เสมหะ เกิดจากอะไร? พร้อม 8 วิธีกำจัดเสมหะ!

เสมหะ

อาการกวนตัวกวนใจ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเจ้า “เสมหะ” เหนียว ๆ ที่ติดอยู่ในคอ ในจมูก ทำให้หลายคนไม่สบายตัว แล้วยังพาลหงุดหงิดรำคาญใจ! งั้นมาหาต้นตอสาเหตุกันดีกว่าว่า เสมหะ เกิดจากอะไร? รวมทั้ง 8 วิธีกำจัดเสมหะ ที่ต้องลองไปทำกันดู เพื่อขจัดเสมหะให้สิ้นซาก หายใจโล่งคอ โล่งจมูก

เสมหะ หรือ เสลด (phlegm) คือ สารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่ง ที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ เสมหะ ประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 และอีกร้อยละ 1 ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และสารอินทรีย์ (inorganic)

Solmax ยาละลายเสมหะ เพื่อบรรเทาอาการไอ

“เสมหะ” มาจากอะไร ?

เมือกที่หลั่งจากจมูก ไซนัส คอ หลอดลมใหญ่ หลอดลมเล็ก เราเรียกเมือกนี้ว่า “เสมหะ” โดยปกติร่างกายเราจะมีการสร้างเมือก หรือเสมหะ นี้อยู่แล้ว จะมีเซลล์ในจมูก ในทางเดินหายใจ และหลอดลมเล็ก สร้างเมือกพวกนี้ตลอดเวลา

ทั้งนี้เมื่อเกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นการหลั่งเสมหะ จากต่อมสร้างเสมหะออกมา เคลือบบริเวณลำคอ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์เยื่อบุ และหากหลั่งมาก จะเกิดการรวมตัวเป็นเสมหะ หรือจับกันเป็นก้อนเหนียว

โรคต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดเสมหะในลำคอได้

โรคจมูกอักเสบ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เนื่องจากเยื่อบุของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นสเลด หรือเสมหะในคอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระแอมได้

โรคไซนัสอักเสบ เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส ซึ่งจะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในโพรงจมูก ทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอได้ นอกจากนั้น สารคัดหลั่งที่ออกจากไซนัส อาจผ่านรูเปิดของไซนัสในโพรงจมูกออกมา และไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะได้เช่นกัน

โรคกรดไหลย้อน เมื่อกรด หรือสารที่ไม่ใช่กรด (เช่น น้ำดี) ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ไหลขึ้นมาที่บริเวณลำคอ จากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอ ทำให้มีเสมหะในลำคอได้

โรคหลอดลมอักเสบ และ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคหอบหืด ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งอาจเกิดจากการะคายเคืองจากสารเคมี หรือ สารก่อภูมิแพ้ ต่าง ๆ และเมื่อเกิดการอักเสบ ต่อมสร้างเสมหะจะสร้างเสมหะมาเคลือบที่ผิวหลอดลมตลอดเวลา

– การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ เช่น เป็นวัณโรค ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบบริเวณลำคออย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายสร้างเสมหะออกมาเคลือบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเรื้อรังจะเกิดเสมหะอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะรักษาหรือกำจัดเชื้อได้หายขาด

– การใช้เสียงผิดวิธี การที่ใช้เสียงจนเกินไป มักทำให้ผู้พูดต้องหายใจทางปาก คล้ายกับการออกกำลังกายให้เหนื่อย ซึ่งจะมีการหายใจทั้งทางจมูก และปาก ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอ แห้ง และเย็น ร่างกายจึงปรับตัวโดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้นขึ้น และสารระคายเคืองต่าง ๆ ในอากาศ อาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง และไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้

5 พฤติกรรม ทำให้เกิดเสมหะเรื้อรังในคอ

คนไข้บางคนไปตรวจสุขภาพมา แต่ก็ยังไม่รู้สาเหตุว่า เสมหะที่อยู่ในคอบ่อย ๆ เกิดจากโรคอะไรกันแน่ คนไข้เหล่านี้อาจจะต้องย้อนกลับมามองดูพฤติกรรม หรือไลฟ์สไตล์ตัวเองว่า ก่อให้เกิดเสมหะในลำคอหรือไม่ เช่น

  1. สูบบุหรี่
  2. ดื่มแอลกอฮอล์จัด
  3. นอนดึก ตื่นเร็ว ภูมิต้านทานต่ำ
  4. กินอาหารเร่งรีบ ที่เต็มไปด้วยน้ำมัน กะทิ
  5. กินกาแฟที่มีน้ำแข็งเยอะ ๆ ใส่ครีม

บางคนอาจจะบอกว่า ทำไมคนอื่นไม่เป็น ต้องตอบว่า ร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน ถ้าเขาไม่เป็นแต่เราเป็น แสดงว่าร่างกายเราไวต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนอื่นนั่นเอง ลองหยุดพฤติกรรมข้างต้นนี้ดู อาการเสมหะในคออาจจะหายไปเลยก็ได้

สีของเสมหะ อาจนำมาใช้วินิจฉัยโรคต่าง ๆ ในเบื้องต้น ได้ดังนี้

สีของเสมหะ

เสมหะสีใส – โรคภูมิแพ้ โรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ

เสมหะสีขาว – โรคหลอดลมอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหัวใจล้มเหลว

เสมหะสีเขียว หรือเหลือง – โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ

เสมหะสีแดง – เป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งปอด โรคฝีในปอด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และวัณโรค

เสมหะสีน้ำตาล – อาจมีเลือดเก่าที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย ได้ปะปนออกมาพร้อมกับเสมหะ อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคพยาธิในปอด โรคฝีในปอด และโรคฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) ที่เกิดจากการหายใจนำเอาฝุ่นเข้าไปในปอดเป็นจำนวนมาก

