วิธีลดอาการไอหลังหายจากโควิด-19

วิธีลดอาการไอหลังหายจากโควิด-19

ยังคงมีอาการไอหลังจากหายโควิด อยู่ใช่ไหม? อาการไอหลังหายโควิดนี้ เป็นหนึ่งในอาการของภาวะ Long Covid  ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยโควิด-19 และมักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในวันนี้ GED good life จะพาไปไขข้อสงสัยที่ว่า “ทำไมเราถึงยังไอ ทั้งที่หายจากโควิดไปแล้ว?” รวมถึง “วิธีลดอาการไอหลังหายจากโควิด-19” ไปพร้อม ๆ กันเลย หากคุณเป็นหนึ่งในผู้กำลังเผชิญกับอาการไอหลังโควิดอยู่ ต้องไม่พลาด!

โรคโควิดทำให้เกิดอาการไอ ได้อย่างไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ก็เพราะว่า ไวรัสส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของเราโดยตรง ตั้งแต่โพรงจมูกไปจนถึงปอด การไอเมื่อติดโควิด จึงเป็นวิธีหนึ่งของร่างกายในการกำจัดสิ่งระคายเคืองที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ไวรัส ฝุ่น และเสมหะ เมื่อตรวจพบ “สิ่งแปลกปลอม” ในทางเดินหายใจ ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้เกิดอาการไอ ซึ่งจะช่วยขจัดสิ่งระคายเคืองเหล่านั้นออกไป

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ติดโควิด-19 อยู่ ไม่ควรไอโดยไม่ปิดปาก หรือไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะ การไอออกไปโดยไม่ป้องกัน จะทำให้เชื้อไวรัสโควิดแพร่กระจายออกไป และกลายเป็นการแพร่ระบาดสู่คนอื่น ๆ ได้

4 สาเหตุหลัก ที่ทำให้ยังมีอาการไอ แม้หายจากโควิดแล้ว

1. ทางเดินหายใจส่วนบนยังคงเกิดการอักเสบอยู่ จึงยังทำให้ไอ อาจไอมีเสมหะ หรือไม่มีเสมหะก็ได้

2. ปอด และทางเดินหายใจส่วนล่างเกิดการติดเชื้อ และอักเสบอยู่ จึงอาจทำให้เกิดอาการไอ เริ่มต้นมักจะไอแห้ง ๆ แล้วตามมาด้วยไอมีเสมหะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลไป

3. ระบบประสาทอักเสบ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการไอได้

4. ปอดอักเสบ หรือเสียหายจากการติดเชื้อโควิด ทำให้เกิดอาการไอต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ เพื่อเอกซเรย์ปอดอีกครั้ง

จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 สาเหตุข้างต้น เกี่ยวเนื่องกับ “อาการอักเสบ (Inflammation)” ทั้งหมด นั่นก็เพราะว่า การอักเสบเป็นหนึ่งในกลไกต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงกําจัดเซลล์ที่เสียหายเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตจากการติดเชื้อ และการบาดเจ็บ ทั้งนี้อาการอักเสบที่มากเกินไปอาจทําให้หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

อาการไอหลังหายจากโควิด-19 ยังสามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว สำหรับผู้ป่วยโควิดที่รักษา และกักตัวตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หรือครบ 10 วันแล้ว (หรือตรวจผลด้วยชุดตรวจ ATK ไม่เจอ 2 ขีดแล้ว) ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการแพร่เชื้อให้กับคนรอบข้าง สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ยังมีอาการไอหลงเหลืออยู่ ควรปิดปาก หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่อมีอาการไอ

วิธีลดอาการไอหลังหายจากโควิด-19

วิธีลดอาการไอหลังหายจากโควิด-19

อาการไอหลังโควิดสามารถอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ ฉะนั้นการดูแลอาการไออย่างถูกวิธี จึงเป็นเรื่องที่ควรรู้ไว้ ดังต่อไปนี้

1. ถ้าไอมีเสมหะ สามารถใช้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ที่มีตัวยา คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) เพื่อบรรเทาอาการไอจากการมีเสมหะมาก ยาตัวนี้สามารถลดความเหนียวข้นของเสมหะ จนกลไกของร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น

2. จิบน้ำบ่อย ๆ จะช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น และลดอาการไอได้

3. หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการไอ เช่น อาหารทอด น้ำเย็นจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่ทำให้เราเกิดอาการแพ้ เป็นต้น

4. เพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ ด้วยการใช้สเปรย์สำหรับช่องปาก หรืออมยาอมบรรเทาอาการไอ

5. ฝึกหายใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ช่วยลดอาการหายใจเหนื่อย ช่วยขับเสมหะ และป้องกันภาวะปอดแฟบได้ ดูวิธีฝึกหายใจได้ที่นี่ -> 4 ท่าหายใจ ฟื้นฟูสมรรถภาพปอด สู้โควิด-19 !

6. หลีกเลี่ยงควันรถ ฝุ่นในบ้าน ฝุ่น PM2.5 โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องไปยังสถานที่ที่มีฝุ่นมาก ถ้าเกิดอาการแพ้ สามารถกิน ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เพื่อบรรเทาอาการแพ้ได้

ไอแบบไหนควรเข้าพบแพทย์?

ถ้าหากอาการไอไม่หายไป ถึงแม้จะได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำข้างต้นไปแล้ว หรือรู้สึกว่ามีอาการเจ็บหน้าอกขณะไอ เจ็บข้างใดข้างหนึ่ง อาจเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มปอดได้ หรือกรณีที่ไอแล้วสีเสมหะจากสีใส กลายเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือมีเลือดปนมาด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยอาการ และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

อ้างอิง : 1. parkwayshenton 2. blog.startdee 3. รู้ไว้จะได้ไม่ป่วย 4. Doctor Tany

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close