ข้อมูลแน่น! รวมข้อควรรู้เรื่อง “การใช้ยา” และข้อเท็จจริงเรื่องยา ที่มักเข้าใจกันผิด!

การใช้ยา

การใช้ยา กินยา จำเป็นต้องมีความรู้ ใช้ให้ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัย และรักษาอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้ GedGoodLife จึงขอนำข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการรับประทานยาที่ถูกต้องมาฝาก พร้อมเคล็ดลับต่าง ๆ ในการใช้ยา มาติดตามกันเลย!

decolgen ดีคอลเจน

ทำความเข้าใจเรื่อง การใช้ยา อย่างถูกต้อง

ข้อสำคัญที่สุดใน การใช้ยารักษาโรค คือ การเลือกใช้ยาอย่างถูกต้องกับอาการของโรคนั้น ๆ ถ้าใช้ถูก อาการก็หาย แต่ถ้าใช้ผิด นอกจากจะไม่หายจากโรค ยังอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย!

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกินยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคหวัด เช่น ยาเพนนิซิลิน และอะม็อกซีซิลิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการกินยาที่ผิดโรค เพราะ ยาเหล่านี้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสที่ต้นเหตุหลักของ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ นั่นเอง

การเลือกใช้ยาเบื้องต้น กับ 4 โรคยอดฮิต ที่คนไทยเป็นกันบ่อย!

อาการยอดฮิต หรือ โรคยอดฮิตของคนไทย มักจะมีหลัก ๆ อยู่ 4 โรคด้วยกัน ดังนี้

1. โรคไข้หวัด

ไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย เกิดจากการติดเชื้อ ทางเดินหายใจส่วนบน

ยาที่ควรใช้รักษา – โรคไข้หวัด ถ้ารักษาได้ถูกต้องจะหายได้ไว เมื่อเป็นไข้หวัดควรรับประทาน ยาแก้ปวด ลดไข้ ที่มีส่วนผสมของตัวยาพาราเซตามอล และที่สำคัญควร นอนหลับพักผ่อน ให้มาก ๆ ก็สามารถหายได้ภายใน 3-4 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์

* โรคไข้หวัดไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ และไม่ควรทานยาแอสไพริน เพราะผลข้างเคียงสูง

2. โรคภูมิแพ้

ทุกวันนี้คนไทยเป็นภูมิแพ้กันมากขึ้น โดยเฉพาะ แพ้อากาศ แพ้อาหาร แพ้ขนสัตว์ เป็นต้น อาการหลัก ๆ ของภูมิแพ้ คือ มีน้ำมูกใส ๆ ไหล ไอ จาม แต่ไม่มีไข้

ยาที่ควรใช้รักษา – ยาที่ดีที่สุดในการใช้รักษาโรคภูมิแพ้ ก็คือ ยาแก้แพ้ โดยยาแก้แพ้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. แบบกินแล้วง่วง 2. แบบไม่ง่วง (หรือง่วงน้อย) ซึ่งแบบไม่ง่วงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากกินแล้วสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และที่สำคัญ หากรู้ว่าแพ้อะไร ให้เลี่ยงสิ่งที่แพ้ อาการแพ้ก็จะไม่กำเริบขึ้นมาอีก

3. อาการไอ

ไอ เจ็บคอ ไอกลางคืน คืออาการยอดฮิตที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์ หรือเภสัชกร อยู่เสมอ และยังเป็นอาการหลักของโรคโควิด-19 อีกด้วย

ยาที่ควรใช้รักษา – อาการไอ เป็นอาการที่ต้องใส่ใจ และเข้าใจอย่างถูกต้อง เช่น ถ้าไอมีเสมหะ ก็ควรเลือกกิน ยาแก้ไอขับเสมหะ แต่ถ้ามีอาการไอมาก ๆ พร้อมกับมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

4. ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง กรดไหลย้อน

อาการปวดท้อง เป็นหนึ่งในอาการที่มีผู้ป่วยถามเข้ามามากที่สุดในบอร์ด GED : AskExpert เพราะเป็นโรคที่ค่อนข้างยากที่จะวินิจฉัยด้วยตัวเอง

ยาที่ควรใช้รักษา – อาการปวดท้องต่าง ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และถ้ามีอาการท้องเสีย ควรกินเกลือแร่แก้ท้องเสีย ห้ามกินเกลือแร่ออกกำลังกาย เพราะไม่สามารถทดแทนกันได้