เสมหะสีดำ – โรคฝีในปอด โรคฝุ่นจับปอด โรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา รวมถึงการสูบบุหรี่

หากไอมีเสมหะรุนแรงกว่าปกติ เช่น ไอมีเลือดออกมาพร้อมเสมหะ ไอจนนอนไม่หลับ เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที

เสมหะเหนียวข้นกว่าปกติเพราะอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เสมหะข้น และเหนียวกว่าปกติ เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย หรือสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ฝุ่นละออง เป็นต้น ไปสัมผัสกับเยื่อเมือกที่ผลิตเสมหะ ซึ่งเสมหะจะมีสารที่ชื่อว่า “ฮิสตามีน” (Histamine) เมื่อสารตัวนี้ไปสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียแล้ว ก็จะส่งผลให้เยื่อในทางเดินหายใจของคุณบวม และผลิตเสมหะออกมามากขึ้นนั่นเอง

ผลกระทบจากการมีเสมหะที่เหนียวข้นในปริมาณมาก จะทำให้คุณรู้สึกหายใจลำบาก และกลืนอาหารลำบากขึ้น และอาจมีปัญหาน้ำมูกไหลลงคอ จาม เจ็บคอ คันจมูก และคัดจมูก ได้

8 วิธีกำจัด “เสมหะ” เคลียร์จมูก ลำคอ

1. ดื่มน้ำเยอะขึ้น เนื่องจากเสมหะประกอบด้วยน้ำร้อยละ 95 ฉะนั้น การที่เสมหะเหนียวข้นจึงเป็นผลมาจากการที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ ดังนั้นวิธีง่าย ๆ เบื้องต้น จึงควรดื่มน้ำมากขึ้น การดื่มน้ำ ให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น แทนน้ำเย็น จะทำให้เสมหะในลำคอเหนียวน้อยลง และถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น

2. รับประทานอาหารอุ่น ๆ เช่น น้ำซุปร้อน ๆ หรือ เครื่องดื่มอุ่น ๆ เพื่อขจัดเสมหะได้ เพราะน้ำอุณหภูมิสูงกว่าปกติจะช่วยละลายเสมหะในลำคอได้ไม่มากก็น้อย

3. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ การล้างจมูกจะช่วยทำให้เมือก หรือ เสมหะลดลง ยังช่วยกำจัดแบคทีเรียและสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ ทำได้โดยการใช้ไซริงค์ หรือขวดบีบที่ผสมน้ำเกลือฉีดเข้าไปในรูจมูกเพื่อทำให้เมือกในโพรงจมูกขยายตัวและขับออกมา

4. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือ 1/4 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้วใหญ่ จากนั้นนำมากลั้วคอ โดยให้เงยหน้าขึ้นระหว่างที่กลั้วคอด้วย เกลือจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบในลำคอ รวมทั้งน้ำอุ่นก็จะช่วยละลายเสมหะไปด้วยในตัว

5. กลั้วคอด้วยน้ำโซดาแช่เย็น หากไม่สะดวกจะใช้น้ำเกลือกลั้วคอ จะใช้โซดาเปล่าแช่เย็นแทนก็ได้ ความซ่าของโซดาจะทำให้เสมหะลดน้อยลง โดยเฉพาะช่วยลดการกระแอมไอในคนที่รู้สึกว่ามีเสมหะค้างอยู่ในลำคอตลอดเวลา

6. ไอ กระแอมให้เสมหะออก กรณีนี้แนะนำสำหรับผู้ที่มีเสมหะในลำคอเท่านั้น เพราะหากมีเสมหะค้างอยู่ในปอดจะกระแอมไอแบบนี้ไม่ได้ และการไอเพื่อกำจัดเสมหะก็ควรต้องไออย่างมีประสิทธิภาพ คือ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกให้มากที่สุด เพื่อให้ลมหายใจเข้าไปอยู่หลังเสมหะ สังเกตได้จากทรวงอกจะขยายโดยที่ไหล่ไม่ยก และคอไม่ยืด กลั้นหายใจไว้สักครู่แล้วไอให้แรงพอสมควร ซึ่งต้องคำนึงถึงว่าลมที่อยู่หลังเสมหะจะกระแทกเสมหะให้ขึ้นมาตามหลอดลม จากนั้นก็จัดการบ้วนเสมหะทิ้งให้เรียบร้อย

7. หายใจเข้า-ออกลึก ๆ พยายามหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ติดต่อกันเซตละ 5-7 ลมหายใจ วิธีนี้จะช่วยให้ถุงลมขยายใหญ่ และฟีบสลับกันโดยไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่จะช่วยให้ถุงลมที่มีเสมหะเกาะอยู่เคลื่อนตัวจากการพองและแฟบของถุงลม ซึ่งอาจทำให้เสมหะหลุดออกจากถุงลม และง่ายต่อการระบายสู่หลอดลมใหญ่

8. ใช้ ยาละลายเสมหะ หากลองวิธีกำจัดเสมหะ ละลายเสมหะแบบธรรมชาติแล้ว เสมหะยังออกไปไม่หมด ยังมีอาการครืดคราด เสมหะเหนียวข้นติดอยู่ ลองใช้ยาละลายเสมหะ เพราะ ยาแก้ไอละลายเสมหะ จะมีตัวยาที่ช่วยลดอาการไอ เช่น คาร์โบซีสเทอีน (Carbocisteine) เป็นสารละลายเสมหะ ทำให้เสมหะเหนียวข้นน้อยลง และทำให้ร่างกายกายยาขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้  ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่

ยาละลายเสมหะ เพื่อบรรเทาอาการไอ

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GedGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GedGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close