PH ดังต่อไปนี้

  • ค่า pH* เท่ากับ 0 นั่นหมายความว่ามีความ “เป็นกรดสูงสุด”
  • ค่า pH อยู่ที่ 7 แสดงว่าผลไม้นั้น “มีค่าเป็นกลาง”
  • ค่า pH เกิน 7 ขึ้นไป ก็แปลว่ามีค่าความ “เป็นด่าง”

สรุป คือ

  • ผลไม้ที่มีความเป็นกรดต่ำ ควรมีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 5-7
  • ผลไม้รสเปรี้ยวที่มีความเป็นกรดสูง ไม่ดีต่อกรดไหลย้อน มักอยู่ที่ 2-4

*PH (potential of hydrogen) คือ การวิเคราะห์ค่าความเป็นกรดด่างโดยการวัด ความเข้มข้นของ “ไฮโดรเจนไอออน” ในน้ำ มีค่าตั้งแต่ 1.0 ถึง 14.0

ผลไม้กรดต่ำที่ควรกิน สำหรับคนเป็นกรดไหลย้อน

1. กล้วยดิบ มีค่า PH ประมาณ 5.50-6.5

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ผลกล้วยน้ำว้าดิบ (หรือผลกล้วยน้ำว้าดิบที่ฝานบาง ๆ แล้วตากแห้ง) สามารถบรรเทาอาการท้องเสีย อาการปวดท้องจุกเสียดได้

โดยกล้วยดิบมีสารสำคัญ ได้แก่ สารแทนนิน (Tannin)  สารซิโตอินโดไซส์ (Sitoindoside) และสารลิวโคไซยานิดินส์ (Leucocyanidins) ซึ่งมีผลช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน โดยสารแทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้ ส่วนสารซิโตอินโดไซส์ และสารลิวโคไซยานิดินส์ มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ตามสารออกฤทธิ์ Sitoindoside เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ การใช้ในระยะยาวจึงต้องระมัดระวังเรื่องผลข้างเคียง เพราะยังไม่มีการศึกษาพิษแบบเรื้อรังของสารกลุ่มนี้ และหากรับประทานมากเกินไป จะเกิดอาการท้องอืด และ ท้องผูกได้

2. เมลอน (หรือจะกินแตงโมก็ได้เช่นกัน) มีค่า PH ประมาณ 5.78-6.6

เมลอนเป็นผลไม้ที่มีรสหวานหอม ฉ่ำ มีค่าความเป็นกรดต่ำมาก ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจึงสามารถรับประทานได้ เนื่องจาก ที่สำคัญ เอนไซม์ในน้ำเมลอน ที่ชื่อว่า superoxide dismutase เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากในการป้องกันความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในร่างกาย ซึ่งความเครียดนี่แหละ คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้

อ่านเพิ่มเติม -> ความเครียดกับกรดไหลย้อน

3. อาโวคาโด มีค่า PH ประมาณ 6.1-6.6

อาโวคาโด มีโพแทสเซียม ซึ่งสามารถช่วยให้กระเพาะเราปรับสมดุลจากกรดให้เป็นด่างได้ อะโวคาโดยังเต็มไปด้วยวิตามิน C, E, K และ B6 และมีไฟเบอร์มากมาย อย่างไรก็ตาม อาโวคาโดมีไขมันอยู่เช่นกัน (เป็นไขมันดี) ถ้าหากกินมากไปก็อาจทำให้อ้วนได้ ซึ่งความอ้วนก็เป็นอันตรายต่อกรดไหลย้อนได้ ฉะนั้น ไม่ควรกินเกินวันละ 1 ลูก เป็นดีที่สุด

4. มะพร้าว มีค่า PH ประมาณ 5.50-7.80

น้ำมะพร้าวที่ไม่หวาน (ไม่เติมน้ำตาลเพิ่ม) สามารถเป็นอีกตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน น้ำมะพร้าวเป็นแหล่งแร่ธาตุที่มีประโยชน์ ช่วยปรับความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย (pH) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการกรดไหลย้อน

5. มะละกอ กินคู่กับแก้วมังกร มีค่า PH ประมาณ 5.20-6.00

มะละกอเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเอ วิตามินซี โพแทสเซียม โฟเลต และเส้นใยอาหาร นอกจากนี้ในมะละกอยังมีเอนไซม์ที่เป็นผลดีต่อกระบวนการย่อย ส่วน “แก้วมังกร” ช่วยในการขับถ่ายได้ดี ดังนั้น จึงช่วยกระตุ้น
การเคลื่อนไหวของลำไส้ และกระตุ้นการสร้างน้ำย่อย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ห่างไกลจากอาการท้องผูก อาการลำไส้แปรปรวน

ฉะนั้นการรับประทานมะละกอสุก และแก้วมังกรคู่กัน จะช่วยในระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

6. แคนตาลูป มีค่า PH ประมาณ 6.13-6.58

แคนตาลูป ถือเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง นอกจากจะมีค่าความเป็นกรดต่ำมากแล้ว ยังมีไฟเบอร์สูง และมีโพแทสเซียมสามารถป้องกันภาวะกรดเกิน (hyperacidity) และยังช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูง และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย สามารถกินได้ทั้งแบบเย็น และแบบปกติ

ผลไม้กรดสูงที่ควรเลี่ยง สำหรับคนเป็นกรดไหลย้อน

โดยทั่วไปผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus Fruits) จะมีมีความเป็น “กรดสูง” เพราะฉะนั้นใครที่เป็นโรคกรดไหลย้อน (GERD) แนะนำให้เลี่ยง หรือกินให้น้อยลง จะดีที่สุด

  • ส้ม
  • องุ่น
  • มะนาว
  • มะเขือเทศ
  • สับปะรด
  • น้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด
  • ซอสมะเขือเทศก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน

นอกจากผลไม้แล้ว คนเป็นโรคกรดไหลย้อนควรงดสูบบุหรี่ และเลือกกินมื้อเย็นแค่พออิ่ม หรือเปลี่ยนมื้อเย็นเป็นผัก-ผลไม้แทน และควรกินก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะได้ย่อยอาหารก่อน ไม่ควรกินแล้วนอน และควรนอนตะแคงซ้ายพร้อมกับหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว พร้อมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูง เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่า

 

อ้างอิง : 1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 2. National Library of Medicine 3. healthline 4. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย 5. รพ. พญาไท 6. fitterminal 7. tools.in.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close