การใช้ยา

การใช้ยา


2. ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ก่อนใช้ยาเสมอ

ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาหลายรายการ ไม่ควรปรับเปลี่ยนยาด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาการป่วยกำเริบมากขึ้น มักจะคิดว่า ปรับยากินเองให้มากขึ้น อาการป่วยก็จะหายไว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด และอันตราย! และไม่ควรแนะนำผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกัน กินยาประเภทเดียวกันกับเรา ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์จะดีกว่า  

ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ฝ่ายวิชาการ แนะแนวทาง การใช้ยา เพื่อให้สามารถเลือกยาได้ถูกกับโรค ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกวิธี ดังนี้…

• หลังได้รับยาควรตรวจดูยา และอ่านฉลากยาให้เข้าใจทุกครั้ง ถ้ามีข้อสงสัยสอบถามแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรทันที และรับประทานยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

• หากผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ยา เช่น กลืนยาลำบาก ต้องแจ้งเพื่อจะได้เปลี่ยนเป็นยาน้ำ

• ในระหว่างการใช้ยา หากพบอาการที่ผิดปกติ เช่น ใช้ยาไปแล้วขาบวม ปัสสาวะบ่อย ไอเรื้อรัง เป็นต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจเกิดจากยาที่ใช้อยู่

• ใช้ยาเท่าที่จำเป็นไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดมีความเสี่ยงในการใช้ จำเป็นต้องติดตามการใช้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งอาจตีกันกับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรก่อนการใช้ยาใหม่ ๆ

• เมื่อต้องไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาล ต้องนำยาทุกชนิด ซึ่งรวมถึงสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ไปแสดงแก่แพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ

คำถามสำคัญที่ต้องถามแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้ง

– ชื่อสามัญ และชื่อการค้าของยาชนิดนี้คืออะไร (ถ้าถามแล้วลืม สามารถหาข้อมูลจากการพิมพ์ชื่อยา ยี่ห้อยา ในอินเตอร์เน็ตได้)

– ยาออกฤทธิ์อย่างไร มีผลอยู่ได้กี่ชั่วโมง

– ยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือไม่ และถ้ามีผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง

– ต้องกินยาวันละกี่ครั้ง กินอย่างไร และนานเท่าใด (ให้แพทย์ หรือเภสัชกรเขียนลงถุงใส่ยาก็ได้)

– ระหว่างการใช้ยา ต้องงดอาหาร หรือเครื่องดื่มชนิดใดหรือไม่

– ถ้าลืมกินยา ควรทำยังไง

– อย่าลืมดู วดป ที่ผลิต ก่อนนำยากลับบ้าน


การใช้ยา ประเภทต่าง ๆ ควรใช้อย่างไร?

ยารักษาโรคมีอยู่หลากหลายชนิด และหลากหลายวิธีการใช้ ผู้ป่วยจึงต้องมีความรู้ วิธีใช้ยา ก่อนรับประทานด้วยเสมอ ข้อมูลจาก สสส. ได้ระบุวิธีใช้ยาตามหัวข้อต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

1. รู้ชื่อยา
เมื่อใช้ยาใดต้องรู้ชื่อยา ซึ่งต้องเป็นชื่อทางยาไม่ใช่ชื่อการค้า เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ฯลฯ เพราะอาจแพ้ หรือเกิดอันตรายจากยา ถ้าไม่รู้ชื่อยาก็ยากแก่การแก้ไขช่วยเหลือให้ทัน และเมื่อแพ้ยานั้นแล้วก็ต้องจดจำชื่อไว้ ไม่ใช้ยานั้นอีก

2. วิธีใช้
ให้ใช้ตามหลัก 5 ถูก คือ 1. ถูกโรค 2. ถูกคน 3. ถูกขนาด 4. ถูกเวลา 5. ถูกวิธี และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด และใช้อย่างถูกต้อง

• ถูกโรค เช่น เมื่อปวดหัวก็ต้องกินยาแก้ปวด ลดไข้ ไม่ใช่กินยาแก้ปวดท้อง เวลาปวดท้องก็ไม่ใช่กินยาแก้ปวดลดไข้ เป็นต้น

• ถูกคน โดยดูว่ายาชนิดใด ใช้กับเพศใด วัยใด เช่น ยาคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิง ผู้ชายไม่ควรกิน หรือยาสำหรับผู้ใหญ่ ก็ไม่ควรให้เด็กกิน เป็นต้น

