เภสัชกรแนะนำ “วิธีเก็บยา อย่างถูกวิธี” พร้อมไขความเชื่อเรื่อง “เก็บยาในตู้เย็น” ดีจริงหรือ?

วิธีเก็บยา

การเก็บยาอย่างถูกวิธี เป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนอาจยังละเลย ไม่ได้ใส่ใจนัก จนอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพ หรือหมดอายุ เมื่อกินเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากยารักษาโรค ก็อาจเป็นสารพิษทำร้ายชีวิตเราได้! ตามมาดูกันเลยว่า วิธีเก็บยา อย่างถูกวิธี ควรเก็บอย่างไร… พร้อมไขความเชื่อเรื่อง “เก็บยาในตู้เย็น” ดีจริงหรือ? โดยคำแนะนำจากเภสัชกร อ่านจบแล้วก็อย่าลืมทำตามกันด้วยนะ จะได้ใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล…

ดีคอลเจน

วิธีเก็บยา เก็บอย่างไรให้ถูกต้อง?

1. เก็บให้พ้นแสงแดด ไม่เก็บไว้ในรถ

ภญ.วนิชา ใจสำราญ แนะอย่าเก็บยาไว้ในที่ร้อนหรือโดนแสงแดด ทำยาเสื่อมคุณภาพเร็ว ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ดังนั้นข้อควรระวัง และไม่ควรกระทำเมื่อรับยาจากโรงพยาบาล ได้แก่ ไม่เก็บ หรือวางยาไว้ในรถ เพราะอุณหภูมิในรถสูงกว่าอุณหภูมิห้องปกติ (15-30 องศาเซลเซียส) อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ยาเสื่อมสภาพคุณสมบัติในการรักษาลดลงหรือเสียไป ยาบางชนิดจะหลอมละลายเมื่อถูกความร้อน เช่น ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น

ตัวอย่างยาที่อ่อนไหวต่อแสงแดด ได้แก่ วิตามินบี 6, วิตามินเอ, ยาพวกฮอร์โมน, ยาคุมกำเนิด, ยาน้ำเชื่อมของเด็กหลายชนิด, ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

ข้อควรระวัง! ยาที่ถูกเก็บไว้ในขวดสีชา แม้จะกันแสงแดดได้บ้าง แต่ถ้าวางไว้รับแสงโดยตรง แสงแดดก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนสภาพของยา และทำให้ยาหมดอายุได้เร็วขึ้น

2. เก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่สูง หรือต่ำเกินไป ล้วนมีผลต่อคุณภาพของยาทั้งนั้น โดยทั่วไปแล้ว มักแนะนำให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง คือ อุณหภูมิประมาณ 25 – 30 องศาเซลเซียส แต่ยาบางชนิดอาจระบุให้เก็บในตู้เย็น โดยให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่เก็บไว้ในช่องแช่แข็ง และไม่ควรเก็บไว้ที่ฝาตู้เย็น เพราะเมื่อเราเปิดปิดตู้เย็น อาจทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อยจนกระทบกับคุณภาพของของยาได้

จะเห็นได้ว่ายาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ไข้หวัด, ยาแก้ไอ, ยาแก้แพ้, ยาแก้ปวดท้องต่าง ๆ เป็นต้น มักจะระบุไว้ที่ฉลากว่า “ให้เก็บรักษาพ้นจากแสงแดด เก็บไว้ในที่เย็น (หรือที่แห้ง) พ้นจากความชื้น อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส”

3. ปิดฝาให้สนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา

ปกติแล้ว ในอากาศจะมีก๊าซต่าง ๆ ซึ่งก๊าซบางชนิด สามารถเร่งให้ยาเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ดังนั้น จึงควรเก็บยาในภาชนะที่สามารถปิดได้สนิทมิดชิด รวมถึงไม่แกะยาออกจากภาชนะบรรจุเดิม โดยที่ยังไม่ต้องการใช้ เช่น การแกะเม็ดยาออกจากแผงยา เพื่อความสะดวกในการกินยา

4. ใช้ภาชนะเก็บยาที่เหมาะสม

การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องสามารถทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญไวขึ้น เนื่องจากปัจจัยทางด้านสภาวะแวดล้อม ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ สารเคมี แสงแดด ฯลฯ ล้วนแต่มีผลในการเกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้ทั้งสิ้น

วิธีเก็บยา

5. ตรวจสอบวันหมดอายุของยาเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพ

ให้สังเกตที่ฉลากซึ่งจะระบุวันหมดอายุ (EXP. DATE) เอาไว้ (ถ้าไม่ทราบให้ถามเภสัชกร) ยาที่หมดอายุแล้วจะมีลักษณะทางกายภาพของเม็ดยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม มีจุดด่างบนเม็ดยา มีกลิ่นที่ผิดปกติ มีการตกตะกอน หรือจับกันของผงยาน้ำ การแยกชั้นของเนื้อครีม หากพบว่ายาหมดอายุแล้ว ควรทิ้งทันที และไม่ใช้ยาที่มีลักษณะผิดปกติ เพื่อป้องกันอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพ

โดยวันหมดอายุของยาจะมีที่ระบุอยู่บนบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดหรือแผงยา เราจึงไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากแผงยา หากจำเป็นต้องแกะยาออกจากแผง หรือแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่ ให้แบ่งยาออกจากขวดใหญ่ทีละน้อย ในปริมาณการกินยาที่ไม่เกิน 1 สัปดาห์

6. อย่าเก็บยาใช้ภายนอกรวมกับยากิน

ควรมีตู้ยา สำหรับเก็บยาโดยเฉพาะ โดยเก็บยาสำหรับกิน และยาใช้ภายนอก แยกออกจากกันให้เป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด แม้ว่าบรรจุภัณฑ์ของยาใช้ภายนอกกับยากิน จะถูกออกแบบมาให้ต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ควรเก็บรวมกัน เนื่องจากสามารถหยิบผิดได้ รวมถึงควรเก็บยาเอาไว้พร้อมกับฉลากยา และไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันในบรรจุภัณฑ์เดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน

7. อย่าเก็บยาในที่ชื้น

ยาหลายชนิด เมื่อเจอความชื้นจะเกิดการแปรสภาพ หรือเสื่อมสภาพ และยาเม็ดส่วนใหญ่เมื่อโดนความชื้นจะมีผลต่อชั้นเคลือบเม็ดยา ทำให้บวม หรือเกาะเป็นก้อนได้ จึงไม่ควรเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชี้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว เเละปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้งหลังเปิดใช้

8. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ตู้ยาควรติดไว้ในระดับที่สูงเกินกว่าที่เด็กจะหยิบถึง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยาของผู้ใหญ่หากเด็กนำไปรับประทานโดยไม่เจตนา ก็ทำให้เกิดผลเสียได้ เนื่องจากขนาดยาของผู้ใหญ่กับเด็กแตกต่างกัน


วิธีเก็บยา

ไขความเชื่อ! “เก็บยาไว้ในตู้เย็น” ดีจริงหรือ?

หลายคนมีความเชื่อว่า “การเก็บยาไว้ในตู้เย็น จะดีกว่าเก็บยาไว้ข้างนอก” ความเชื่อนี้จะเป็นจริงหรือไม่ มาดูคำตอบไปกับ ภก.อนุชิต ตุงธนบดี กันเลย!

“การเก็บยาไว้ในตู้เย็นแทบทุกชนิด อาจทำให้การคงตัวของยาเสียไปได้ เนื่องจากความชื้น และอุณหภูมิอาจไม่เหมาะสมกับยาบางชนิด เช่น หากนำยาแขวนตะกอน หรือยาน้ำเชื่อมบางประเภทมาแช่เย็น ก็อาจจะทำให้เกิดการตกตะกอนได้ หรือยาแคปซูลบางชนิดที่มีการเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีความชื้นสูง มักจะทำให้แคปซูลเยิ้มจนติดกันได้

 

การแช่ยาบางชนิดในตู้เย็น นอกจากอาจจะทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญแล้ว ยังทำให้เกิดสารพิษขึ้นได้ด้วย เช่น การแช่ยาเม็ดแอสไพรินในตู้เย็นที่มีความชื้นสูง จะทำให้เกิดการสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิก และกรดอะซิติก ซึ่งจะทำให้ยาไม่มีผลในการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด รวมทั้งยังทำให้เกิดพิษ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ชัก และหมดสติได้เมื่อรับในปริมาณสูง

 

ดังนั้น การเก็บยาไว้ในตู้เย็น จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป แนะนำว่า ควรอ่านฉลากยา หรือรายละเอียดบนกล่องยา เพื่อศึกษาถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษายาอย่างถูกต้องดีกว่า

กล่าวโดย ภก.อนุชิต ตุงธนบดี งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


วิธีเก็บยา ไว้ในตู้เย็นอย่างถูกวิธี

ภญ.พวงเพ็ญ ฤทธีวีรกูล ได้กล่าวไว้ว่า ยาหลายชนิดจะเสื่อมสภาพได้ หากจัดเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม และได้แนะนำวิธีเก็บยาในตู้เย็นไว้ดังนี้

ตำแหน่งจัดเก็บยาในตู้เย็นที่เหมาะสม คือ ชั้นกลางที่อยู่ใกล้ตำแหน่งที่มีช่องความเย็น เนื่องจากจะมีอุณหภูมิคงที่มากกว่าบริเวณอื่น ๆ

ข้อควรระวัง และข้อห้ามในการเก็บยากในตู้เย็น มีดังนี้

– ไม่ควรเก็บยาที่ฝาประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงง่ายขณะเปิด-ปิด ใช้งาน
– ไม่ควรเก็บยาในช่องแช่แข็ง หรือชั้นบนสุดใต้ช่่องแช่แข็ง เพราะ อุณหภูมิอาจเย็นจัดเกินไปจนยาแข็งตัว ทำให้เสื่อมสภาพได้
– ไม่ควรเก็บยาในช่องแช่ผักผลไม้ เพราะอาจปนเปื้อนได้ง่าย
– ห้ามนำอาหารแช่เย็นปนกับยา ควรมีภาชนะจัดเก็บยาแยกจากอาหารในตู้เย็นอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการหยิบใช้ และ ลดการปนเปื้อนจากกลิ่นไอของอาหาร


ยาทื่ต้องแช่เย็น หากที่บ้านไม่มีตู้เย็น หรือต้องเดินทางจะต้องทำอย่างไร?