• ถูกขนาด ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัช ว่าควรกินอย่างไร โรคชนิดไหนต้องใช้ยาปริมาณเท่าไร นานเท่าไร ถี่แค่ไหน  เช่น ยาปฏิชีวนะต้องกินอย่างน้อยประมาณ 5-7 วันติดต่อกัน หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน เป็นต้น

การใช้ยาน้ำที่บอกขนาดเป็นช้อนชา ช้อนโต๊ะ เป็นปัญหาเข้าใจกันผิด ๆ เพราะไม่เท่ากับช้อนกาแฟ หรือช้อนกินข้าว คือ

– 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนสังกะสี เท่ากับ 1 ช้อนชาครึ่ง
– 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 15 มิลลิลิตร เท่ากับ 3 ช้อนชา หรือ เท่ากับ 2 ช้อนสังกะสี

ถ้าเป็นไปได้ควรซื้อช้อน หรือถ้วยยาที่บอกขนาดจากร้านขายยามาเก็บไว้ประจำตู้ยา

• ถูกเวลา เช่น ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ก็ต้องกินตามเวลา เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีที่สุด ลดอาการข้างคียงอื่น ๆ ให้ยาออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้เหมาะสม

• ถูกวิธี เช่น ยาลดกรดชนิดเม็ดต้องใช้เคี้ยวก่อนกลืน ยาโรคหัวใจบางอย่างต้องอมใต้ลิ้น ยาแก้ปวดต้องกินหลังอาหาร หรือดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะยาอาจจะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ยาน้ำ แขวนตะกอนต้องเขย่าขวดก่อนใช้ เป็นต้น

3. ข้อห้าม

ข้อห้าม ข้อควรระวังในการใช้ยาแต่ละชนิด ซึ่งอาจดูได้จากฉลาก หรือสอบถามจากผู้รู้ เช่น

  • ยาแก้ปวดพวกแอสไพริน ห้ามกินในคนเป็นโรคกระเพาะ หอบหืด โรคเลือดไหลไม่หยุด ไข้เลือดออก
  • ยาลดน้ำมูก อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ไม่ควรขับขี่ยวดยาน หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร
  • ยาลดกรดต้องไม่ใช่ร่วมกับยาปฏิชีวนะพวกเตตร้าซัยคลีน ยาบำรุงเลือด
  • หญิงมีครรภ์ แม่ระยะให้นมลูก และเด็ก ต้องระมัดระวังในการใช้ยาให้มากขึ้น ยาบางชนิดห้ามใช้เด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้ เป็นต้น

4. วันหมดอายุ

ยาทุกชนิดมีวันหมดอายุ ยาทั่วไม่ควรเก็บไว้ใช้เกิน 5 ปี ส่วนยาปฏิชีวนะ ให้สังเกตที่ฉลากจะบอกวันหมดอายุ เป็นภาษาอังกฤษ เช่น Expiry Date

  • 6/12/64 แสดงว่า ยาหมดอายุ วันที่ 6 เดือนธันวาคม ปี2564 หรือ…
  • 0620/0522 แปลว่า ยาผลิตเดือน 6 ปีค.ศ. 2020 และหมดอายุ เดือน 5 ปีค.ศ. 20222

ไม่ควรใช้ยานั้นหลังวันหมดอายุ นอกจากถ้าเก็บยาไว้ไม่ดี เช่น ในที่อับชื้น ยาอาจเสื่อมสภาพ สังเกตได้จาก สี กลิ่น รส หรือลักษณะภายนอกเปลี่ยนแปลงไป เช่น ชื้น เยิ้ม เหลว เกาะกันแข็งเป็นก้อน มีผลึกวาว กลิ่นน้ำส้ม ต้องทิ้งไป ไม่นำมาใช้อีก เพราะนอกจากรักษาโรคไม่หายแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดพิษภัยแก่ร่างกายอีกด้วย

5. ไม่ใช้ตามคำโฆษณาโดยไม่ศึกษา

เพราะโฆษณามักพูดแต่สรรพคุณด้านดีต่าง ๆ นานา ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง นอกจากนั้นเมื่อใช้แล้วอาจไม่ได้ผล สิ้นเปลืองเงินทอง และอาจเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีก


หลักการใช้ยาให้ถูกต้องตามเวลาต่าง ๆ

จากหลักการใช้ยา 5 ถูก ที่กล่าวไปข้างต้น ข้อที่เกิดความสับสนกับผู้ใช้ยามากที่สุด คือ “ถูกเวลา” โดยเฉพาะยาชนิดกิน เนื่องจากไม่ทราบว่ากินยาเวลาใดจึงจะเหมาะสม และถูกต้อง ซึ่งถ้ากินยาไม่ถูกเวลา ก็จะส่งผลต่อการรักษาได้

ยาก่อนอาหาร

ควรกินก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เนื่องจากยาเหล่านี้จะดูดซึมได้ดีตอนท้องว่าง หรือ อาหารมีผลรบกวนการดูดซึม จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา เช่น

  • ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ควรกินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมียาบางชนิด เช่น ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (ชนิดกินก่อนอาหาร)
  • ยาแก้อาเจียน มีความจำเป็นต้องให้กินยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที เนื่องจากเหล่านี้ใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาที

ยาหลังอาหารการกินยาหลังอาหารมี 2 กรณี

  • กรณีที่ 1 อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของยาสามารถกินยาหลังอาหารทันที หรือหลังอาหารประมาณ 15 นาทีก็ได้
  • กรณีที่ 2 ยาที่ระคายเคืองทางเดินอาหารอาจจะทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด จึงต้องกินหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร

ยาระหว่างมื้อ

ให้รับประทานยาก่อน หรือ หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง โดยถ้าเลือกรับประทานยาก่อนอาหารแล้ว ครั้งต่อไปก็ต้องรับประทานก่อนอาหารทุกครั้งของการรักษาคราวนั้น ๆ

ยาก่อนนอนการกินยาก่อนนอนมี 2 กรณี

  • กรณีที่ 1 กลุ่มยานอนหลับ ควรกินก่อนที่จะนอนประมาณ 15 – 30 นาที เพื่อให้ยา ออกฤทธิ์ในการนอนหลับได้พอดีกับการนอน
  • กรณีที่ 2 ยาที่ไม่ใช่กลุ่มยานอนหลับ ควรเว้นระยะห่างจากยาหลังอาหารมื้อเย็นประมาณ 4 ชั่วโมง (เนื่องจากมีบางท่านนอนดึกมาก หรือทำงานในช่วงกลางคืนจนไม่ได้นอน จึงไม่แน่ใจว่าจะกินยาตอนไหนดี)

ยาที่ต้องกินให้ครบระยะเวลา

มักเป็นยาที่ต้องการให้มีปริมาณอยู่มากพอในกระแสเลือดตลอดเวลา เช่น ยาปฏิชีวนะต้องกินติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน หรือยาคุมกำเนิดที่ต้องกินวันละ 1 เม็ดก่อนนอนทุกวัน เพื่อให้ระดับฮอร์โมนของยาในร่างกายอยู่ในระดับสม่ำเสมอ

ยากินเมื่อมีอาการเท่านั้น

ยาพวกนี้เป็นยาบรรเทาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องกินอีก ได้แก่ ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ฯลฯ

เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน

ยาบางกลุ่ม เช่นยาลดกรด ก่อนกลืนควรเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อที่ตัวยาจะได้กระจายตัวทั่วส่­­­วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหารได้ทั่วถึง และทำให้ยาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

* ยาลดกรดบางยี่ห้อ ไม่จำเป็นต้องเคี้ยว ซึ่งจะมีระบุไว้หน้าซอง เช่น ยาลดกรดยี่ห้อ เครมิล (kremil)


ยาเม็ด ยาน้ำ ยาผง ยาอม ฯ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง?

ยาเม็ดหรือแคปซูล – กลืนยาทั้งเม็ด หรือแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยวยา ยกเว้นยาที่ระบุว่า “ควรเคี้ยวยาก่อนกลืน” เช่นยาลดกรดในกระเพาะ เป็นต้น

ยาผงสำหรับรับประทาน – หากทางแบรนด์ระบุให้ละลายน้ำก่อนกิน ก็ต้องละลายน้ำก่อนเสมอ ไม่ควรกินทั้งที่ยังเป็นผงอยู่

ยาน้ำสำหรับรับประทาน – เขย่าขวดก่อนกินทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยาไม่นอนก้น และกระจายทั่วขวด และควรใช้ช้อนตวงยา หรือหลอดยาที่ติดมากับขวดยา ห้ามใช้ช้อนกาแฟ หรือช้อนรับประทานอาหาร เพราะทำให้มีขนาดยาไม่ถูกต้อง