– ควรเก็บยาไว้ในภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ขนาดที่เหมาะสมกับยา เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก กระติกที่มีฝาปิด เป็นต้น โดยอาจมีถุงซิบใส่น้ำแข็งที่แช่จนแข็งบรรจุร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความเย็น
– ควรเก็บยาใส่ในถุง หรือกระเป๋าถือติดตัว ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทางที่ต้องเก็บไว้ในห้องสัมภาระ
– ไม่ควรใส่ถุงยาไว้ในกระเป๋าเสื้อ หรือกางเกง เพราะยาอาจสัมผัสกับอุณหภูมิสูงจากร่างกาย
– ควรหลีกเลี่ยงการเก็บยาในที่ที่มีการเขย่า หรือสั่นรุนแรง


ใช้ยาอย่างไร ให้ถูกวิธี

• กินยาให้ตรงตามขนาดยาที่ระบุ

โดยทั่วไปแล้ว ขนาดยาที่ใช้ในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน และจะแตกต่างกันไปตามอายุ น้ำหนักร่างกาย และความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ ยาแต่ละชนิดก็จะมีจำนวนใช้ต่อวันไม่เหมือนกันด้วย เช่น อาจต้องกินวันละ 3-4 ครั้ง ต้องกินเช้า เย็น ก่อนนอน หรือต้องกินยาติดต่อกันจนหมด เป็นต้น เพื่อให้เกิดผลในการรักษาดีที่สุด

• กินยาตรงตามเวลา

  • ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อนกินอาหารอย่างน้อย 30-60 นาที เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีในขณะท้องว่าง
  • ยาหลังอาหาร ควรกินยาหลังกินอาหารอย่างน้อย 15 นาที เนื่องจากเป็นยาที่จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี โดยมีสารอาหารช่วยในการดูดซึม
  • ยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที มักเป็นยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร อาจถึงขั้นเป็นแผลทะลุได้ หรือเป็นยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรงหากกินขณะท้องว่าง จึงต้องมีอาหาร หรือน้ำ ช่วยทำให้เจือจางลง
  • ยาก่อนนอน ควรกินก่อนนอนตอนกลางคืน วันละ 1 ครั้ง เท่านั้น มักเป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม

• การกินยาเม็ด หรือแคปซูล

กลืนยาทั้งเม็ด หรือแคปซูลพร้อมน้ำ โดยไม่ต้องเคี้ยวยา เพราะต้องการให้ยาไปแตกตัว หรือละลายที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ นอกจากนี้ การเคลือบภายนอก ยังช่วยป้องกันการรับรสที่ไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิดอีกด้วย แต่ยาเม็ดที่ระบุว่า “เคี้ยวก่อนกลืน” เช่น ยาลดกรด ยาขับลมบางชนิด ก็ควรเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนพร้อมน้ำ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดี และเร็วขึ้น

• การกินยาน้ำ

มีทั้งยาที่เป็นยาน้ำใส และยาน้ำแขวนตะกอน สำหรับยาน้ำแขวนตะกอน ก่อนรินยา ต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยากระจายทั่วขวด จึงจะทำให้ขนาดยาที่ใช้ในแต่ละครั้งมีตัวยาเท่า ๆ กัน

• การใช้ยาผง

หากระบุให้ละลายน้ำก่อนกิน ก็ควรละลายก่อน เพราะหากเทยาใส่ปากในลักษณะผงแห้ง แล้วดื่มน้ำตาม อาจเกิดอันตราย เช่น เกิดการอุดตันในหลอดอาหารได้ หากเป็นยาผงโรยแผล เวลาใช้ควรระวังไม่ให้ผงยาปลิวเข้าปาก จมูก หรือตา และล้างมือให้สะอาดหลังใช้เสร็จ

• การใช้ยาขี้ผึ้ง หรือครีม

เป็นยาที่ใช้กับผิวภายนอกร่างกาย เวลาใช้ให้ทาบาง ๆ วันละ 2-3 ครั้ง หรือตามที่ระบุไว้บนฉลากยา โดยไม่ต้องถูนวด


อ้างอิง :
1. thaihealth.or.th
2. rama.mahidol.ac.th
3. chulalongkornhospital.go.th
4. med.mahidol.ac.th
5. doctor.or.th

ดีคอลเจน

ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok      : @gedgoodlife

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscription

  • This field is for validation purposes and should be left unchanged.
Ask the Expert Close