ยาขี้ผึ้ง หรือครีม – เป็นยาที่ใช้กับผิวภายนอกร่างกาย เวลาใช้ให้ทาบาง ๆ วันละ 2-3 ครั้ง โดยไม่ต้องถู หรือนวด ยกเว้นเมื่อมีระบุไว้ในฉลากเท่านั้น

ยาประเภทหยอดหู ตา จมูก ยาเหน็บ – ควรอ่านฉลากแนะนำให้เข้าใจก่อนใช้

ยาอม – เป็นยาที่ต้องการให้ละลายในปาก ห้ามเคี้ยว หรือกลืนยาทั้งเม็ด

ยาแผ่นชนิดปิดผิวหนัง – ควรปิดแผ่นยาเวลาเดียวกันอย่าสม่ำเสมอ อย่ารอให้มีอาการแล้วค่อยปิด เพราะจะได้ผลช้า

ยาหยอดตา – เมื่อเปิดยาใช้แล้ว ควรทิ้งหลังจาก 1 เดือน และล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยา

จะเห็นได้ว่า การอ่านฉลากก่อนใช้ยา เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อกันไม่ให้ใช้ยาผิด ๆ นั่นเอง


แพ้ยา VS ผลข้างเคียงจากยา แตกต่างกันอย่างไร?

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… คนส่วนใหญ่มักเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแพ้ยา หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพราะเมื่อไหร่ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น หลังทานยาแล้วง่วงนอน ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง มักจะเข้าใจกันว่าเป็นอาการแพ้ยา

ซึ่งความจริงแล้วอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(Adverse Drug Reaction) หรือ ADR แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1. การแพ้ยา (Drug allergy) และ  2. อาการข้างเคียงจากยา (Side effect)

1. การแพ้ยา (Drug allergy)

เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผู้ใช้ยาจะแพ้ยาตัวไหน ลักษณะอาการจะมีตั้งแต่เป็นผื่นแดงตามผิวหนัง ผื่นคัน ริมฝีปากบวม ตาบวม มีแผลบริเวณเยื่ออ่อน ไปจนถึงผิวหนังไหม้ หลอดลมตีบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก

ดังนั้น ผู้ที่แพ้ยาควรจดจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ และควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ

2. อาการข้างเคียงจากยา (Side effect)

หมายถึง อาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยา จะเกิดขึ้นมากน้อย หรือแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล เช่น ทานยาแก้ปวด Ibuprofen แล้วมีอาการแสบท้องเนื่องจากยาระคายกระเพาะอาหาร เรียกว่าเป็นผลข้างเคียงจากยา และอาจแก้ไขโดยทานยาหลังอาหารทันที หรือห้ามทานตอนท้องว่าง ในผู้ที่เคยเป็นโรคกระเพาะอาหารอาจต้องทานยาลดการหลั่งกรดร่วมด้วย


อย. แจงข้อเท็จจริงเรื่องยา ที่ประชาชนมักเข้าใจผิด!

สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงข้อมูลเรื่องยาต่าง ๆ ที่ประชาชนมักมีความเข้าใจผิด ไว้ดังนี้

1. ยาฉีดไม่ได้ดีกว่ายารับประทานเสมอไป

ยาฉีดเป็นยาที่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยารับประทานได้ หรือจะต้องได้รับยาในระดับสูงทันทีเท่านั้น เนื่องจากตัวยาจะมีความรุนแรงในการรักษามากกว่า และแก้ไขได้ยากห­­­ากเกิดการผิดพลาดในการใช้

2. ยาแพงไม่ได้ดีกว่าเสมอไป

ราคาของยาไม่ได้บ่งชี้ถึงคุณภาพของยา เพราะบางครั้งยาตัวเดียวกันอาจจะมีราคาแตกต่างกัน เพราะค่าใช้จ่­­­ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ ยาบางชนิดอาจจะมีราคาที่ถูกกว่า แต่ให้ผลการรักษาที่ดีกว่าก็เป็­­­นได้

3. ยาตัวใหม่อาจส่งผลข้างเคียงได้มากกว่า

หลายคนอาจจะคิดว่ายาตัวใหม่จะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ดีกว่­­­า แต่จริง ๆ แล้วยาตัวใหม่อาจส่งผลข้างเคียงได้มากกว่า หรือรักษาอาการป่วยได้ช้ากว่า เนื่องจากยาตัวใหม่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ออกฤทธิ์ดีเท่ายาตัว­­­เก่าที่มีการพัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว

4. ยาขนานแรงไม่เหมาะกับทุกคน

ยาขนานแรงไม่ใช่ยาที่ดีที่สุดค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะขนานแรง แต่ถ้าไม่ใช่ยาที่รักษาได้ตรงอาการก็ไม่สามารถหายป่วยได้เช่นกั­­­น แถมยังอาจจะส่งผลเสียทำให้ยาเกิดการตกค้างในร่างกายได้อีกด้วย

5. ยาชุดอาจจะเป็นอันตรายกว่ายาทั่วไป

ยาชุดบางชนิดมีการเพิ่มตัวอย่างบางอย่างเข้าไปจนกลายเป็นอันตรา­­­ย อย่างเช่นสารสเตียรอยด์ เพื่อให้ยาเหล่านั้นแรงขึ้น และทำให้หายป่วยไว แต่ถ้าหากรับประทานบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ การรับประทานเพียงชนิดเดียวสามารถรักษาให้หายป่วยได้เช่นกัน และ­­­ปลอดภัยกว่ามาก

6. รับประทานยาไม่ตรงเวลา ยาที่ใช้ก็ไร้ประโยชน์

ยาหลายชนิดมีการระบุเวลาการใช้ยาเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งควรทำตาม เพราะหากรับประทานยาไม่ตรงเวลา ยาเหล่านั้นก็อาจจะออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ หรือไม่มีผลต่อการรักษ­­­าเลยก็ได้ หรือยาบางชนิดอาจจะมีผลข้างเคียงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย­­­ได้หากรับประทานยาผิดเวลา

7. ยาถ่ายไม่สามารถทำให้น้ำหนักลดได้

ความจริง… “ยาถ่าย” มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก โดยยาจะกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวแล้วถ่ายอุจจาระออกมา แต่ไม่มีผลช่วยให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญ

ดังนั้นยาถ่ายจึงไม่มีผลทำให้น้ำหนักลดลงได้ ที่สำคัญ การใช้ยาถ่ายบ่อย ๆ จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ คือ ทำให้ลำไส้เฉื่อยไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้เอง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ รวมถึงส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ได้


จะรู้ได้อย่างไร ว่ายาเสียแล้ว?

นอกจากการดู วันเดือนปี ผลิตแล้ว แนะนำให้สังเกตลักษณะของยาดังนี้

ยาเม็ด – มีลักษณะแตกกร่อน กะเทาะ เปลี่ยนสี หรือสีซีด

ยาเม็ดเคลือบ – มีลักษณะเยิ้มเหนียว

ยาแคปซูล – มีลักษณะบวม โป่งพอง ผงยาภายในจะจับกันเป็นก้อน เปลี่ยนสี หรืออาจมีเชื้อราขึ้นบนเปลือกแคปซูล

ยาน้ำเชื่อม – มีลักษณะขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเหม็นเปรี้ยว

ยาน้ำแขวนตะกอน – มีลักษณะตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรง ๆ ก็ไม่กระจาย

ยาน้ำอีมัลชั่น – มีลักษณะเขย่าแล้วไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน

ยาครีม – มีลักษณะแยกชั้น ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อครีมเปลี่ยนสี

ยาหยอดตา – เปลี่ยนจากน้ำใส ๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดตาแล้วมีอาการแสบตามากกว่าปกติ โดยทั่วไปยาหยอดตาจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือน หลังการเปิดใช้ (หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน)


เก็บยาอย่างไรให้ถูกต้อง

1. เก็บให้พ้นแสงแดด ไม่เก็บไว้ในรถ
2. เก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
3. ปิดฝาให้สนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา
4. ใช้ภาชนะเก็บยาที่เหมาะสม
5. ตรวจสอบวันหมดอายุของยาเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพ
6. อย่าเก็บยาใช้ภายนอกรวมกับยากิน
7. อย่าเก็บยาในที่ชื้น
8. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก

อ่านวิธีเก็บยาให้ถูกต้องเพิ่มเติม ได้ที่นี่ -> เภสัชกรแนะนำ วิธีเก็บยา อย่างถูกวิธี พร้อมไขความเชื่อเรื่อง เก็บยาในตู้เย็น ดีจริงหรือ?


อ้างอิง :
1. dailynews 2. thaihealth 3. anamaimedia 4. healthserv 5. hosthai 6. oryor 1 / 2 7. rongreinkhongnoo

decolgen ดีคอลเจน

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close